นิยามศัพท์
อาชีวอนามัย (Occupational Health)
หมายถึง ศาสตร์และศิลปเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพ อันรวมถึงการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการจัดการ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพ สามารถที่จะประกอบอาชีพได้อย่างปลอดโรค ปลอดภัย มีสภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล
ผู้ประกอบอาชีพ
หมายถึง ผู้ที่ทำงาน โดยมีรายได้จากงานนั้นๆ
ผู้ประกอบการ
หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นตัวแทน หรือผู้จัดการของเจ้าของกิจการ
นายจ้าง
หมายถึง ผู้ประกอบกิจการของตนเอง และมีการจ้างบุคคลตั้งแต่ ๑ คนขึ้นไป เข้าทำงานในฐานะลูกจ้าง และหมายความรวมถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนายจ้าง ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หมายความถึง ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนนิติบุคคลนั้นๆ
ลูกจ้าง
หมายถึง บุคคลที่ตกลงทำงานให้แก่นายจ้าง เพื่อรับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างทดลองงาน และฝึกงาน แต่ไม่รวมลูกจ้างที่ทำงานบ้าน อันไม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง
สถานประกอบการ
หมายถึง สถานที่ประกอบกิจการใดๆ ซึ่งมีการกำหนดขอบเขตที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน มีการดำเนินงานโดยเจ้าของที่เป็นบุคคล หรือนิติบุคคล ในทุกประเภทอุตสาหกรรม ยกเว้น เกษตรกรรม หน่วยงานรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ สถาบันศาสนา และแผงลอย/ขายเร่ที่ไม่แน่นอน
โรงงาน
หมายถึง อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรกำลังตั้งแต่ ๕ แรงม้าขึ้นไป หรือเทียบเท่า หรือใช้คนงานตั้งแต่ ๗ คนขึ้นไป เพื่อดำเนินการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ทดสอบ แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใดๆ ตามลักษณะกิจการของโรงงาน
เกษตรกรรม
หมายถึง การฝึกหัดทางการเกษตร ซึ่งมีการใช้ที่ดิน และ/หรือ ปศุสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบทางกฎหมาย หรือกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินนั้น ได้แก่ การทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ประมง และการเลี้ยงสัตว์
ผู้ถือครองทำการเกษตร
หมายถึง บุคคล ธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งควบคุมจัดการการเกษตร โดยอาจดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นจัดการ หรือดูแลแทนก็ได้
ครัวเรือนเกษตรกร
หมายถึง ครัวเรือนที่มีผู้ถือครองทำการเกษตรอย่างน้อย ๑ คน
โรคจากการประกอบอาชีพ (Occupational Diseases)
หมายถึง โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสัมผัสสิ่งคุกคาม หรือสภาวะแวดล้อม ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม โดยที่อาการของความเจ็บป่วยนั้นๆ อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในขณะทำงาน หรือหลังจากการทำงาน เป็นเวลานาน เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคซิลิโคสิส โรคพิษสารตัวทำละลาย โรคผิวหนังจากการประกอบอาชีพ และการบาดเจ็บจากการทำงาน เป็นต้น
โรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (Work-related Diseases)
หมายถึง โรคหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีสาเหตุ ปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรค ได้แก่ สภาวะแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ลักษณะท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง สภาพของงานที่ต้องปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม โดยปัจจัยที่เกี่ยวกับงานอาจจะเป็นสาหตุเริ่มต้น หรือทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดตันเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
โรคจากการประกอบอาชีพที่เป็นปัญหาในประเทศไทย
แบ่งเป็น
- อุบัติภัย/การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ (Accidents/Occupational Traumatic Injuries) การ บาดเจ็บของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ (Musculoskeletal Injuries)
- โรคปอดจากการประกอบอาชีพ (Occupational Lung Diseases) รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ เช่น โรคซิลิโคสิส โรคบิสสิโนสิส โรคแอสเบสโตสิส และอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ เป็นต้น
- โรคพิษจากสารโลหะหนัก (Heavy Metal Poisoning) เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคพิษจากสารหนู ปรอท แมงกานีส เป็นต้น
- โรคพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช (Pesticide Poisoning) และเวชศาสตร์เกษตรกรรม
- โรคผิวหนังจากการประกอบอาชีพ (Dermatological Disorders)
- ภาวะการได้ยินเสื่อมจากเสียงดัง (Occupational Hearing Loss)
- ภาวะเป็นพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxic Disorders)
- โรคมะเร็งจากการประกอบอาชีพ (Occupational Cancers)
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases)
- ปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดจากการทำงาน (Psychological Disorders and Work Stress)