เล่มที่ 22
สัตว์ทะเลหน้าดิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน

            ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สามารถแบ่งกลุ่มของสัตว์ทะเลหน้าดิน ตามลักษณะการกินอาหารของมัน แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน ได้แก่ พืชสีเขียว สาหร่ายทะเล หญ้าทะเล แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ และอินทรียสาร พวกที่กรองอาหารจากมวลน้ำจะมีอวัยวะที่ใช้กรองอาหาร พวกแพลงก์ตอน หรืออินทรียสารจากน้ำ เช่น รยางค์ส่วนหนวดหรือเหงือก พวกนี้บางครั้งจะปล่อยเมือกออกมา ช่วยในการกรองอาหารจากน้ำด้วย ต้นแบบของสัตว์ทะเลหน้าดินที่กรองอาหาร จากน้ำคือพวกฟองน้ำ พวกนี้เป็นต้นแบบของ สัตว์หลายเซลล์ที่ดึกดำบรรพ์ในทะเล พบรวมทั้ง สิ้นมากกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด ตัวของฟองน้ำจะเป็นรู พรุนเล็กๆ เต็มไปหมด ซึ่งน้ำสามารถซึมเข้าสู่ตัว และเข้าสู่โพรงใหญ่ภายในตัวของฟองน้ำได้ แพลงก์ตอนและอินทรียสารที่อยู่ในน้ำจะถูกกรอง และกักไว้ น้ำที่เหลือจะถูกขับออกมาสู่ภายนอก โดยผ่านทางช่องเปิดใหญ่ ฟองน้ำจะต้องอยู่ในที่ ที่มีการหมุนเวียนของน้ำตลอดเวลาทั้งนี้เพราะมัน อาศัยกรองอาหารจากน้ำนั่นเอง เซลล์แต่ละเซลล์ ที่ทำหน้าที่ในการกรองอาหารจะมีหนวดยาวหนึ่งเส้น เพื่อทำหน้าที่พัดโบกน้ำให้ผ่านภายในตัว และทำหน้าที่กรองอาหารจากน้ำ หอยสองฝา ก็จะใช้ส่วนเหงือกในการกรองแพลงก์ตอน หรืออินทรียสารจากน้ำ พวกเพรียงหิน ที่เกาะอยู่ตามหินหรือเสาในทะเลจะยื่นรยางค์ส่วนอกของมันออกมาจากเปลือกหนาของมัน เพื่อกรองอาหารจากน้ำ มันจะโบกรยางค์ส่วนอกนี้เป็นจังหวะ เพื่อจับอาหารที่มากับน้ำ


ลักษณะการกินอาหารของเพรียงหิน โดยยื่นรยางค์ส่วนอกเพื่อกรองแพลงก์ตอนจากน้ำ

            สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่ กินอินทรียสารเป็นอาหาร ก็มักจะมีกลยุทธ์ ในการกินอาหารได้หลากหลาย พวกแมลงสาบทะเล จะคืบคลานไปตามพื้น เพื่อกินซากพืชซากสัตว์เท่านั้น พวกหนอนถั่วที่พบฝังตัวอยู่ในดิน หรือฝังตัวอยู่ในปะการัง มีขนาดตั้งแต่ ๐.๒-๗.๒ เซนติเมตร จะมีลำตัวแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหัว จะมีรยางค์ส่วนหนวดยาวอยู่ล้อมรอบปาก และส่วนลำตัวจะเป็นทรงกระบอก ที่พองออกด้านท้ายลำตัว หนอนถั่วจะยื่นส่วนหัวออกมา เพื่อจับอาหาร เช่นเดียวกับพวกไส้เดือนทะเล พวก แฟน วอร์มส์ (fan worms) พวกนี้จะฝังตัวอยู่ในดิน หรือในปะการัง ยื่นแต่รยางค์ส่วนหนวดที่ยาวมากออกมากวาดอินทรียสารที่อยู่บนพื้นดิน กวาดรวบรวมในลักษณะเป็นก้อนอินทรียสารเล็กๆ และส่งเข้าปากอีกครั้งหนึ่ง หอยสองฝาบางชนิดจะมีท่อน้ำเข้า และท่อน้ำออกแยกจากกัน ท่อน้ำเข้าที่ยื่นยาวออก จะทำหน้าที่เสมือนเป็นท่อดูดของเครื่องดูดฝุ่น ดูดเอาอินทรียสารเข้าภายในตัว ปลิงทะเลกิน อินทรียสารที่อยู่ตามพื้นดินโดยใช้รยางค์ส่วนหนวด กวาดเข้าไปสู่ปาก ลำไส้ของปลิงทะเลจะมีความ ยาวมากขดไปมา การแยกอินทรียสารออกจาก ดินตะกอนทั่วไปจะเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ ส่วนดิน ทรายที่เหลือจะถูกขับออกมาในรูปมูลดินเป็น อุจจาระ

            สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งจะดำรงชีพเป็นผู้ล่าเหยื่อ นับตั้งแต่พวกไส้เดือนทะเล ที่มีขนาดเล็ก พวกนี้จะมีรยางค์สำหรับเคลื่อนที่ตามเหยื่ออย่างรวดเร็ว ที่ส่วนหัวจะมีตา ที่พัฒนาอย่างดี สำหรับมองเห็นเหยื่อ และมีเขี้ยวที่แข็งแรง สำหรับกัดฉีกเหยื่อ หนอนสายพานสามารถยืดตัวออกได้ยาวมาก อาศัยอยู่ในรูตามกอสาหร่าย หรือแทรกอยู่ตามซอกหินปะการัง มีรยางค์ส่วนหัวที่ใช้ยืดออกมาพันรอบเหยื่อ รยางค์ที่ใช้จับเหยื่อนี้ จะมีหนามแหลม หรือเข็มพิษที่ใช้แทงเข้าไปในเหยื่อ เหยื่อของหนอนสายพานอาจมีขนาดใหญ่กว่าตัวของมัน นอกจากนี้หนอนสายพานบางชนิด ยังปล่อยเมือกเหนียวออกมา ช่วยจับเหยื่อได้ หนอนสายพานมักเป็นผู้ล่าตอนกลางคืน มันจะกินหนอนชนิดอื่น ไส้เดือนทะเลครัสเตเชียน และปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร ดอกไม้ทะเลและ ปะการังก็เป็นผู้ล่าเช่นกัน สัตว์ทั้งสองชนิดเวลา ล่าเหยื่อจะอยู่กับที่ ยืดรยางค์ส่วนหนวดที่รายล้อม รอบปากออกมา ที่หนวดของมันจะมีเข็มพิษ สำหรับแทงเพื่อสยบเหยื่อเราเรียกว่า เนมาโตซิสต์ (nematocysts) เข็มพิษบางชนิดจะแทงเข้าไปใน ตัวเหยื่อทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตหยุดการเคลื่อนที่ และตายได้ในที่สุด บางชนิดจะมีลักษณะเป็น หนามแหลม บางชนิดจะเป็นใยเหนียวเพื่อพัน รอบเหยื่อ เมื่อเหยื่อถูกจับได้ดอกไม้ทะเลและ ปะการังจะใช้หนวดจับส่งเหยื่อเข้าปาก และเข้าสู่ทางเดินอาหารในที่สุด เหยื่อจะถูกย่อยในทางเดินอาหารนี้ ส่วนที่ย่อยไม่ได้ เช่น เปลือกแข็ง เป็นต้น จะถูกพ่นออกมาทางปาก ปลาดาว ก็เป็นผู้ล่าเหยื่อในทะเลที่น่าสนใจ มันจะใช้เท้าเล็กๆ บนแขนของมันจับเหยื่อ ปลาดาวสามารถเปิดฝาของหอยสองฝา ให้แยกจากกันได้ เมื่อเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฝาเปลือกของหอยสองฝาแล้ว ปลาดาวจะยื่นส่วนของกระเพาะอาหารของมันออก มาสัมผัสกับเนื้อเยื่อของหอย และทำการย่อยกิน เนื้อหอยสองฝาทันที พวกหอยกระแจะหรือหอย มะระส่วนมากชอบเกาะบนก้อนหินซึ่งมีเพรียง และหอยนางรมติดอยู่ตามชายฝั่งช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ระดับกลาง อาหารของหอยกระแจะในธรรมชาติ คือ เพรียงหิน หอยแมลงภู่ และหอยนางรม หอยกระแจะ เมื่อพบอาหารจะใช้แผ่นเท้าเกาะคลุมบนเปลือกของเหยื่อ แล้วใช้ฟันลิ้นเจาะเปลือกเหยื่อ จนเป็นรู จากนั้นก็ใช้อวัยวะที่คล้ายงวงเรียกว่า โพรบอสซิส (proboscis) ดูดอวัยวะภายในของเหยื่อกิน พบว่า หอยกระแจะส่วนใหญ่จะเจาะกินหอยนางรมวัยอ่อน หรือตัวเล็ก ที่แรกลงเกาะ ปูทะเล ที่เรารู้จักกันดีเป็นสัตว์ที่ชอบหากินในเวลากลางคืน ปูทะเลจัดเป็นผู้ล่าที่สำคัญของสัตว์หน้าดินชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหน้าดิน ที่เคลื่อนที่ช้า อาหารหลักในบริเวณป่าชายเลนที่ปูทะเลชอบเข้ามาอาศัย ได้แก่ พวกปูแสม ปูก้ามดาบ พวกปลาขนาดเล็ก หอยฝาเดียว เช่น พวกหอยขี้นก หอยขี้กา ปูทะเลชอบไล่จับกินอาหารที่เคลื่อนที่มากกว่าพวกที่อยู่กับที่ การกินอาหารของปูทะเล จะขึ้นกับชนิดของอาหาร ปูทะเลจะใช้ส่วนปลายของขาเดิน ในการสำรวจเหยื่อ เมื่อส่วนปลายของขาเดิน สัมผัสกับเหยื่อแล้ว ปูทะเลจะหยุด และใช้ก้ามจับเหยื่อป้อนเข้าปาก ในกรณีที่เหยื่อมีขนาดเล็ก ปูทะเลจะใช้ส่วนรยางค์แมกซิลลิปเพด (maxil- liped) คู่ที่ ๓ ในการจับประคองเหยื่อ แล้วใช้ฟัน ที่แข็งแรงคือ แมนดิเบิล (mandible) กัดเหยื่อเป็นชิ้นเล็กขนาด ๓-๔ มิลลิเมตร หนาประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร ก่อนที่จะทำการกลืนเข้าสู่กระเพาะอาหาร เพื่อย่อยต่อไป