อันตรายจากเครื่องถ่ายเอกสาร
ในปัจจุบันเครื่องถ่ายเอกสารเป็นที่รู้จัก และมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ในสำนักงานทั่วไป นอกจากเครื่องถ่ายเอกสารแล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ระบบแสงเลเซอร์ เครื่องโทรสาร เครื่องพิมพ์เขียว เครื่องปรุ กระดาษไข และเครื่องโรเนียว ที่หลายๆ คนกังวล กันว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้งานเป็น เวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องทำหน้าที่ ถ่ายเอกสารเป็นงานประจำตลอดทั้งวัน หรือแม้ กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หากแต่มี อุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในห้องทำงานเดียวกันก็มักได้ กลิ่นสารเคมีหรือแสงวาบเข้าตาอยู่เสมอ ซึ่งสร้าง ความรำคาญ และเกิดเป็นผลเสียต่อสุขภาพใน ท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยเลย ก็ย่อมทำได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่ถ้าการจัดวางอุปกรณ์เหล่านี้ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือในที่ที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ หรือไม่มีการบำรุง รักษาอุปกรณ์ที่ดีพอ หรือผู้ใช้ใช้งานอุปกรณ์เป็น ประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ความรู้สึกไม่ สบายหรือผลเสียต่อสุขภาพก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เครื่องถ่ายเอกสารเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในสำนักงานทั่วไป
เครื่องโรเนียว มักไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้วในปัจจุบัน
อันตรายหลักจากเครื่องถ่ายเอกสาร
๑. ก๊าซโอโซนจะถูกปล่อยออกมาในกระบวนการถ่ายเอกสาร โดยทั่วไป โอโซนเป็นก๊าซทำความระคายเคือง แต่การสัมผัสก๊าซนี้เป็นเวลานาน อาจทำอันตรายต่อระบบหายใจ และระบบประสาทได้
๒. ฝุ่นผงหมึก ซึ่งประกอบด้วยสารเคมี ที่เป็นอันตราย รวมไปถึงสารที่อาจก่อมะเร็ง และสารที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้
๓. แสงเหนือม่วง มักทำอันตรายต่อตา การสัมผัสแสงจ้า ที่เครื่องถ่ายเอกสารเป็นเวลานาน จะเป็นสาเหตุของอาการปวดตา และปวดศีรษะ
การทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร
หลักการใช้กระแสไฟฟ้าสถิต เป็นหลักการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสารทุกเครื่อง โดยต้นฉบับที่จะใช้ถ่ายเอกสารนั้น เมื่อได้รับแสงจากหลอดไฟพลังงานสูง ภาพต้นฉบับก็จะถูกสะท้อน แสงไปยังลูกกลิ้งที่มีประจุไฟฟ้าอยู่ และเนื่องจาก พื้นผิวของลูกกลิ้งเป็นตัวนำแสงซึ่งมีความไวต่อ แสงสว่าง บริเวณที่สัมผัสแสงสว่างก็จะสูญเสีย ประจุไฟฟ้าสถิตไป ผลของการสูญเสียประจุไฟฟ้าสถิต เนื่องจากการสะท้อนแสงจากต้นฉบับ ทำให้คงเหลือประจุไฟฟ้าสถิตที่ลูกกลิ้งตามรูปแบบที่เป็นส่วนมืด หรือสีเข้มของต้นฉบับ และประจุไฟฟ้าที่เหลืออยู่บนลูกกลิ้งนี้เอง ที่จะดูดผงหมึกเข้าไปติด และพิมพ์ลงบนกระดาษ กระดาษที่พิมพ์แล้วนี้ จะได้รับความร้อนจากหลอดไฟให้ความร้อน ในขั้นตอนสุดท้ายของการถ่ายเอกสาร ซึ่งจะหลอมละลายพลาสติกเรซิน ที่ผสมอยู่ในผงหมึก ช่วยให้ภาพติดอยู่ได้คงทนบนกระดาษ
เครื่องถ่ายเอกสารมีอยู่ ๒ ประเภท คือ เครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และระบบเปียก แต่ที่ใช้กันโดยทั่วไปมักเป็นระบบแห้ง
๑. เครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง
ใช้ผงหมึก (ผงคาร์บอน และเรซิน) ผสมกับสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวนำผงหมึก ให้ไปติดลูกกลิ้ง ได้แก่ ผงเหล็กกล้า ผงแก้ว และเม็ดทรายหรือซิลิกา เมื่อผงหมึกถูกดูดไปเกาะติดที่ลูกกลิ้งแล้ว สารตัวนำผงหมึกเหล่านี้ ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่
๒. เครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก
ใช้สารละลายไฮโดรคาร์บอน โดยปกติใช้สารไอโซดีเคน (isodecane) เป็นตัวนำหมึกไปติดที่ลูกกลิ้ง ในกระบวนการถ่ายเอกสารระบบเปียกนี้ กระดาษจะถูกทำให้ชื้น ด้วยสารไอโซดีเคน ก่อนที่จะนำหมึกไปติดที่ลูกกลิ้ง จากนั้นความร้อน หรืออากาศ ก็จะถูกใช้เป็นตัวช่วยให้กระดาษแห้ง หลังจากถ่ายทอดภาพจากต้นฉบับได้แล้ว
สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารระบบสีนั้น ใช้หลักการกระแสไฟฟ้าสถิตเช่นเดียวกัน แต่มีระบบผงหมึก ๓ ระบบด้วยกัน คือ ใช้แม่สี เขียว แดง น้ำเงิน เพื่อให้เกิดเป็นสีต่างๆ โดยให้กระดาษผ่านผงหมึกทีละระบบสี
เครื่องพิมพ์ระบบแสงเลเซอร์ (laser printer)
ใช้สัญญาณไฟฟ้าระบบดิจิทัล และแปลสัญญาณเหล่านี้ ผ่านทางลำแสงเลเซอร์ไปยังพื้นผิวลูกกลิ้ง ที่ไวต่อแสงสว่าง และกระบวนการพิมพ์เอกสาร ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกับระบบการถ่ายเอกสารทั่วไป
เครื่องโทรสาร (facsimile)
ทำงานโดยได้รับสัญญานำเข้า ซึ่งเป็นระบบดิจิทัล และสัญญาณเหล่านี้ ถูกแปลงไปยังกระดาษพิมพ์ ขณะที่กระดาษเคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวที่ร้อน กระดาษที่ใช้สำหรับเครื่องโทรสาร มักถูกเคลือบไว้ด้วยสารเคมี หรือในบางกรณี อาจใช้แถบริบบอนที่ไวต่อความร้อน พิมพ์ลงบนกระดาษธรรมดาก็ได้
เครื่องพิมพ์เขียว (plan printing machine)
ใช้กระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการไดอะโซ (diazo process) ซึ่งหมายถึง การใช้สารไดอะโซ สีน้ำตาลแดงในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ กระดาษที่ใช้ก็เป็นกระดาษที่มีความไวต่อสารเคมี เมื่อสัมผัสกับภาพ และตามด้วยไอระเหยของแอมโมเนีย น้ำยาเคมี หรือความร้อน ก็จะได้ภาพตามที่ต้องการ
สำหรับ เครื่องปรุกระดาษไข และ เครื่องโรเนียว นั้น ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้ว เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาแทน เช่น เครื่องอัดสำเนาระบบดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการใช้เครื่องปรุกระดาษไข ก็คือ การใช้กระดาษปรุไข ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการปรุไขแล้ว สัมผัสกับความร้อน เกิดเป็นไอระเหย ที่มีกลิ่นจากสารเคมี ที่เคลือบอยู่ที่กระดาษปรุไข หรือการโรเนียวที่ให้กลิ่นจากการระเหยของหมึกเหลวนั่นเอง
สิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โอโซน (Ozone, O3) โอโซนเกิดขึ้นได้จากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีความดันไฟฟ้าแรงสูง เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ เครื่องเชื่อมโลหะไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับในเครื่องถ่ายเอกสารนั้นโอโซน ส่วนใหญ่เกิดจากการอัดและปล่อยประจุไฟฟ้าที่ ลูกกลิ้งและกระดาษ โอโซนบางส่วนเกิดจากการ ปล่อยแสงเหนือม่วง (แสงอัลตราไวโอเลต : UV) จากหลอดไฟพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งแสงเหนือม่วงนี้ จะทำให้ออกซิเจนในอากาศ รวมตัวกันเป็นโอโซนง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามใน สภาวะปกติหรือในสำนักงานทั่วไป โอโซนจะ สลายตัวเป็นออกซิเจนได้ภายใน ๒-๓ นาที อัตราการสลายตัวของโอโซนขึ้นอยู่กับระยะเวลา อุณหภูมิ (โอโซนสลายตัวได้เร็วยิ่งขึ้นในที่ที่มีอุณหภูมิสูง) การระบายอากาศ และพื้นผิววัตถุที่โอโซนสัมผัส ถ้าเป็นถ่านปลุกฤทธิ์ (activated car- bon) ก็จะทำให้โอโซนสลายตัวได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ ดังนั้นเครื่องถ่ายเอกสารรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จึงมีแผ่นกรอง ที่ทำด้วยถ่านปลุกฤทธิ์ติดอยู่ด้วย เพื่อสลายโอโซน ก่อนปล่อยออกภายนอกเครื่อง
ค่ามาตรฐานการสัมผัสโอโซนสำหรับ ๘ ชั่วโมงการทำงานของประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คือ ๐.๑ ส่วนในล้านส่วน (parts per million, ppm) ส่วนมติที่ประชุมของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ภาครัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (American Conference of Governmental Industrial Hygienists, ACGIH) ได้กำหนดค่าที่ยอมให้มีได้ในบรรยากาศการทำงาน (Threshold Limit Value, TLV) ของโอโซนเป็น ๐.๑ ส่วนในล้านส่วน เช่นเดียวกัน แต่เป็นค่าที่ไม่ยอม ให้มีเกินค่านี้ในบรรยากาศการทำงาน ไม่ว่า ในเวลาใดก็ตามค่า ceiling ระดับความเข้มข้นของ โอโซนที่ ๑๐ ส่วนในล้านส่วน เป็นระดับที่ทำ อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพทันที (Immediately Dangerous to Life and Health, IDLH)
ผลต่อสุขภาพระยะสั้น
โอโซนที่ระดับความเข้มข้นต่ำ (๐.๐๑-๐.๐๒ ส่วน ในล้านส่วน) ก็สามารถตรวจสอบกลิ่นได้แล้ว โอโซนในระดับความเข้มข้น ๐.๒๕ ส่วนในล้านส่วนขึ้นไป มีผลทำให้เกิดความระคายเคืองต่อตา จมูก และคอ ทำให้หายใจสั้น วิงเวียน และปวดศีรษะได้ นอกจากนี้ยังพบว่า เป็นสาเหตุของความล้า และการสูญเสียประสาทรับรู้กลิ่นด้วย คนที่มีโรค ทางระบบหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด ไม่ ควรสัมผัสโอโซนเลย
ผลต่อสุขภาพระยะยาว
การสูดหายใจเอาโอโซนเข้าไปเป็นระยะเวลานานๆ อาจทำอันตรายต่อปอดได้ พบได้บ่อยในคนงานเชื่อมโลหะไฟฟ้า ไม่ค่อยพบในผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายเอกสาร
ผงหมึก (Toner)
ลักษณะผงหมึกที่ใช้ในเครื่องถ่ายเอกสาร
ผงหมึกที่ใช้สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง ประกอบด้วย ผงคาร์บอนดำ (carbon black) ร้อยละ ๑๐ ผสมกับพลาสติกเรซิน สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก ผงหมึกจะละลาย ในสารละลายอินทรีย์จำพวกปิโตรเลียม เครื่องถ่ายเอกสารทั้ง ๒ ระบบ มีอันตรายจากส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีทั้งสิ้น จึงควรใช้ความระมัดระวังขณะทำการเติมหมึกเหลว หรือผงหมึก รวมทั้งขณะทำความสะอาดหรือกำจัดฝุ่นผงหมึก ที่ใช้แล้ว โดยควรทิ้งลงในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด ไม่ควรทิ้งลงในตะกร้าหรือถังขยะในสำนักงาน
พนักงานที่ทำหน้าที่ถ่ายเอกสารเป็นประจำ จะสัมผัสกับผงหมึกมากกว่าผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารทั่วไป ดังนั้นจึงควรได้รับการฝึกอบรม ในเรื่องความปลอดภัย ในการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และควรมีการจัดเตรียมถุงมือไว้ให้ใช้ด้วย นอกจากนี้ ข้อควรระวังในการใช้เครื่องถ่ายเอกสารก็คือ ควรหลีกเลี่ยงมิให้ผิวหนังต้องสัมผัสกับผงหมึก หรือสูดหายใจเอาผงหมึกเข้าไปในร่างกาย ในกรณีที่เครื่องถ่ายเอกสารมีปัญหา เช่น พบว่า มีผงหมึกเปรอะเปื้อนติดอยู่ที่กระดาษเป็นจำนวนมาก ควรหยุดการทำงานของเครื่อง และติดต่อบริษัท เพื่อรับการซ่อมบำรุงเครื่องอย่างเหมาะสม
ผลต่อสุขภาพ
การสูดหายใจเอาฝุ่นผงหมึกเข้าไปในร่างกาย มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ไอ และจาม อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตหลายแห่ง ได้กล่าวอ้างว่า เครื่องถ่ายเอกสารของตนปลอดภัยจากปัญหาผงหมึก แม้ว่าจะได้มีการตรวจพบสารที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง ในปริมาณเล็กน้อยในผงหมึกก็ตาม นอกจากนี้สารไนโตรไพรีน (ซึ่งพบได้ในผงคาร์บอนดำ) และไทรไนโตรฟลูออรีน (TNF) ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นสารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือทำลายยีน อันเป็นผลให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์
หลังจากที่สถาบันอาชีวอนามัย และความปลอดภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Occupational Safety and Health, NIOSH) ได้ทำการทบทวนถึงปัญหาในเรื่องนี้แล้ว บริษัทไอบีเอ็ม ก็ได้ทำการเปลี่ยนสารที่ใช้ในกระบวนการผลิต จากสารไทรไนโตรฟลูออรีนเป็นสารประกอบตัวอื่นแทน อย่างไรก็ตามสารไทรไนโตรฟลูออรีนนี้ อาจยังคงมีการใช้อยู่ในเครื่องของบริษัทอื่น และเนื่องจากปริมาณของสารเคมีต่างๆ เหล่านี้ อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ปัญหาความเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงยังคงน้อยอยู่ แต่ผู้ใช้ก็ควรปฏิบัติงาน ตามข้อควรระวังที่กำหนดไว้
สารพอลิเมอร์ พวกพลาสติกเรซินในผงหมึก เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เป็นสาเหตุของอาการแพ้ เนื่องจากการสัมผัสที่ผิวหนังซ้ำบ่อยๆ โดยแสดงอาการผื่นคันตามผิวหนัง ความรู้สึกร้อนวาบ ภายในตา ปัญหาเหล่านี้พบได้ในพนักงานที่ให้บริการถ่ายเอกสารเป็นประจำ มากกว่าผู้ใช้ทั่วไป
การทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสารเป็นประจำ อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ถ้าไม่ระมัดระวัง
หมึกเหลว (Liquid toner)
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียกนั้น ใช้หมึกเหลว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสารละลายอินทรีย์จำพวกปิโตรเลียม และไฮโดรคาร์บอน ดังนั้นการสัมผัสสารละลายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นสาเหตุของการระคายเคืองผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ อาการแพ้ และอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง การจัดระบบระบายอากาศที่ดีพอ จะสามารถกำจัดความเสี่ยง ในการสัมผัสไอระเหยของสารไอโซดีเคนได้
หมึกเหลวที่เหลือ หรือที่เป็นของเสียแล้ว ควรปิดฝาให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันการหกรด และการระเหยในบรรยากาศการทำงาน
สารเคมีอื่น (Other chemicals)
ซีลีเนียม แคดเมียมซัลไฟด์ ซิงค์ออกไซด์ และโพลิเมอร์บางตัว ซึ่งถูกเคลือบไว้ที่ลูกกลิ้ง ในเครื่องถ่ายเอกสาร มีลักษณะเป็นสารนำแสง (photoconductor) มักจะถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ ในลักษณะไอระเหย ระหว่างกระบวนการถ่ายเอกสาร ซึ่งเกิดในขณะที่ลูกกลิ้งได้รับประจุไฟฟ้า ด้วยความดันไฟฟ้าแรงสูง โดยปกติ ปริมาณสารเคมีเหล่านี้ มีน้อยเกินกว่าที่จะตรวจสอบได้
ผลต่อสุขภาพ
การสูดหายใจเอาซีลีเนียมปริมาณหนึ่งเข้าไปในร่างกาย เป็นสาเหตุของการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ตา และชั้นเยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร การรับซีลีเนียมเข้าไปในร่างกายมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการลิ้นรับรสเฝื่อน หรือรสโลหะ การหายใจมีกลิ่นคล้ายกลิ่นกระเทียม เกิดความล้า อาหารไม่ย่อย วิงเวียนศีรษะ นอกจากนี้ ซีลีเนียมในระดับความเข้มข้นสูงๆ สามารถทำอันตรายต่อตับและไตได้
แคดเมียมมีอันตรายมากกว่าซีลีเนียม และเป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตามแคดเมียมถูกปล่อยออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ในปริมาณที่น้อยกว่า แม้ว่าความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีต่างๆ เหล่านี้จะมีน้อยมาก แต่พนักงานที่ทำหน้าที่ถ่ายเอกสารเป็นประจำ ก็ควรหลีกเลี่ยงการจับหรือสัมผัสกับลูกกลิ้งเท่าที่จะทำได้
แสงเหนือม่วง (Ultraviolet Light, UV)
ทั้งแสงสว่างที่เรามองเห็นได ้และแสงเหนือม่วง ถูกแผ่รังสีออกจากหลอดไฟพลังงานสูง ระหว่างกระบวนการถ่ายเอกสาร รังสีแสงเหนือม่วง ทำให้เกิดอาการอักเสบของกระจกตา และผื่นคันตามผิวหนังได้ แต่โดยปกติแล้วแสงเหนือม่วง จะไม่ทะลุผ่านแผ่นกระจกที่วางเอกสารต้นฉบับ ของเครื่องถ่ายเอกสาร ดังนั้นความเสี่ยงในการ สัมผัสแสงเหนือม่วงจึงมีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะ แสบตา อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากการมองแสงที่ทะลุผ่านกระจกออกมาได้ ซึ่งจะมีความยาวช่วงคลื่นอยู่ระหว่าง ๓๕๐- ๑,๑๐๐ นาโนเมตร ซึ่งก็คือช่วงคลื่นแสงสว่างที่ เรามองเห็นได้ และช่วงคลื่นแสงเหนือม่วงในช่วงที่ อยู่ใกล้ช่วงคลื่นแสงสว่างนั่นเอง สำหรับอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้กับตานั้นมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ขณะทำการถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบ เพื่อป้องกันความรู้สึกไม่สบายตาหรืออาการแสบตา
เสียงดัง (Noise)
เครื่องถ่ายเอกสารส่วนใหญ่มีเสียงค่อนข้างดัง โดยเฉพาะเครื่องขนาดใหญ่อาจดังถึง ๘๐ เดซิเบล ค่ามาตรฐานของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเสียงดัง ในสถานประกอบการนั้น ยอมให้มีเสียงดังได้ ๙๐ เดซิเบล ตลอด ๘ ชั่วโมงการทำงาน อย่างไรก็ตาม งานในสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องการสมาธิในการทำงานมาก จึงไม่ควรให้มีเสียงดังเกิน ๖๐ เดซิเบล ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ทั่วไปในสำนักงานที่ เป็นแหล่งเสียงดังจึงควรแยกออกห่างจากผู้ปฏิบัติ งานโดยอาจทำการแยกอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ออกจากห้องทำงานทั่วไป หรือล้อมรอบด้วยวัสดุ ดูดซับเสียง หรือใช้ฉากกั้นที่ทำด้วยวัสดุดูดซับ เสียงก็ได้
ความร้อน (Heat)
การทำงานของหลอดไฟพลังงานสูง ในกระบวนการถ่ายเอกสาร จะปล่อยความร้อนออกมาด้วย เป็นสาเหตุของความรู้สึกไม่สบาย ถ้าต้องทำงานถ่ายเอกสารเป็นระยะเวลานานๆ ภายในห้องที่จัดระบบระบายอากาศอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นการระบายอากาศที่ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสาร
คำแนะนำในการถ่ายเอกสารอย่างปลอดภัย
๑. การถ่ายเอกสารทุกครั้ง ควรปิดฝาครอบให้สนิท ในกรณีที่ไม่สามารถปิดให้สนิทได้ ควรหลีกเลี่ยงการมองไปยังเครื่องถ่ายเอกสาร เพื่อป้องกันสายตา
การถ่ายเอกสารอย่างถูกต้องควรปิดฝาครอบขณะถ่าย
๒. ควรมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ ในห้องถ่ายเอกสาร
๓. ควรสวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก และในกรณีที่จำเป็นควรสวมอุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจด้วย นอกจากนี้ควรขอรับเอกสารข้อมูลความปลอดภัย ในการใช้สารเคมี (Material Safety Data Sheet : MSDS) จากบริษัทผู้ผลิต หรือผู้ขาย
๔. ผงหมึกที่ใช้แล้ว ควรนำไปกำจัด โดยใส่ลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด รวมไปถึงผงหมึกที่หกเลอะเทอะ หรือฟุ้งกระจายออกมา ขณะทำการเติมผงหมึกด้วย
๕. เมื่อจะซื้อเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องใหม่ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า
- มีระบบการเติมผงหมึกที่ปลอดภัย และมีภาชนะบรรจุเศษผงหมึกในเครื่อง
- เครื่องถ่ายเอกสารไม่ทำงาน หรือเครื่องจะดับอัตโนมัติ เมื่อภาชนะบรรจุเศษผงหมึกในเครื่องเต็มแล้ว
๖. ควรแน่ใจว่า เครื่องถ่ายเอกสารได้รับการบำรุงรักษาเป็นประจำ
๗. ไม่ควรจัดวางเครื่องถ่ายเอกสารไว้ในห้องทำงาน ควรจัดแยกไว้ในห้องถ่ายเอกสารโดยเฉพาะ หรือไว้ในมุมห้อง ที่ไกลออกไปจากคนทำงาน และควรแน่ใจว่า มีการระบายอากาศ ที่เหมาะสมภายในห้องนั้น
๘. ไม่ควรมีผู้ใดต้องทำงานถ่ายเอกสารตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว
๙. สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการซ่อม หรือบำรุงรักษาเครื่องถ่ายเอกสาร ควรสวมถุงมือยาง แบบใช้แล้วทิ้ง ขณะทำงาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกกลิ้งด้วย
๑๐. ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องถ่ายเอกสาร ควรได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมดังนี้
- ผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ควรได้รับการฝึกอบรม เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องถ่ายเอกสารอย่างเหมาะสม และปลอดภัย
- ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบเครื่องถ่ายเอกสาร ควรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย และการเก็บสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการถ่ายเอกสาร รวมไปถึงการนำสารเคมีมาใช้ และการกำจัดของเสียด้วย