แคดเมียม (Cadmium)
แคดเมียม มีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีน้ำหนักโมเลกุล ๑๑๒.๔ ความถ่วงจำเพาะ ๘.๖๕ จุดหลอมเหลว ๖๑๐ องศาฟาเรนไฮต์ จุดเดือดที่ ๑๔๐๙ องศาฟาเรนไฮต์ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน อันได้แก่ กำมะถัน ซีลีเนียม และเทลลูเรียม ในทางอุตสาหกรรมเนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ เช่นเหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท แ ละอะลูมิเนียม เพื่อให้ได้สารประกอบที่หลอมตัวง่าย โลหะผสมเหล่านี้อาจใช้เป็นสารฉาบผิวบนวัสดุอื่นหรือบนลวดเชื่อม บนโลหะบัดกรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้ ใช้เป็นตัวที่ทำให้พลาสติกชนิดพีวีซี (PVC) อยู ่ตัว ใช้ท ำวัสดุอุดฟัน ใช้ในการผลิตหลอดเรืองแสง สารกึ่งตัวนำ เครื่องเพชรพลอย ใช้ในกระบวนการแกะสลักแม่พิมพ์ และใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องบิน
สารประกอบแคดเมียมใช้ทำสารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดแมลง สารกำจัดหนอน ใช้ทำเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เม็ดสี สี และแก้ว นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ และการเคลือบมัน และยังเป็นตัวปนเปื้อน ในปุ๋ยชนิดซูเปอร์ฟอสเฟตด้วย
แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
แคดเมียมจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจ เอาฝุ่นหรือควันของแคดเมียม หรือโดยการกินเข้าไป
ปริมาณของแคดเมียมในร่างกายมนุษย์
จะตรวจพบแคดเมียมในเลือดในปริมาณที่ต่ำกว่า ๐.๕ ไมโครกรัมต่อ ๑๐๐ มิลลิลิตร ค่าสูงสุดที่ยอมให้มีได้คือ ๑๐ ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าแคดเมียมในปัสสาวะจะต่ำกว่า ๒ ไมโครกรัมต่อ ๑ กรัมของครีอะทินีน และค่าสูงที่สุดที่ยอมให้มีได้คือ ๑๐ ไมโครกรัมต่อ ๑ กรัมของครีอะทินีน
อันตรายของแคดเมียมต่อร่างกาย
อันตรายจากแคดเมียม อาจพบได้ในอุตสาหกรรมรถยนต์
ก. ผลเฉพาะที่
ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสกับสารนี้นานๆ อาจทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นเสียไป และเกิดคราบหรือวงสีเหลือง ที่คอฟันทีละน้อย สารประกอบแคดเมียมดูดซึมได้ไม่ดีทางลำไส้ แต่ดูดซึมได้ดีโดยทาง หายใจ หลังจากที่แคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานและคงอยู่ในตับและไต
ข. ผลต่อร่างกาย
พิษเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นหรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไป ระยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน ๒-๓ ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการ ระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก ๒-๓ ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการไอ เจ็บปวดใน ทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น ต่อมา ๘-๒๔ ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่าง ฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อันตรายจากกรณีเช่นนี้ มีถึง ๑๕% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเนื้อปอดปูดนูนออกมา ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาให้หาย มีรายงานว่า พบพิษเรื้อรังเกิดขึ้น หลังจากสัมผัสฟูมแคดเมียมออกไซด์เป็นเวลานาน
การป้องกันพิษจากแคดเมียม
จะป้องกันพิษจากแคดเมียมได้ โดยการเฝ้าระวังของแพทย์ โดย
๑. ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน โดยเน้นที่ประวัติการเป็นโรคไตที่สำคัญๆ ประวัติการสูบบุหรี่ และโรคทางเดินหายใจ และควรทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอด รวมทั้งเอกซเรย์ปอดด้วย เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น
๒. การตรวจเป็นระยะๆ ขณะทำงาน ควรเน้นที่ระบบหายใจ รวมทั้งทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอดและไต