การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ คือการผ่าตัดใส่หัวใจใหม่ เข้าไปในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เพื่อใช้ทำงานแทนหัวใจเดิม ที่นิยมทำในปัจจุบัน คือใช้หัวใจของผู้ที่เสียชีวิตใหม่ๆ นำมาผ่าตัดใส่เข้าไปแทนที่หัวใจเดิมของผู้ป่วย ทำสำเร็จเป็นครั้งแรก โดย นายแพทย์คริสเตียน เบอร์นาร์ด (Christian Bernard) ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๗ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๖๘ มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป และเอเชีย การผ่าตัดในระยะแรกๆ ได้ผลไม่ดี เพราะขณะนั้นยังไม่มียากดภูมิคุ้มกันที่ดี จำเป็นต้องใช้ยาพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนภายใน ๑-๒ ปี หลังการผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจึงซบเซาไประยะหนึ่ง แสดงตำแหน่งหัวใจ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ มีผู้ค้นพบยาไซโคลสปอริน ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ดี มีผลข้างเคียงน้อย ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ผลดีขึ้น จึงมีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมากขึ้น ปัจจุบันถือว่า การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นการรักษา ที่เป็นมาตรฐาน ไม่ใช่การทดลอง ปีหนึ่งๆ มีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ประมาณ ๓,๐๐๐ ราย จากศูนย์การแพทย์ทั่วโลกประมาณ ๒๐๐ แห่ง โรคหัวใจที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง โดยไม่ทราบสาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคลิ้นหัวใจพิการระยะสุดท้าย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด ผู้ที่จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการพิจารณาว่า ไม่มีวิธีอื่นใดแล้ว และส่วนมากจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๑ ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ปกติจะเลือกผู้ที่มีอายุไม่เกิน ๖๐ ปี ไม่มีโรคติดเชื้อ หรือโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ไม่มีโรคความดันโลหิตสูงในปอด ที่สำคัญมีความเข้าใจในขบวนการผ่าตัด และยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หัวใจที่จะนำมาใช้ต้องได้จากผู้ที่เสียชีวิตใหม่ๆ โดยอุบัติเหตุ หรือโรคทางสมอง ที่มีการทำลายของแกนสมอง จนสมองตายแล้ว มีอายุไม่เกิน ๔๕ ปี มีหมู่เลือดเดียวกับผู้ป่วย ไม่มีโรค หรือความผิดปกติทางหัวใจ และได้รับอนุญาตจากผู้ตาย หรือญาติของผู้ตายบริจาคให้ ขั้นตอนการผ่าตัดคือ นำผู้ป่วยสมองตายเข้าห้องผ่าตัด แล้วผ่าตัดเอาหัวใจออกมาแช่ในน้ำเกลือเย็นจัด จากนั้นเริ่มผ่าตัดผู้ป่วย ที่จะเป็นผู้รับการเปลี่ยนหัวใจ โดยต่อเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียมชั่วคราว ตัดเอาหัวใจที่พิการออก แล้วเอาหัวใจที่ตัดเตรียมไว้ใส่แทน การผ่าตัดชนิดนี้ ทำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นับถึงปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ ๗๐ คน ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ผู้ป่วยรายแรกยังมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง ๗ ปี ภายหลังการผ่าตัด การติดตามระยะยาว ปรากฏว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีอัตรารอดเกิน ๕ ปี ประมาณร้อยละ ๗๐ อุปสรรคสำคัญของการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจก็คือ มีหัวใจบริจาคไม่เพียงพอกับความต้องการ เคยมีผู้คำนวณไว้ว่า ในปีหนึ่งๆ น่าจะมีผู้เสียชีวิต โดยแกนสมองตาย ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน แต่ได้หัวใจบริจาคเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น อีกร้อยละ ๙๐ ต้องเสียเปล่า ประกอบกับมีผู้ที่ต้องการหัวใจ รออยู่เป็นจำนวนมาก จนผู้ที่รอไม่ได้ถึงแก่กรรม ก่อนที่จะได้รับหัวใจ จึงมีความพยายามที่จะใช้หัวใจเทียมชนิดสารสงเคราะห์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีหัวใจเทียมที่ได้ผลดี ทัดเทียมหัวใจที่ได้จากผู้ถึงแก่กรรมใหม่ๆ นอกจากนั้นก็มีการทดลองใช้หัวใจจากสัตว์ เช่น ลิง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายได้ จึงยังเป็นเพียงขั้นทดลองเท่านั้น |