เล่มที่ 20
การปลูกถ่ายอวัยวะ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน และทำให้ผู้ป่วยจำนวนมาก สามารถมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปอย่างปกติสุข การปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำในอดีตนั้น มักได้ผลไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ แต่ในปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในแทบทุกแขนงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้สำเร็จมากขึ้น จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

อวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายได้
อวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายได้

            โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดพยาธิสภาพในอวัยวะต่างๆ จนอาจถึงกับทำให้อวัยวะนั้นๆ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรืออาจจะไม่ทำงานเลย ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น มีของเสียคั่ง หรือร่างกายขาดสารสำคัญต่อการดำรงชีพ หรือเสียการทำงาของอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจและปอด เป็นต้น ถ้าภาวะดังกล่าวเป็นไม่มากนัก แพทย์อาจให้การรักษา โดยการช่วยเสริมการทำงานของอวัยวะนั้น เช่น ใช้เครื่องไตเทียมในการช่วยขับของเสียในร่างกายของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง หรือให้ยากระตุ้นให้หัวใจของผู้ป่วยบีบตัวได้ดีขึ้น หรืออาจรักษาโดยการให้สารทดแทนส่วนที่ขาดไป เมื่ออวัยวะนั้นไม่ทำงาน เช่น การให้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโรคไขกระดูกที่ไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วย วิธีการดังกล่าวนั้น มักได้ผลไม่ดีนัก และจำเป็นต้องรักษาตลอดไปเป็นเวลานาน ดังนั้นการรักษาที่น่าจะได้ผลดีที่สุดคือ การเปลี่ยนเอาอวัยวะ ที่ทำงานได้ไม่ดีออกไป แล้วนำอวัยวะใหม่ที่ทำงานเป็นปกติใส่เข้าไปแทนที่ ซึ่งเรียกว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ

            ในทางทฤษฎีนั้น แพทย์สามารถปลูกถ่ายอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย แต่การปลูกถ่ายอวัยวะบางอย่างยังทำได้ยาก และได้ผลไม่ดีนัก การปลูกถ่ายอวัยวะที่สามารถทำได้ผลดีในปัจจุบัน และนิยมกระทำกันอย่างแพร่หลาย คือ การปลูกถ่ายไต ตับ ไขกระดูก หัวใจ ปอด หัวใจและปอด ลำไส้ และตับอ่อน เป็นต้น

            การปลูกถ่ายอวัยวะในอดีต มีปัญหาสำคัญมาก ๒ ประการ คือ

            ๑. ปัญหาการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอาอวัยวะที่เสียออกไป แล้วนำเอาอวัยวะที่ดีใส่เข้ามาแทนที่ การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ กระทำได้ยาก และจำเป็นต้องกระทำ โดยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญสูง อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายนี้ อาจได้จากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าอวัยวะนั้นมีมากกว่า ๑ ข้าง เช่น ไต แต่อวัยวะใหม่ส่วนใหญ่นี้ มักได้จากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต หรือผู้ป่วยที่สมองตาย การผ่าตัดนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่สามารถจะเก็บรักษาอวัยวะที่ได้มานี้ไว้นอกร่างกายได้นาน นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ มากกว่าจำนวนอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่าย ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายต้องรอรับการรักษาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตก่อนได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการผ่าตัด และในการเก็บรักษาอวัยวะได้นานขึ้น ทำให้การผ่าตัดทำได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาอวัยวะแต่ละส่วน จากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตหนึ่งราย ไปให้ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะหลายรายได้

            ๒. ปัญหาการที่ผู้ได้รับอวัยวะต่อต้านอวัยวะที่ให้เข้าไปใหม่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ทำหน้าที่ป้องกันร่างกาย จากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยเฉพาะต่อเชื้อจุลชีพต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส รวมทั้งเซลล์แปลกปลอมอื่นๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นจะไม่ถือว่าอวัยวะของตนเองเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ถือว่าอวัยวะใหม่ที่ได้มาจากผู้อื่นนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงทำการต่อต้านและไม่ยอมรับอวัยวะนี้ ทำให้เกิดการทำลาย และการอักเสบของอวัยวะใหม่ จนไม่สามารถทำงานได้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ได้รับอวัยวะเองด้วย (graft rejection) นอกจากนี้ อาจมีเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ให้อวัยวะใหม่ที่ใส่เข้าไป อาจจะถือว่าอวัยวะของร่างกายผู้รับเป็นสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน และทำให้เกิดการพยาธิสภาพต่ออวัยวะต่างๆ ของผู้รับ (graft versus host disease)

            การเข้ากันไม่ได้ระหว่างผู้รับอวัยวะกับอวัยวะใหม่ เกิดเนื่องจากการที่ผู้ได้รับอวัยวะ มีสารโปรตีนบนผิวเซลล์ ที่เรียกว่าแอนติเจน เอช แอล เอ (HLA antigen) แตกต่างจากผู้ให้อวัยวะ แอนติเจนนี้เป็นลักษณะจำเพาะของคนแต่ละคน และแตกต่างจากคนอื่น ถ้ามีความแตกต่างของแอนติเจนนี้มากก็จะเกิดการต่อต้านมาก ถ้าผู้ให้และผู้รับอวัยวะมีแอนติเจนนี้คล้ายคลึงกันก็จะมีการต่อต้านน้อย การต่อต้านอวัยวะใหม่นี้เป็นปัญหาสำคัญที่สุด ที่ทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะไม่ได้ผล

            ดังนั้นเพื่อให้สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ผลดีที่สุด จึงจำเป็นต้องตรวจก่อนทำการปลูกถ่ายอวัยวะว่า ผู้ให้และผู้รับมีความเข้ากันได้ คือ มีแอนติเจน เอช แอล เอ เหมือนกัน อย่างไรก็ตามมีโอกาสน้อยมาก ที่ผู้ให้ และผู้รับ จะมีแอนติเจน เอช แอล เอ เหมือนกันทุกประการ จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ที่มีแอนติเจนคล้ายคลึงกันมากที่สุด

            นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องให้ยากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ได้รับอวัยวะ ไม่ให้ไปทำลายอวัยวะใหม่ เดิมใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัด แต่การให้ยาดังกล่าว ก็มีผลข้างเคียง ที่ไม่ต้องการหลายอย่าง เนื่องจากจะกดการทำงานทุกด้านของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ที่ ได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรค จึงเกิดการ ติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อผู้ได้รับอวัยวะ ในปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการ พัฒนายาใหม่ๆ โดยเฉพาะยาไซโคลสปอริน (cyclosporin) ซึ่งสามารถกดการทำงานของระบบ ภูมิคุ้มกันเพียงบางส่วน เพียงพอที่จะไม่ต่อต้าน อวัยวะที่ให้เข้าไปใหม่ แต่ยังสามารถต่อต้าน เชื้อก่อโรคได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มียา กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีคุณภาพดี พร้อมทุกประการ แต่ยาไซโคลสปอรินนี้ก็มีส่วน สำคัญมาก ในการพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะให้ ได้ผลดียิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันในที่สุด

            การพัฒนาวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นโดยการผ่าตัด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ร่วมกับการใช้ยากดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ได้รับอวัยวะจำนวนมาก หายขาดจากโรค สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเป็นปกติ และทำให้สามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน