ปรอทเป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน เป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ สามารถทำให้เป็นของแข็งได้ แต่เปราะ ในอุณหภูมิปกติ จะระเหยเป็นไอได้ ปรอทนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
๑. ใช้ในการทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ เครื่องปั๊มดูดอากาศ และเครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิต
ปรอทใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเทอร์โมมิเตอร์
๒. ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เช่น สวิตช์อัตโนมัติ สำหรับตู้เย็น และกระแสไฟฟ้าตรง
๓. สารประกอบของปรอทใช้ในการทำวัตถุระเบิด
๔. ซัลไฟด์ของปรอท ใช้ทำสีแดงในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา
๕. ออกไซด์แดงของปรอท ใช้ในการทำสี เพื่อป้องกันมิให้แตกหรือลอกง่าย ซึ่งใช้ในการทาใต้ท้องเรือ
๖. ปรอทเป็นตัวทำละลายที่ดี สำหรับโลหะบางชนิด และสารละลายเรียกว่า "อะมาลกัม" ดีบุก-อะมาลกัม ใช้ในการทำกระจกเงา เงิน-ดีบุกอะมาลกัม ใช้เป็นวัสดุในการอุดฟัน
๗. สารประกอบของปรอท นำมาใช้ในวงการแพทย์ เช่น ผลิตยารักษาโรค เป็นต้น
๘. ใช้ในอุตสาหกรรมการทำหมวกสักหลาด
ทางเข้าสู่ร่างกาย
๑. ทางหายใจ
โดยการสูดหายใจเอาผงหรือไอระเหยของปรอทเข้าสู่ปอด ซึ่งส่วนใหญ่ จะตกค้างบริเวณจมูก และทำอันตรายต่อกระดูกอ่อนที่กั้นระหว่างจมูก
๒. ทางปาก
โดยการรับประทานเข้าไป มักจะเป็นอุบัติเหตุปะปนกับอาหาร และน้ำดื่ม
๓. ทางผิวหนัง
คนงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับปรอท จะได้รับฝุ่นละออง หรือไอระเหยของปรอท และเกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนังได้ ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง และเป็นโรคผิวหนังได้
อันตรายจากปรอท
ชนิดเฉียบพลัน
พบได้น้อยในวงการอุตสาหกรรม แต่ถ้าหากสูดหายใจเข้าไปเป็นจำนวนมากทันทีทันใด จะทำให้เกิดอาการไอและปวดศีรษะอย่างรุนแรง อีก ๒-๓ ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการเป็นไข้ หายใจอึดอัด ต่อมาปากจะเปื่อย เป็นแผลอักเสบ บางรายอาจมีอาการของหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม บางรายอาจมีท้องเดินอย่างมาก หรือไตอักเสบ หรือเป็นโรคประสาทได้
ชนิดเรื้อรัง
พบได้บ่อยในวงการอุตสาหกรรม มีผลต่อหลายระบบของร่างกาย ได้แก่
๑. อาการของระบบทางเดินอาหาร จะมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ต่อมาเจ็บปวดบริเวณเหงือกและปาก เหงือกบวมอักเสบ เลือดออกง่าย อาจจะพบเส้นคล้ำๆ ของปรอทที่เหงือกต่อกับฟันได้ เช่นเดียวกับตะกั่ว บางรายอาจมีอาการลำไส้ใหญ่ อักเสบ ถ่ายเป็นมูกเลือด
๒. อาการระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการสั่นกระตุกของกล้ามเนื้อ เปลือกตา ริมฝีปาก ลิ้น และนิ้วมือเป็นพักๆ
๓. อาการทางจิตประสาท ผู้ป่วยจะมีอารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ โมโห ฉุนเฉียว และหงุดหงิดง่าย ระงับอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ความจำเสื่อม
๔. อาการทางผิวหนัง เมื่อปรอทสัมผัสกับผิวหนัง อาจจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง ต่อมาทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น
การควบคุมและป้องกัน
๑. การใช้สารอื่นแทนปรอท โดยใช้สารเป็นพิษน้อยกว่าแทนปรอท เช่น ใช้สารละลาย แอมโมเนียมของเงินทำกระจกเงา แทนสารประกอบของปรอท
๒. เปลี่ยนกระบวนการผลิต เช่น ในกระบวนการผลิตดินระเบิด ควรจะใช้กระบวนการเปียก แทนการผลิตอย่างแห้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย หรือหกรดพื้นของปรอท
๓. จัดให้มีการระบายอากาศ หรือถ่ายเทอากาศ ในบริเวณที่ทำงานให้ปลอดภัย
๔. หมั่นรักษาความสะอาดของโรงงาน เพื่อมิให้มีการสะสมฝุ่นละอองของปรอท ซึ่งอาจฟุ้งกระจายได้
๕. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล แก่คนงานที่ปฏิบัติงาน ได้แก่ หน้ากากป้องกันอันตรายระบบทางเดินหายใจ ถุงมือ เสื้อ คลุม รองเท้ายาง
๖. ตรวจสอบสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมระดับสารปรอท ในบรรยากาศของการทำงานอยู่เสมอ อย่าให้เกินมาตรฐาน
๗. ตรวจสุขภาพคนงานประจำปี หรือตรวจเป็นระยะๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติ ในระยะเริ่มแรก
๘. ควรให้ความรู้แก่คนงานเรื่องอันตรายของปรอท พร้อมกับวิธีการป้องกันเป็นระยะๆ
ค่ามาตรฐาน
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) กำหนดให้
ปรอทมีปริมาณความเข้มข้นสูงสุดที่อาจยอมให้มีได้ ไม่ว่าระยะเวลาใดของการทำงานปกติ ต้องไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่ออากาศ ๑ ลูกบาศก์เมตร