ประวัติและวิวัฒนาการ
ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ โทมาส อี สตาร์ซล (Thomas E Starzl) และเซอร์ รอย วาย คาล์น (Sir Roy Y Chlne) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ถือได้ว่า เป็นผู้นำสำคัญในการริเริ่ม และสร้างวิวัฒนาการ ที่เด่นชัด ในการผ่าตัดเปลี่ยนตับ โดย โทมาส อี สตาร์ซล เริ่มทำผ่าตัดชนิดนี้ในคนเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังจากที่ได้ทดลองในสัตว์ทดลองเป็นเวลานานปี และประสบผลสำเร็จ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ส่วน เซอร์ รอย วาย คาล์น ในประเทศอังกฤษ ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับไล่หลังคนแรก และเป็นบุคคลสำคัญ ที่ได้นำยาลดหรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน ที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัดมาใช้อย่างได้ผล ทำให้เปลี่ยนโฉมของการรักษาวิธีนี้ จากการรักษากึ่งการทดลอง มาเป็นการผ่าตัดรักษา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป
ในช่วงระยะเวลากว่า ๓๐ ปี ได้มีวิวัฒนาการต่างๆ มากมาย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ รวมทั้งตับ ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนตับในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มีสถาบันทางการแพทย์ ที่ใช้การรักษา โดยวิธีนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก และผู้ป่วยที่มีอัตราการอยู่รอด หลังจากการผ่าตัดชนิดนี้ ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ได้มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐
วิวัฒนาการที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนตับที่สำคัญได้แก่
มีการแก้ไข ปรับปรุงเทคนิคในการผ่าตัด และดมยาสลบที่ดีขึ้น
มีการใช้ยาลดหรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อยลง
มีวิธีการในการเลือกผู้ป่วย เพื่อรับการรักษาโดยวิธีนี้ที่เหมาะสมชัดเจนขึ้น
มีความก้าวหน้าในการเลือกหา และได้มาซึ่งตับ ที่จะนำมาผ่าตัดเปลี่ยน รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการเก็บรักษาในช่วงระยะเวลาก่อนผ่าตัด
มีวิธีการวินิจฉัย และรักษา "การไม่ยอมรับ" ของตับใหม่ที่ดีรวดเร็วขึ้น
มีการรักษาร่วม และการรักษาประคับประคองที่ดีขึ้น
มีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพของบุคลากรต่างสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเข้าใจ และการยอมรับของสาธารณชน ในการบริจาคอวัยวะ
ปัจจัยที่จำเป็นในการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
๑. ผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ จะต้องได้รับการวินิจฉัยแน่นอนว่า เป็นโรคที่จะไม่มีโอกาสกลับคืน หรือดีขึ้น ด้วยการรักษา โดยวิธีอื่นๆ จะเลวลงเรื่อยๆ และหากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน - ๑ ปี เช่น ผู้ป่วยที่เป็นตับวายอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะสุดท้าย ที่มีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยมะเร็งตับบางชนิด บางระยะ หรือผู้ป่วยเด็กเล็ก ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดีในตับ เป็นต้น
ผู้ป่วยควรจะต้องมีสภาพร่างกาย และสมรรถนะของอวัยวะในระบบอื่นๆ ดีพอ ที่จะทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้ จะต้องมีสภาพทางจิตที่เหมาะสม เข้าใจ และยอมรับการรักษา โดยวิธีนี้ได้
๒. ตับปกติ
ที่จะนำมาผ่าตัดเปลี่ยน จำเป็นจะต้องได้จากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต โดยที่ตับนั้น ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เตรียม และก่อนจะนำไปใส่เปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้แม้ว่า จะมีการตัดแบ่งตับบางส่วน จากผู้ที่เต็มใจบริจาคให้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ เพื่อนำไปใช้ได้ก็ตาม ผู้ที่ให้มีอัตราเสี่ยงที่สูงมาก ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ผู้ให้และผู้รับตับ ควรจะต้องมีหมู่เลือดเดียวกัน เข้ากันได้ และควรจะมีลักษณะทางกายวิภาค ที่ใกล้เคียงกัน
๓. ขบวนการ
ขั้นตอน และเทคนิคการผ่าตัด และการดมยาสลบ เป็นการผ่าตัด ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน กินเวลา และมีอัตราเสี่ยงค่อนข้างสูง จำเป็นต้องอาศัยบุคลากร ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญมาก มีการประสานงาน และการสนับสนุน ที่ดีพอเพียง ทั้งนี้รวมถึงการดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดช่วงระยะเวลาการผ่าตัด และหลังผ่าตัด
ขั้นตอนที่สำคัญของการผ่าตัด
๓.๑ ผ่าตัดเอาตับออกจากผู้ที่บริจาคให้ โดยจะต้องรักษาตับให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ทั้งในช่วงก่อน และขณะผ่าตัด ปกติใช้น้ำยาพิเศษที่เย็นจัด ใส่เข้าทางหลอดเลือดดำตับ เพื่อลดอุณหภูมิในตับ และล้างเลือดเดิมที่มีอยู่ในตับให้หมด แล้วจึงเก็บตับแช่เย็นในภาวะปลอดเชื้อ โดยทั่วไปนิยมนำตับไปใส่ให้กับผู้ป่วยโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพ แต่ในปัจจุบันนี้สามารถเก็บรักษาตับไว้ได้นานมากกว่า ๑๕ ชั่วโมง ด้วยน้ำยาพิเศษบางชนิด
การผ่าตัดเอาตับออก ทำพร้อมกันกับการเอาอวัยวะอื่นๆ ออก เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะอื่นด้วย ได้แก่ ไต หัวใจ ตับอ่อน
๓.๒ ผ่าตัดเอาตับที่มีพยาธิสภาพออกจากผู้ป่วย เป็นขั้นตอนที่มีอันตรายมาก เพราะพยาธิสภาพของตับ มักจะทำให้มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด มีเส้นเลือดข้างเคียงมากมาย รวมทั้งจำเป็นจะต้องปิดกั้นการไหลเวียนของระบบเลือดดำ ที่กลับเข้าสู่หัวใจ ในขณะเอาตับออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในระบบการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ย่อมมีผลเสียตามมาอย่างมาก
การคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือในการทำให้เลือดดำจากอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง และส่วนล่างของร่างกาย สามารถไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ ในขณะที่ไม่มีตับ ช่วยทำให้ลดความเร่งรีบของขั้นตอนต่างๆ ได้มาก
๓.๓ ผ่าตัดใส่ตับใหม่ นำตับที่ได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ใส่ที่ตำแหน่งเดิม เย็บต่อเส้นเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากตับ จำนวน ๔ เส้น แล้วจึงเย็บต่อท่อทางเดินน้ำดี
ทุกขั้นตอนของการผ่าตัดดังกล่าวแล้ว จำเป็นจะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และระมัดระวัง ความผิดพลาด หรือการข้ามขั้นตอน จะทำให้การผ่าตัดนี้ล้มเหลวลงทั้งหมดได้ วิสัญญีแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญมาก และจะต้องมีการประสานงานกันอย่างดี ในการที่จะรักษาสภาวะของผู้ป่วย ให้อยู่ในดุลที่เหมาะสม
เมื่อได้ตับดีที่จะนำมาเปลี่ยน ขั้นตอนการผ่าตัดเอาตับเก่าออก และใส่ตับใหม่ เป็นไปอย่างราบรื่น สามารถดูแลรักษาสภาวะผู้ป่วยได้ดี ตลอดการผ่าตัด ตับที่ใส่ให้ใหม่สามารถทำหน้าที่ได้เกือบจะในทันที แต่การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด ก็มีความจำเป็นอย่างมาก โดยจะต้องอาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อป้องกัน และแก้ไขภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอและรุนแรง โดยปกติหากไม่มีข้อแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้หลังผ่าตัด ในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็ยังจะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้ยาลด หรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกาย "รับ" ตับใหม่ และหากร่างกายยังไม่ยอม "รับ" ก็สามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่อีกได้
๔. ยาที่ใช้ในการลดหรือกดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ในภาวะปกติ ร่างกายของผู้ที่ได้รับอวัยวะใหม่จะ "ไม่รับ" และจะ "ขับออก" อันเป็นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นปกติ เป็นการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจึงจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ตลอดไป เพื่อให้ร่างกายลดหรือกดการ "ไม่รับ" เพื่อให้อวัยวะใหม่สามารถทำงานได้ ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทุกประการ และไม่มีฤทธิ์ข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับระดับของยาให้เหมาะสมอยู่เสมอ
๕. ค่าใช้จ่าย
การผ่าตัดเปลี่ยนตับมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงฐานะทางการเงิน ตลอดจนความคุ้มทุนของผู้ป่วย ที่จะรับการรักษาโดยวิธีนี้ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงสังคมส่วนรวม นอกเหนือจากส่วนบุคคลด้วย
๖. จริยธรรมและกฎหมาย
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเป็นอย่างมาก เพราะตับที่จะนำมาใช้จะต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีสมรรถภาพดี ซึ่งหากนำมาจากเจ้าของตับที่เสียชีวิต และการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ หยุดโดยสิ้นเชิงแล้ว ตับที่ผ่าตัดออกจะไม่สามารถทำงานได้ ปัจจุบันนี้หลายประเทศในโลก มีกฎหมายเป็นที่ยอมรับว่า ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพทางสมองอย่างมาก (ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองอย่างรุนแรง) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นวินิจฉัยแน่นอนแล้วว่า ผู้ป่วยไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้อีก ไม่ว่าจะได้รับการรักษาโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม ถือว่า "สมองตาย" และ ให้ถือได้ว่า "ตาย" เมื่อได้รับความยินยอมจากญาติ ในการที่จะบริจาคอวัยวะเพื่อเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยอื่นแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจึงสามารถทำได้ ทั้งนี้จะต้องไม่มีการ ซื้อ-ขาย หรือบังคับเป็นเด็ดขาด
การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และสังคมเข้าใจ และยอมรับในเรื่องที่เกี่ยวกับการผ่าตัด เปลี่ยนอวัยวะ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้วิวัฒนาการแขนงนี้ดำเนินต่อไปได้ ในประเทศไทยได้มีประกาศของแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดให้สถาบันทางการแพทย์ถือปฏิบัติ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๒
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เริ่มและเจริญขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนัก และรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เป็นโรคตับ หากไม่ได้รับการรักษาโดยวิธีนี้จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตมีมากขึ้น และอยู่นานขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อัตราเสี่ยงลดลง ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากวิวัฒนาการทางการแพทย์แล้ว การยอมรับจากสาธารณชนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก