เล่มที่ 20
การปลูกถ่ายอวัยวะ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกัน

            การผ่าตัดเปลี่ยนทั้งหัวใจและปอดพร้อมกัน ทำสำเร็จครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๙๘๑ และในประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในทวีปเอเชียด้วย

            การผ่าตัดนี้กระทำในผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งมีความผิดปกติทางปอดอย่างรุนแรงร่วมด้วย หรือโรคของปอดอย่างเดียว ที่มีการดำเนินโรครุนแรง มีอาการมาก ไม่สามารถจะรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การตัดปอดออก หรือเปลี่ยนหัวใจอย่างเดียว ผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค โดยทั่วไปถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกัน ผู้ป่วยถึงแม้จะอยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย และมักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือนถึง ๑ ปี

            โรคที่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกัน ได้แก่ โรคหัวใจ ซึ่งมีแรงดันเลือดในปอดสูงมากร่วมด้วย จะเป็นแต่กำเนิด หรือภายหลังก็ตาม โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งมีความผิดปกติของระบบเส้นเลือดในปอด เช่น ตีบตันหมด โรคของปอด ซึ่งเป็นอย่างรุนแรง ทั้ง ๒ ข้าง เช่น มีถุงลมโป่งพอง ปอดมีพังผืดจับ ปอดซึ่งติดเชื้อเรื้อรังทั้ง ๒ ข้าง และมีการทำลายของหลอดลม มีการอุดตันเกิดในหลอดเลือดของปอด ซึ่งอาจเกิดโดยลิ่มเลือดในหลอดเลือดของปอดเอง หรือจากเหตุอื่น ทำให้ความดันเลือดในปอดสูงมาก


แสดงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกัน

            ขั้นตอนการผ่าตัดคล้ายกับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ คือ ใช้หัวใจและปอดของผู้ที่เสียชีวิตใหม่ๆ ที่มีหมู่เลือดเดียวกับผู้ป่วย และมีขนาดของหัวใจและปอด ใกล้เคียงกับของผู้ป่วย การผ่าตัดต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมช่วย ผลการผ่าตัด สู้การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปฏิกิริยาต่อต้านอาจเกิดได้ ทั้งที่หัวใจและปอด อาจเกิดพร้อมๆ กัน หรือแยกกันเกิด ต้องมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ดี และมีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผลการติดตามระยะยาว มีอัตรารอดเกิน ๕ ปี ประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐