การปลูกถ่ายไขกระดูก
การปลูกถ่ายอวัยวะ นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรืออาจหายขาดจากโรคได้ ในกรณีที่เกิดโรคหรือมีพยาธิสภาพในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้อวัยวะนั้นเสื่อมสภาพ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ ตัวอย่างเช่น ไตวาย หรือไตพิการ หัวใจล้มเหลว สามารถรักษาให้หายด้วยการเปลี่ยนไต และเปลี่ยนหัวใจ ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอวัยวะหนึ่ง ถ้าไขกระดูกไม่ทำงานหรือมีความผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ทางโลหิตวิทยาขึ้น การปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่ผู้ป่วยที่มีโรคของไขกระดูก จะทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ นอกจากนี้ได้มีผู้นำการปลูกถ่ายไขกระดูก มาใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นในการรักษาโรคมะเร็ง และโรคที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันต่างๆ ในปัจจุบันวิทยาการเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูก ได้มีความก้าวหน้าไปเป็นอันมาก จนถือเป็นวิธีการรักษา ที่สำคัญวิธีหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อี ดอนแนล โทมัส (E Donnall Thomas) แห่งศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง เฟรด ฮัทชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นครั้งแรก จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้รับเกียรติให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
เลือดของคนปกติซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด
ไขกระดูกอยู่ที่ไหน มีความสำคัญอย่างไร
ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่รู้จักกันน้อย ไม่เหมือนหัวใจ ไต และตับ แต่ไขกระดูกก็เป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่ง มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือด เลือดของคนเราประกอบด้วยเม็ดเลือด และพลาสมา เม็ดเลือดมี ๓ ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด เม็ดเลือดแดงเป็นเม็ดเลือดส่วนใหญ่ที่มีในเลือด ทำให้เลือดมีสีแดง เม็ดเลือดแดงมีเฮโมโกลบิน เป็นส่วนประกอบ ทำหน้าที่นำออกซิเจนจากปอด ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งนำคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียต่างๆ กลับไปทิ้งยังปอด เม็ดเลือดอีก ๒ ชนิด ซึ่งมีในเลือดในปริมาณที่น้อยกว่า คือ เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ป้องกัน ต่อสู้ และทำลายเชื้อโรค ส่วนเกร็ดเลือดมีหน้าที่ป้องกันเลือดออก โดยทำให้เลือดแข็งตัว เม็ดเลือดต่างๆ เหล่านี้ถ้ามีปริมาณที่พอเหมาะและมีหน้าที่ปกติ จะทำให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติสุข แต่ถ้ามีปริมาณน้อยลงหรือมีหน้าที่ผิดปกติ จะมีความผิดปกติและเกิดเป็นโรคขึ้น เช่น ถ้าเม็ดเลือดแดงน้อยลงจะมีโลหิตจาง เหนื่อยง่าย ถ้าเป็นมากอาจมีภาวะหัวใจวาย เม็ดเลือดขาวน้อยทำให้มีไข้ เป็นโรคติดเชื้อ เกร็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกผิดปกติ
เม็ดเลือดทั้งสามชนิดนั้น มีแหล่งกำเนิดในไขกระดูก ซึ่งอยู่ในโพรงกระดูก ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในไขกระดูก เช่น ไขกระดูกไม่ทำงาน หรือเป็นมะเร็งของไขกระดูก จะทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ปกติ เกิดอาการต่างๆ อันเป็นผลจากมีจำนวนเม็ดเลือดปกติ ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดลดลง จึงมีโลหิตจาง มีโรคติดเชื้อ และมีเลือดออกผิดปกติได้ ไขกระดูกจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย
การปลูกถ่ายไขกระดูกจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคใดบ้าง
โรคที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ โรคของกระดูก เช่น โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย โรคที่มีภาวะพร่อง ภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็งของไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย และมัลติเพิลมิโลมา (multiple myeloma) และโรคมะเร็งอื่นๆ
โรคโลหิตจางอะพลาสติกหรือโรคไขกระดูก
เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย มักสัมพันธ์กับการใช้ยาและสารเคมีบางชนิด เช่น คลอแรม เฟนิคอล ซัลฟา ยาแก้ปวดลดไข้บางชนิด และยาฆ่าแมลง เป็นต้น ไขกระดูกของผู้ป่วยโรคนี้ ไม่สร้างเม็ดเลือด จึงมีจำนวนเม็ดเลือดต่ำลง ทำให้มีอาการของโลหิตจาง มีไข้ มีโรคติดเชื้อ และมีภาวะเลือดออกผิดปกติ การรักษาโรคนี้อาจใช้ฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก แต่รักษาไม่ได้ผลดี การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกให้ผลดีกว่า
โรคธาลัสซีเมีย
เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากมีการสร้างสายโกลบินน้อยลง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย มีโลหิตจาง เหลือง มีการเจริญเติบโตไม่สมอายุ เหนื่อยง่าย หัวใจวาย ตับม้ามโต มีเหล็กคั่ง โรคธาลัสซีเมียมีหลายชนิด บางชนิดมีอาการรุนแรง บางชนิดมีอาการน้อย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากมักมีอายุสั้น การรักษาโรคธาลัสซีเมียทำได้โดยการให้เลือดและให้ยาขับเหล็ก การรักษาที่ทำให้หายขาดมีวิธีเดียว คือ การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ต้องทำลายเม็ดเลือดที่ผิดปกติเสียก่อน แล้วนำไขกระดูกที่ปกติปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย
เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในไขกระดูก โดยมีเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ผิดปกติจำนวนมากในไขกระดูก ซึ่งจะขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดปกติในไขกระดูก ทำให้มีอาการของโลหิตจาง มีไข้ มีโรคติดเชื้อ และเลือดออกผิดปกติ เซลล์ลิวคีเมีย หรือเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนนี้ จะออกมาในเลือด และแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม และระบบประสาท ทำให้มีต่อมน้ำเหลือง ตับม้ามโต และมีความผิดปกติของระบบประสาทได้
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันมักมีอาการเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยมักถึงแก่กรรมในระยะเวลาอันสั้น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นระยะหนึ่ง ต่อมาโรคมักกลับมาเป็นอีกและรักษาไม่ได้ผล สำหรับชนิดเรื้อรังมักมีอาการไม่รุนแรง และมีการดำเนินโรคช้า ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการของมีก้อนในท้องจากการที่มีม้ามโต การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีอยู่นานเฉลี่ยราว ๓ ปี แล้วมักเปลี่ยนเป็นชนิดเฉียบพลัน ซึ่งรักษาไม่ได้ผล การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีชีวิตรอด ในอัตราที่สูงกว่าการให้ยาเคมีบำบัด
โรคมะเร็งอื่นๆ ที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ มะเร็งของต่อมน้ำเหลือง หรือลิมโฟมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลือง ม้าม และต่อมธัยมัส อาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา มักให้ผลดีแก่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจให้การรักษา ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งได้ผลดี
นอกจากโรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองแล้ว โรคมะเร็งอื่นๆ ที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ มะเร็งเต้านม และนิวโรบลาสโทมา (neuroblastoma) เป็นต้น
การปลูกถ่ายไขกระดูกมิได้ช่วยรักษาโรคมะเร็งโดยตรง แต่เอื้ออำนวยให้สามารถให้ยารักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ ในการรักษามะเร็งนั้น ต้องใช้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา แต่มักมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่ไขกระดูกถูกกดและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทำให้ไม่สามารถบริหารยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในขนาดสูง ที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดสิ้นไปจากร่างกาย และไม่ทำให้โรคมะเร็งกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ถ้าให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในปริมาณสูงร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูก จะทำให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้หมด ขณะเดียวกัน ระยะเวลาที่ไขกระดูกถูกกด จะสั้น ไขกระดูกที่ปลูกถ่ายให้ จะเริ่มทำงาน และทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้
การปลูกถ่ายไขกระดูกทำกันอย่างไร
ในการที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยที่จะรับไขกระดูกเรียกว่า ผู้รับ และผู้ที่จะให้ไขกระดูก เรียกว่า ผู้ให้ การเลือกที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูก จำเป็นต้องประเมินผู้ป่วยเสียก่อน ทั้งในด้านโรคที่ผู้ป่วยเป็น สภาพร่างกาย และจิตใจ แพทย์จะต้องคำนึงถึงผลได้ และผลเสียในการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยแต่ละราย
การเลือกผู้ให้
ผู้ให้ที่ดีที่สุดควรเป็นคู่แฝดไข่ใบเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกอย่าง ร่างกายผู้ป่วย ก็จะรับไขกระดูก โดยที่ไม่มีอัตราเสี่ยง ที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน แต่โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีคู่แฝดไข่ใบเดียวกันมีน้อย ดังนั้น ในการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยทั่วไป มักใช้ไขกระดูกจากพี่น้องท้องเดียวกัน โดยตรวจลักษณะทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า เอช แอล เอ แอนติเจน ซึ่งถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง จะเลือกใช้ผู้ให้ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดังกล่าวเหมือนกัน ซึ่งมีโอกาสร้อยละ ๒๕ ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็ง อาจใช้ไขกระดูกของตัวเองเจาะเก็บไว้ในไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -๑๙๖ องศาซ. โดยมีไดเมธิล ซัลฟอกไซด์ เก็บไว้ให้กับผู้ป่วย หลังให้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาในขนาดสูง
การเตรียมผู้ป่วยก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก
ผู้ป่วยที่จะรับการปลูกถ่ายไขกระดูก ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น การที่ร่างกายผู้ป่วยไม่ยอมรับไขกระดูก การเกิดปฏิกิริยาของไขกระดูกที่ให้เข้าไปต่อร่างกายของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งจำเป็นต้องได้รับเคมีหรือรังสีรักษา เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก มิฉะนั้นมะเร็งจะกลับมาเป็นอีก
วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก
การปลูกถ่ายไขกระดูกง่ายกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นมาก ทำได้โดยดูดไขกระดูกจากกระดูกบริเวณก้นกบของผู้ให้ นำไขกระดูกที่ได้ไปกรอง และให้ผู้ป่วยโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ให้จะมีอาการเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่เจาะเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น จะไม่มีอันตรายอย่างอื่นเลย การปลูกถ่ายไขกระดูกต่างจากการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น เช่น การปลูกถ่ายไต ผู้ให้จะต้องเสียไตออกไปข้างหนึ่ง และแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดนำไตที่จะเปลี่ยนเข้าไปอยู่ในตัวผู้ป่วย แต่การปลูกถ่ายไขกระดูกผู้ให้ถูกดูดไขกระดูกออกไป แต่ร่างกายจะสามารถสร้างไขกระดูกขึ้นมาชดเชยได้ ผู้ให้มิได้เสียอวัยวะของตนเองเหมือนกับการบริจาคอวัยวะอื่น การบริจาคไขกระดูกจึงเปรียบเสมือนกับการบริจาคเลือดเท่านั้น ไม่มีอันตรายต่อผู้ให้เลย ในการเจาะไขกระดูก เนื่องจากต้องการไขกระดูกจำนวนมาก ใช้เวลาเจาะนาน จึงมักดมยาสลบผู้ให้ก่อน
การดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก
เนื่องจากต้องเตรียมผู้ป่วยก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด และรังสีรักษา ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างกายผู้ป่วย อ่อนแอลง ดังนั้นในระยะ ๒-๔ สัปดาห์ ก่อนที่ไขกระดูกที่ให้เข้าไปใหม่จะเริ่มสร้างเม็ดเลือด จำเป็นจะต้องดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษ ระวังอันตรายที่จะเกิดจากโรคติดเชื้อ เลือดออกผิดปกติ ให้เลือดและเกร็ดเลือดทดแทน ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยไม่เพียงพอ
ผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
โรคติดเชื้อ เลือดออกผิดปกติ และปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน เป็นผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลา ๒-๔ สัปดาห์ หลังการปลูกถ่ายไขกระดูก เม็ดเลือดขาวที่ต่ำ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อ ทั้งจากแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เลือดออกผิดปกติ ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ปฏิกิริยาของร่างกายผู้ป่วยไม่ยอมรับไขกระดูกจากผู้ให้ พบได้ไม่บ่อย แต่ที่พบบ่อยกว่าคือ ปฏิกิริยาของไขกระดูกต่อผู้รับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นที่ผิวหนัง ตัวเหลือง ท้องเสีย ซึ่งถ้ารักษาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายได้
การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิวัฒนาการของการรักษาโรคต่างๆ ที่การรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ดี การปลูกถ่ายไขกระดูกให้ผลการรักษาดีกว่าวิธีการรักษาวิธีอื่น แต่การปลูกถ่ายไขกระดูก ก็อาจทำให้เกิดความพิการ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไขกระดูกค่อนข้างแพง การใช้วิธีปลูกถ่ายไขกระดูกในการรักษาผู้ป่วย จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้น