แมงกานีส (Manganese)
แมงกานีสเป็นโลหะชนิดหนึ่งมีสีขาว แข็ง และเปราะ ในธรรมชาติมักพบอยู่ในรูปของออกไซด์ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ไพโรลูไซต์ (MnO2)
อาชีพที่เกี่ยวข้องกับแมงกานีส
ได้แก่ การทำงานในเหมืองแร่แมงกานีส ในโรงงานถ่านไฟฉาย ในโรงงานหลอมหล่อเหล็กเหนียว ซึ่งต้องผสมแมงกานีสลงไปด้วย
ทางเข้าสู่ร่างกาย
๑. ทางจมูก
๒. ทางปาก
๓. ทางผิวหนัง
อาการได้รับพิษแมงกานีส
๑. อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท
แมงกานีสจะทำลายประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ทำให้เกิดอาการต่างๆ แบ่งเป็น ๓ ระยะ ดังนี้คือ
- ระยะเริ่มแรก เริ่มด้วยอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร ไม่สนใจสิ่งรอบตัว นอนไม่หลับ พูดจาน้อย ความรู้สึกทางเพศเสื่อม
- ระยะกลาง อาการเป็นมากขึ้น เป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ ไม่ค่อยพูดจา หรือเวลาพูด จะพูดด้วยระดับเสียงเดียว หน้าตาย ไม่แสดงความยินดียินร้าย เวลาหัวเราะกล้ามเนื้อเกร็งไปทั่วใบหน้า เวลาเดินเริ่มมีอาการกระตุก
- ระยะรุนแรง เวลาเดินมีอาการกระตุกมากขึ้น เดินแกว่งไปแกว่งมา ก้าวขาสั้นๆ เดินหัวซุนไปข้างหน้า หกล้มบ่อยๆ บางครั้งหัวเราะ บางครั้งร้องไห้ กลืนน้ำลายลำบาก หรืออาจมีอาการเป็นอัมพาตของร่างกายเป็นบางส่วน
๒. อาการเกี่ยวกับปอด
เกิดจากการหายใจเอาผงหรือไอระเหยของแมงกานีสเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการปอดบวม โดยอาการเริ่มต้น เป็นไข้ ไอมีเสมหะ แน่น หายใจไม่ออก
การควบคุมและป้องกัน
๑. จัดการระบายอากาศให้เพียงพอ
๒. ควรแยกห้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับแมงกานีสออกจากห้องปฏิบัติงานอื่น เครื่องบดแร่ก็ควรปิดให้มิดชิด หรือใช้ระบบอัตโนมัติ
๓. จัดห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ให้คนงานใช้หลังจากการปฏิบัติงาน
๔. ดูแลเรื่องอนามัยส่วนบุคคล เช่น ไม่สูบ บุหรี่ หรือนำอาหารเข้ามารับประทาน ในขณะทำงาน
๕. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้คนงาน เช่น อุปกรณ์กรองอากาศ เป็นต้น
๖. ตรวจสุขภาพคนงานทั้งก่อนเข้าทำงาน และตรวจร่างกายเป็นระยะๆ หลังจากเข้าปฏิบัติงาน
๗. ตรวจหาปริมาณของแมงกานีสในอากาศ เป็นประจำทุกๆ ๓ เดือน
๘. ควรชี้แจงให้คนงาน และเจ้าของโรงงาน ได้ตระหนักถึงอันตราย จากการได้รับพิษแมงกานีส
ค่ามาตรฐาน
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) กำหนดให้
แมงกานีส มีความเข้มข้นเฉลี่ยตลอดระยะเวลาทำงานปกติ ไม่เกิน ๕ มิลลิกรัมต่ออากาศ ๑ ลูกบาศก์เมตร
ตามข้อเสนอแนะของกองอาชีวอนามัย
กำหนดให้
๑. แมงกานีสในเลือดไม่ควรเกิน ๐.๐๐๘ มิลลิกรัม/๑๐๐ มิลลิลิตร
๒. แมงกานีสในปัสสาวะไม่ควรเกิน ๐.๐๒๕ มิลลิกรัม/ลิตร