การเคลื่อนที่ของสัตว์ทะเลหน้าดิน
ทากเปลือย
ภาพโดย MARK STRICKLAND
หนอนฉัตร
ภาพโดย MARK STRICKLAND
การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนไหวของสัตว์ทะเลหน้าดิน มีความสำคัญในการหาอาหาร การหลบหลีกศัตรู และการสืบพันธุ์ ทั้งในการหาคู่ หรือการอพยพ เพื่อวางไข่ และหาที่เลี้ยงตัวอ่อน นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดิน การเคลื่อนที่อาจหมายถึงการ เคลื่อนย้ายตัวของสัตว์จากที่ใดที่หนึ่งไปยังอีกที่ หนึ่งหรือการเคลื่อนไหวหรือขยับอวัยวะเพียงบาง ส่วนเท่านั้น กลไกที่สำคัญสองประการในการ เคลื่อนที่ของสัตว์ทะเลหน้าดินคือการเปลี่ยนแปลง รูปร่างของลำตัวในขณะเคลื่อนที่ และการใช้ รยางค์หรืออวัยวะพิเศษในการเคลื่อนที่ซึ่งต้อง อาศัยการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบ ประสาท สัตว์ทะเลหน้าดินจะมีช่วงชีวิตหนึ่งที่ สามารถเคลื่อนที่ได้ว่ายน้ำเป็นอิสระและดำรงชีพ เป็นแพลงก์ตอน แต่ช่วงที่เป็นตัวแก่ส่วนใหญ่จะ เกาะติดอยู่กับที่เคลื่อนไหวเพียงอวัยวะบางส่วน เพื่อหาอาหารหรือมีการเคลื่อนที่ในระยะทางใกล้ๆ เพื่อหาอาหาร
ในพวกโปรโตซัวจะเคลื่อนที่โดยการมีเท้าเทียมคือ ซูโดโพเดีย (pseudopodia) ซึ่งมีหลายลักษณะ เท้าเทียมอาจมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว หรือเป็นแท่งแข็ง หรืออาจเป็นก้อน การเคลื่อนที่เกิดจากการยืดหดตัวของเท้าเทียมนั่นเอง และเท้าเทียม อาจทำหน้าที่ในการจับอาหาร พวกหนอน และพวกไฮดราที่มีขนาดเล็ก ก็เคลื่อนที่ โดยอาศัยการยื่นอวัยวะบางส่วนไปข้างหน้า และดึงส่วนลำตัวให้เคลื่อนที่ตาม ไฮดรา จะมีการเขยิบส่วนแผ่นเท้า ที่ใช้ยึดเกาะติดกับพื้น โดยด้านใดด้านหนึ่ง จะยืดหรือโป่งออก และด้านตรงข้าม จะบีบตัวตาม ดันให้ลำตัวเขยิบไปทางด้านที่ยืดออก ไฮดราสามารถเคลื่อนที่ได้ ในอัตราความเร็ว ประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตรต่อชั่วโมง ไส้เดือนทะเลหลายชนิด จะเคลื่อนที่ โดยการยืด และหดส่วนหัวไปข้างหน้า และดึงส่วนลำตัวตามไปอีกที แต่ที่เราเห็นอยู่เสมอคือ การยืดและหดลำตัวเป็นจังหวะ โดยอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น การว่ายน้ำของไส้เดือนทะเล พวกแม่เพรียง การเลื้อยหรือคืบคลานของไส้เดือนตัวกลม และการว่ายน้ำของพวกหอยสองฝา โดยเฉพาะพวกหอยพัด จะอาศัยการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ ที่ใช้ยึดฝาทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน ทำให้มีน้ำพุ่งออกมาเป็นสายช่วยดันตัวมันเองไปข้างหน้า ฝาหอยจะปิดเปิดขยับเป็นจังหวะ ในขณะเคลื่อนที่ ปลาหมึกก็เคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกัน โดยอาศัยแรงดันน้ำที่พ่นออกมา
สัตว์ทะเลหน้าดินหลายชนิด จะมีอวัยวะเฉพาะที่ใช้ในการเคลื่อนที่ สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนที่แทรกตัวไปตามเม็ดกรวดทราย เพื่อหาอาหาร หรือหลบหลีกสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ โดยการพัดโบกของขนอ่อนรอบตัว หรือใช้รยางค์ช่วยในการเคลื่อนที่ โดยเฉพาะพวกไส้เดือนทะเลที่ดำรงชีพเป็นผู้ล่านั้น จะมีรยางค์หนึ่งคู่ ในแต่ละปล้อง ใช้ในการเคลื่อนที่ประกอบกับการยืดและหดตัวมันเป็นจังหวะ ช่วยให้มันเคลื่อนที่ตามเหยื่อได้เร็วมาก พวกปลาดาวจะมีปุ่มเท้าเล็กๆ ที่ยืดหดตัวได้ ช่วยในการเคลื่อนที่ ปุ่มเท้านี้จะอยู่บริเวณแขนของปลาดาว เท้าเหล่านี้ จะใช้ยึดเกาะพื้นหรือเหยื่อได้อย่างแน่นเหนียว
สัตว์ทะเลหน้าดินพวกครัสเตเชียนโดยเฉพาะพวกปู จะแสดงวิวัฒนาการของสัตว์น้ำเดิม และพยายามขึ้นมาอยู่บนบก เพื่อเพิ่มขอบเขตการกระจายที่อยู่อาศัย ส่วนขาของพวกปู จะเป็นข้อและปล้อง ตลอดจนมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ซึ่งช่วยให้เคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว โดยเฉพาะมีแรงกดบน พื้นดินเพื่อยกตัวมันให้พ้นพื้นดินและเคลื่อนที่ไป ข้างหน้า ปูจะมีการเคลื่อนที่ได้หลายแบบ เช่น การเดิน วิ่งหรือคืบคลานไป พวกปูที่เคลื่อนที่ช้า มักจะป้องกันตัวมันเองจากศัตรู โดยการมีเปลือก กระดองหนาหรือมีก้ามปูที่แข็งแรง พวกปูลมและ ปูแสมจะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วโดยการวิ่งหรือว่ายน้ำ พวกนี้สามารถวิ่งไปข้างหน้าหรือวิ่งถอยหลังหรือ วิ่งตามข้างได้อย่างรวดเร็ว ปูแสมสามารถไต่ขึ้น ลงตามกิ่งไม้ต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว ขาของปู พวกนี้มีลักษณะเรียวยาว ส่วนปลายมีลักษณะเป็น ปลายแหลมหรือตาขอสำหรับใช้จิกลงบนพื้นเพื่อ ช่วยในการพยุงตัว ปูม้าและปูทะเลนอกจากจะวิ่ง ได้คล่องบนบกแล้วยังสามารถว่ายน้ำได้ดีและว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกลๆ ขาคู่หลังของปูเหล่านี้ จะไม่มีลักษณะเรียวยาวเหมือนคู่อื่น หากแต่จะมีลักษณะแบนกว้าง คล้ายใบพาย เพื่อช่วยในการว่ายน้ำ พวกกุ้งที่ว่ายน้ำได้ดี จะมีรยางค์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เช่นกัน เพื่อช่วยในการว่ายน้ำ