ช่างเขียน
ช่างเขียนที่มีชื่อเสียง ย่อมได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี ในสมัยโบราณ ผู้ที่ต้องการจะเป็นช่างเขียนต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกหัดงานในสำนักช่างเขียน มีครูที่เป็นพระหรือฆราวาส ผู้ฝึกหัดคงเริ่มด้วยการปรนนิบัติรับใช้ครู จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์อันเป็นงานง่ายๆ ก่อนที่จะฝึกเขียนภาพ เมื่อเริ่มมีฝีมือเป็นช่างฝึกหัดได้ ครูก็เริ่มปล่อยให้แสดงฝีมือ จนชำนาญมีชื่อเสียงแล้วจึงออกไปรับงานแสดงฝีมือเอง รายที่ไปไกลๆ เลยตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ที่นั่น และเริ่มมีลูกมือ ลูกศิษย์ลูกหาฝึกฝนกัน จนได้ช่างเขียนรุ่นต่อๆ มาในที่สุดกลายเป็นสกุลช่างตามท้องถิ่นนั้นๆ สืบเนื่องกันเป็นทอดๆ ก่อนที่ระบบโรงเรียนจะเข้ามามีบทบาทแทนที่

ภาพ "ชายหนุ่ม" จิตรกรรมแบบสากล จิตรกร จำรัส เกียรติก้อง หอศิลป์พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ช่างหลวงที่ประจำราชสำนัก ย่อมเขียนภาพอย่างมีระเบียบแบบแผน ยิ่งกว่าช่างตามท้องถิ่น ที่ห่างไกลออกไป ชื่อเสียง และฝีมืออันประณีตของช่างหลวงจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป งานของช่างหลวงจึงมีอิทธิพลต่อการเขียนของช่างท้องถิ่น การถ่ายเทอิทธิพลศิลปะจากกลุ่มช่างหนึ่งไปยังอีกกลุ่มช่างหนึ่งนั้น มีอยู่เสมอ ซึ่งเกิดจากการติดต่อกัน การที่ได้รับรู้ได้ดูได้เห็น ย่อมรับเอาสิ่งที่ดี ที่น่าพอใจนำมาปรับใช้ในงานเขียนของตน จึงเกิดมีลักษณะทางศิลปะ ที่งอกเงยขึ้นใหม่เป็นรูปแบบร่วมสมัยกันได้ทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ลักษณะเฉพาะของสกุลช่าง และของช่างที่มีความถนัดต่างกัน ย่อมแฝงอยู่ในงานเขียนของตนไม่มากก็น้อย จึงกล่าวได้ว่า เมื่อดูภาพจิตรกรรมไทยโดยผิวเผินแล้ว อาจเห็นว่า เหมือนๆ กัน แต่หากพิจารณาให้ละเอียดลออแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า มีข้อแตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะของฝีมือช่าง หรือของสกุลช่าง
การถ่ายทอดและฝึกฝนการเขียนภาพแบบประเพณีไทย
หลัง จากอิทธิพลของตะวันตกแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยระลอกสำคัญ เริ่มตั้งแต่รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังคมไทยมีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วกว่าเดิม แนวความคิด และวิธีการเขียนภาพอย่างตะวันตก แพร่หลายเข้ามา ควบคู่กับอิทธิพลทางด้านอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตของชาวไทยด้วย
การปรับเปลี่ยนอย่างเด่นชัดมีมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของช่างเขียน ที่บัดนี้นิยมเรียกกันว่า จิตรกรนั้น ส่วนใหญ่จะเลิกการเขียนภาพไทยแบบประเพณีไปแล้ว นิยมเขียนภาพแนวสากลร่วมแนวทางกับจิตรกรรมของนานาประเทศ ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติของการปรับเปลี่ยนทางด้านแนวความคิด วัฒนธรรม และการแสดงออก อันสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคม

ภาพจิตรกรรมร่วมสมัยแนวประเพณีไทย
จิตรกร ปรีชา เถาทอง
งานของช่างเขียนที่เคยสร้างขึ้น เพื่อจรรโลงพุทธศาสนา มีราชสำนัก หรือสถาบันทางศาสนา ซึ่งมีวัดให้การสนับสนุน ก็เปลี่ยนไป จิตรกรสร้างงานตามแนวความคิด แนวถนัดของตน โดยไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องอันเนื่องในศาสนาตามแบบอย่างประเพณีอีกต่อ ไป มีรายได้จากการขายภาพ หรือรับจ้างเขียนภาพ บ้างก็รับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะตามสถาบันการศึกษาของราชการ หรือของเอกชน โดยใช้เวลาว่างเขียนภาพด้วย วงการธุรกิจของยุคปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นทุกที ต้องอาศัยศิลปะสื่อ เพื่อการขายสินค้า จิตรกรก็เข้าไปมีบทบาทอยู่ด้วย เช่น ทางด้านงานออกแบบโฆษณา ที่มีวัสดุอันหลากหลายให้เลือกใช้
หน้าที่ของช่างเขียนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลานั้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตรกรรมจากแบบประเพณีไทย มาเป็นแบบร่วมสมัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คุณค่าของจิตรกรรมแบบประเพณีไทย ยังเป็นที่สนใจกันในกลุ่มจิตรกรรุ่นใหม่บางกลุ่ม เขาเหล่านั้นพยายามหาวิธีสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ส่วนหน้าที่ของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ก็เปลี่ยนไปจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ หรือวิหาร กลายเป็นภาพแขวนประดับผนังโรงแรม ผนังสำนักงานทันสมัย หรือตามห้องแสดงภาพที่มีอยู่ทั่วไป
โลกทัศน์ของชาวไทยที่ผูกพันอยู่กับแนวความคิดในพุทธศาสนา สะท้อนอยู่ในภาพจิตรกรรมแบบประเพณีที่งดงามตามแนวทางที่เรียกว่า อุดมคติ กึ่งสมจริง กิจกรรมทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ได้รับการถ่ายทอดจำลองอยู่ในภาพจิตกรรมด้วย นับเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง นอกเหนือจากคุณค่าที่เราได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญา และฝีมือของช่างโบราณ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางศาสนาออกมาเป็นภาพอย่างมีระเบียบงดงาม และแนบเนียน คุณค่าเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากแต่ต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน สั่งสม สืบทอด และปรับปรุงกันมาหลายศตวรรษ