ลักษณะของ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแบบประเพณีเด่นชัดด้วยสีที่ระบายเรียบ และตัดเส้นแสดงรูปร่าง แสดงรายละเอียดของภาพ ดังภาพบุคคล เช่น พระราชาเสนาบดี บ่าว ไพร่หรือภาพสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ ทั้งหมดเขียน เพื่อให้ดูสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นอุดมคติในพุทธศาสนา งานตัดเส้นในงานจิตรกรรมไทยมีความสำคัญเป็น พิเศษ เพราะนอกจากจะแสดงฝีมือเชิงช่างแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นแนวความคิดทางสังคมระดับต่างๆ ภาพพระราชา เจ้านาย หรือบุคคลชั้นสูง ข้าทาสบ่าวไพร่ มีกฎเกณฑ์ในการแสดงภาพแตกต่างกัน การแสดงออกทางด้านความประณีต ก็ต่างกันด้วย ภาพพระราชาได้รับการตัดเส้นให้ดูอ่อนช้อย รายละเอียดทางด้านสรีระเขียนเพียงเท่าที่จำเป็น โดยไม่แสดงกล้ามเนื้อ รอยต่อ ข้อกระดูก เพราะสิ่งเหล่านี้ขวางกั้นลักษณะเลื่อนไหว ที่ก่อให้เกิดความนุ่มนวล งามสง่าอย่างละคร โดยสื่อความตามท้องเรื่อง ซึ่งชาวไทยมีแนวความคิดว่า พระราชาทรงเป็นเทวราชา หรือสมมติเทพ เครื่องทรงของพระองค์ ก็เขียนขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถัน ปิดทอง ตัดเส้น อย่างงดงาม ที่เครื่องประดับ ภาพเจ้านายหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ก็เขียนอย่างประณีตลดหลั่นลงไป ดังกล่าวนี้เป็นลักษณะแห่งอุดมคติ ที่อิงความสมจริง | |
สาวชาววัง จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น | |
ภาพเสนาบดีขุนนาง ภาพบ่าวไพร่ มีเครื่องแต่งกายตามยศศักดิ์ฐานะ กิริยาท่าทางของภาพบุคคลเหล่านี้ มักเป็นไปอย่างธรรมชาติ ภาพผู้ดี มีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ไม่ตลกคะนองอย่างภาพชาวบ้าน ซึ่งได้พบเห็นเสมอ ในฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ภาพพระพุทธองค์ ซึ่งย่อมเป็นภาพประธานในฉากเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนต่างๆ เขียนขึ้นให้สมจริง โดยผสมผสานกับพุทธลักษณะ อันเป็นอุดมคติ ตามที่คัมภีร์ระบุไว้ กรรมวิธีของจิตรกรรม ที่ช่างเขียนนำมาใช้ เพื่อเน้นพุทธบารมี ได้แก่ กรอบประภามณฑลรอบพระวรกาย หรือกรอบรอบพระเศียร เป็นต้น ประภามณฑลหมายถึง รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระพุทธองค์ ภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้ พระรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียร ซึ่งมักปิดทอง เพื่อให้ดูแวววาว ก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นิยมใช้ ในงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ภาพปราสาทราชวัง เครื่องสูงต่างๆ ของพระราชามหากษัตริย์ มีสีสัน ปิดทอง ตัดเส้น อย่างงดงาม เขียนขึ้นอย่างสมจริง ที่อิงความงามอย่างอุดมคติ โดยสอดคล้องกับภาพระราชา ขณะที่ภาพบ้านเรือน ภาพสัตว์น้อยใหญ่ ต้นไม้ ท้องฟ้า น้ำ เป็นต้น มีความสมจริงมากกว่า | |
พระเจ้าสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี และสองกุมารในอาการเศร้าโศก จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อยกรุงเทพฯ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น | อนึ่ง เนื่องจากยังมีภาพบนแผ่นราบเป็น ๒ มิติ คล้ายงานจิตรกรรม แต่ไม่ระบายสี มักอนุโลมจัดไว้ในกลุ่มงานจิตรกรรม ได้แก่ ภาพลายเส้นปิดทอง ที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ภาพลายเส้นจารลงบนแผ่นหิน หรืองานประดับมุก ภาพที่มีกรรมวิธีพิเศษต่างกันเหล่านี้ ต่างมีลักษณะสำคัญอย่างเดียวกัน คือ ลายเส้นที่งดงามตามแบบฉบับ แต่ในงานจิตรกรรมนั้น มีการระบายสีด้วย |