ขอบเขตการกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดิน
สัตว์ทะเลหน้าดินจะพบได้ทั่วไป ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเล เขตเอสทูรี ลงไปจนถึงเขตทะเลลึก อาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลหน้าดิน ได้แก่ พวกสาหร่ายทะเล แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก และอินทรียสารในดิน สัตว์ทะเลหน้าดินที่อยู่บริเวณทะเลลึก จะได้อาหารจากพวกอินทรียสารจากบริเวณผิวน้ำ และในมวลน้ำ ที่ตกทับถมกันในทะเลลึก บริเวณชายฝั่งทะเล มักมีสัตว์ทะเลหน้าดินชุกชุมมากที่สุด ตลอดจนมีจำนวนมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะเขตน้ำขึ้นน้ำลง ทั้งนี้เนื่องจากเขตนี้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ตลอดจนอินทรียสารต่างๆ นอกจากนี้เขตนี้ยังมีลักษณะของพื้นท้องทะเลแตกต่างกัน เช่น เป็นแนวหินปะการัง พื้นหิน พื้นทราย หรือหาดเลน การไหลเวียนของกระแสน้ำ ตลอดจนคลื่นซัดสาด ช่วยให้มีการหมุนเวียนของอาหารตลอดเวลา ส่วนบริเวณทะเลลึกจะมีปริมาณ และชนิดของสัตว์ทะเลหน้าดินน้อยกว่า เนื่องจากปริมาณอาหารลดลง พบว่า สัตว์ทะเลหน้าดิน ร้อยละ ๘๐ อาศัยอยู่บริเวณไหล่ทวีป ซึ่งลึกไม่เกิน ๒๐๐ เมตร และในที่ลึกมากๆ ในทะเล จะมีสัตว์ทะเลหน้าดินอยู่เพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น โดยสรุป เราจะพบเขตที่มีการกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดิน สัมพันธ์กับลักษณะการกินอาหารของสัตว์กลุ่มนี้ด้วยคือ
๑. เขตชายฝั่งทะเลบริเวณน้ำขึ้นน้ำลง พบสัตว์ทะเลหน้าดินที่อยู่บนพื้นท้องทะเล หรือเกาะอยู่บนพื้นท้องทะเลมาก ซึ่งมีการปรับตัวตามลักษณะของพื้นท้องทะเล สัตว์เหล่านี้ มักจะดำรงชีพเป็นพวกที่กินพืชเนื่องจากมีความหลากหลายของพืชสีเขียว ที่เป็นอาหารมาก ในบริเวณนี้ เช่น สาหร่ายชนิดต่างๆ และหญ้าทะเล ตลอดจนแพลงก์ตอนพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบพวกที่กรองอาหารจาก น้ำและพวกที่ดำรงชีพเป็นพวกที่กินสัตว์อื่นเป็น อาหาร พวกที่กรองอาหารจากน้ำจะชอบอยู่ บริเวณน้ำใสและมีกระแสน้ำไหลเวียน เพื่อนำ อาหารใหม่มาทดแทนตลอดเวลา ในบริเวณชายฝั่ง ที่เป็นหาดเลนและที่ลุ่มน้ำเค็มเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยอินทรียสารจำนวนมาก จะพบพวกสัตว์ทะเล หน้าดินที่กินพวกอินทรียสารอาศัยอยู่มาก
๒. เขตไหล่ทวีป นับจากบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลง ไปจนถึงบริเวณที่ลึกประมาณ ๒๐๐-๒๕๐ เมตร นั้น เราจะพบสัตว์ทะเลที่ดำรงชีพเป็นพวกกรองอาหารจากมวลน้ำมากในบริเวณที่ตื้น ที่พบน้อยมาก ได้แก่ พวกที่กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะพวกที่กัดแทะสาหร่ายตามพื้นท้องทะเล ในที่ลึก จะพบสัตว์ทะเลหน้าดินที่ดำรงชีพเป็นพวกที่กินซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่กินอินทรียสาร และเป็นผู้ล่าด้วย
๓. เขตทะเลลึก จะพบสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขุดรูฝังตัวอยู่ในพื้นท้องทะเลเพิ่มขึ้น ทดแทนพวกที่อาศัยเกาะตามพื้นท้องทะเล นอกจากนี้ในบริเวณทะเลลึก มีปริมาณอินทรียสารน้อยมาก บริเวณผิวหน้าดินมักเป็นบริเวณที่มีการออกซิไดซ์ของออกซิเจน ที่มีความหนา ประมาณ ๑-๑๐ เมตร เป็นโคลนสีแดง และมีซากของพวกโปรโตซัว ที่มีเปลือกเป็นหินปูนและแก้ว ได้แก่ ฟอรามินิเฟอรา (foraminifera) และเรดิโอลาเรีย (radiolaria) สะสมอยู่ ดังนั้นลักษณะการกินอาหารที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสัตว์ทะเลหน้าดินในเขตนี้ คือการกรองอาหารจากมวลน้ำเหนือพื้นดิน และการกวาดอินทรียสารจากผิวหน้าดิน