การหายใจของสัตว์ทะเลหน้าดิน
สัตว์ทะเลหน้าดินเกือบทุกชนิด ต้องการออกซิเจนในกระบวนการเมแทบอลิซึม ความต้องการออกซิเจนของสัตว์ทะเลหน้าดินแต่ละชนิด วัดได้จากอัตราการหายใจ ซึ่งวัดในรูปปริมาณออกซิเจน ที่ใช้บริโภค คิดเป็นมิลลิเมตร ที่ใช้ต่อหน่วยน้ำหนักต่อหน่วยเวลา (ml/g/hr) ตามปกติสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ จะมีความต้องการบริโภคออกซิเจนมากกว่าสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ในกลุ่มสัตว์ชนิดเดียวกัน นอกจากนี้แล้วสัตว์ทะเลที่เคลื่อนที่เร็วหรือมีการ ว่ายน้ำตลอดเวลาจะใช้ออกซิเจนมากกว่าพวกที่อยู่ กับที่ เช่น พวกฟองน้ำ เพรียงหัวหอมและหอย สองฝาส่วนใหญ่จะใช้ออกซิเจนน้อยกว่าพวกกุ้ง และปู นอกจากนี้ยังน้อยกว่าปลาหมึกและปลา ชนิดต่างๆ ช่วงอายุต่างๆ ที่เป็นตัวอ่อนและตัว แก่ของสัตว์ทะเลหน้าดินก็จะมีอิทธิพลที่ทำให้ ความต้องการในการบริโภคออกซิเจนต่างกัน
สัตว์ทะเลหน้าดินส่วนใหญ่ จะคุ้นเคยกับสภาพที่มีออกซิเจนต่ำ ในแหล่งที่อยู่อาศัย สัตว์เหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพออกซิเจนต่ำได้หลายวิธี เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการหายใจ โดยใช้ออกซิเจน (aerobic respiration) ไปเป็นการหายใจ โดยไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic respiration) สัตว์ทะเลที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว จะสามารถอยู่ได้ดีในเขตน้ำขึ้นน้ำลง หรือในบริเวณ หาดเลน เช่น หอยนางรม ตามปกติเมื่อจมอยู่ใต้ น้ำจะใช้ส่วนเหงือกในการหายใจ มีการแลก เปลี่ยนก๊าซบริเวณเหงือก ในขณะที่น้ำลงตัวมัน โผล่พ้นน้ำหรือเมื่อมันเผชิญกับสภาพน้ำเน่าเสีย หอยนางรมจะปิดฝาแน่น และหายใจ โดยไม่ใช้ออกซิเจน มันจะใช้อาหารที่สะสมไว้ในรูปไขมัน และไกลโคเจน เป็นแหล่งพลังงานแทน ปูก้ามดาบก็เช่นเดียวกัน เมื่อขึ้นจากรูมาหากินในยามน้ำลง มันจะเปลี่ยนจากการหายใจ โดยไม่ใช้ออกซิเจนมาเป็นแบบที่ใช้ออกซิเจน เราพบว่า หอยแครง จะเผยอเปลือกออกจากกัน เวลาที่โผล่พ้นน้ำ และจะยื่นส่วนเท้าสีแดงคล้ายแลบลิ้นออกมา การที่หอยแครงทำเช่นนี้ เป็นการฮุบอากาศ หรือออกซิเจนจากอากาศไปใช้โดยตรง แทนที่จะใช้ออกซิเจนจากมวลน้ำ โดยผ่านส่วนเหงือกเหมือนเคย ในยามที่จมอยู่ใต้น้ำ นอกจากนี้สัตว์ทะเลหน้าดิน โดยเฉพาะในเขตน้ำกร่อย จะมีส่วนประกอบของเลือดเป็นเม็ดเลือด (respiratory pigments) ที่แตกต่างกัน เม็ดเลือดเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพสูง ในการจับหรือเก็บกักโมเลกุลของออกซิเจนได้ดี ในสัตว์บางชนิด เช่น ปูหลายชนิด จะมีการสงวนออกซิเจนไว้ในแอ่งน้ำที่อยู่ภายในรูของมัน เป็นเหมือนอ่างเก็บกักออกซิเจนไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลน