เล่มที่ 22
สัตว์ทะเลหน้าดิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันตัวของสัตว์ทะเลหน้าดิน

            สัตว์ทะเลหน้าดินต้องมีกลยุทธ์ในการป้องกันตัว เนื่องจากพวกมันมักฝังตัวอยู่กับที่ หรือเคลื่อนที่หลบหนีศัตรูได้ช้า ดังนั้นเพื่อการอยู่รอด มันจึงต้องมีกลยุทธ์สำหรับป้องกันตัว เช่น มีสารพิษ การพรางตัว และมีอวัยวะโดยเฉพาะที่ใช้ในการป้องกันตัว ในพวกโปรโตซัว ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวนั้นบางชนิดจะมีเข็มพิษ ที่มีลักษณะเป็นแท่ง หรือเป็นทรงรูปไข่ เรียงตัวตั้งฉากกับผนังลำตัว เรียกว่า ไทรโคซิสต์ (Trichocysts) เข็มพิษนี้ จะมีทั้งแบบที่มีพิษ และไม่มีพิษ เวลาโปรโตซัวปล่อยเข็มพิษออกมาป้องกันตัว จะมีลักษณะเป็นเส้นใยพันกันไปมา เข็มพิษที่มีพิษนั้น จะใช้สำหรับจับเหยื่อเป็นอาหาร และใช้ในการป้องกันตัว ส่วนแบบที่ไม่มีพิษ จะใช้สำหรับยึดตัวโปรโตซัวกับพื้น ในขณะกินอาหาร ฟองน้ำเป็นสัตว์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เกาะติดอยู่กับที่ ซึ่งง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำชนิดอื่น ฟองน้ำมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย สารพวกหินปูนหรือแก้วกับเส้นใยโปรตีน ซึ่งช่วยในการพยุงโครงสร้าง หรือรูปร่างของฟองน้ำ สารพวกหินปูนหรือแก้ว ที่พบในฟองน้ำจะมีรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน เป็นแท่งคล้ายเข็ม หรือมีลักษณะเป็นแฉก หรือเป็นรูปดาว หรืออาจประสานกันเป็นโครงสร้างที่สวยงาม เช่น ในฟองน้ำแก้ว แท่งเข็มเหล่านี้ ช่วยป้องกันตัวฟองน้ำด้วย เราเรียกว่า สปิคูล (Spicules)


การพรางตัวของกุ้งพยาบาล
ภาพโดย MARK STRICKLAND

            พวกดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน มีเข็มพิษที่ใช้ป้องกันตัว แมงกะพรุนบางชนิด เช่น แมงกะพรุนไฟ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โสร่ง ตามภาษาปักษ์ใต้นั้น เวลาที่เราไปโดนมัน จะมีอาการแพ้ คล้ายไฟลวกมือ บางคนแพ้มาก อาจถึงแก่ชีวิต สัตว์กลุ่มนี้ มีเข็มพิษที่เรียกว่า เนมาโตซิสต์ (nematocyst) อยู่ทั่วตัว โดยเฉพาะรยางค์ส่วนหนวด มันใช้เข็มพิษเหล่านี้ ในการล่าเหยื่อ และป้องกันตัว ดอกไม้ทะเล ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน จะจับเหยื่อ ซึ่งอาจเป็นปลาและสัตว์น้ำตัวเล็กๆ โดยใช้เข็มพิษเหล่านี้ แต่ที่น่าประหลาดคือ เราพบปลาการ์ตูนบางตัวว่ายวนเวียนอยู่ระหว่างหนวดของดอกไม้ทะเล โดยที่เข็มพิษไม่ทำอันตรายต่อมัน ลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบนี้ จะพบมากในบริเวณแนวปะการัง ปลาการ์ตูนจะได้ประโยชน์จากการที่อยู่ร่วมกัน โดยการที่ใช้เป็นที่หลบศัตรู โดยที่ศัตรูของมัน จะถูกเข็มพิษจากดอกไม้ทะเล ถ้าว่ายตามมันมา การที่ดอกไม้ทะเล และปลาการ์ตูนอยู่ร่วมกันนั้น เป็นการเลือกอยู่รวมกันอย่างเฉพาะเจาะจง และต้องมีการปรับตัว ซึ่งใช้เวลาพอสมควร ในระยะแรก เมื่อปลาการ์ตูนตัดสินใจเลือกจะอยู่กับดอกไม้ทะเลตัวนี้แล้ว มันจะว่ายวนเวียนระหว่างหนวดของดอกไม้ทะเล เมื่อสัมผัสกับหนวดของดอกไม้ทะเล ก็จะโดนเข็มพิษ มันก็จะว่ายหนีไป แล้วพยายามปรับตัว โดยมีการสร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนมีการปล่อยเมือกออกมาปกคลุม ซึ่งช่วงเวลานี้ อาจนานเป็นเวลาหลายวัน กว่าที่ปลาการ์ตูนจะสามารถว่ายไปมาระหว่างหนวดของดอกไม้ทะเล โดยไม่ได้รับอันตราย ถ้าปลาการ์ตูนตัวนี้ว่ายน้ำ ไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลตัวอื่นก็จะโดนเข็มพิษ ทำร้ายและถูกจับกินในที่สุด ดังนั้นปลาการ์ตูนจะ ต้องสามารถแยกดอกไม้ทะเลที่เป็นที่อยู่ของมัน ออกจากดอกไม้ทะเลตัวอื่นได้เพื่อการอยู่รอดของมัน


แมงกะพรุนไฟมีเข็มพิษที่ใช้ป้องกันตัว

            พวกปะการังที่จัดว่า เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับดอกไม้ทะเล นอกจากจะมีเข็มพิษป้องกันตัว เช่นเดียวกันแล้ว มันยังมีโครงสร้างหินปูน ที่แข็งแรง ช่วยป้องกันตัวมันอีกที แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปลาบางชนิด เช่น ปลานกแก้ว ที่มีจงอยปากแข็งแรง สามารถขบกัดโครงสร้างหินปูนได้ และกินเฉพาะตัวของปะการัง พวกปะการังอ่อน หรือปะการังหนัง เป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น พวกหอยเบี้ย ปลาดาวหนามและปลาบางชนิด และนอกจากมันจะมีโครงสร้างที่เป็นแท่งเข็มเช่น เดียวกับสปิคูลในฟองน้ำแล้ว มันยังมีสารเคมี พวกเทอร์พีน (terpenes) อยู่ภายในเนื้อเยื่อ สารนี้จะมีพิษ ทำให้ปลาบางชนิดไม่ชอบกินปะการังอ่อนเป็นอาหาร นอกจากนี้สารเคมีชนิดนี้ ยังช่วยให้ปะการังอ่อนสามารถแข่งขัน หรือแก่งแย่งพื้นที่ ยึดเกาะแข่งกับพวกปะการังได้ โดยที่มันจะปล่อยสารเคมีนี้ออกมา เมื่อปะการังที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสะสมสารนี้ ก็จะทำให้อัตราการเจริญลดลง และตายไปในที่สุด ปะการังอ่อน ก็จะสามารถยึดครองพื้นที่ และเจริญแทนที่ได้


หอยเบี้ย กินปะการังอ่อนเป็นอาหาร
ภาพโดย MARK STRICKLAND

            สัตว์ทะเลหลายชนิด จะมีอวัยวะที่ใช้ป้องกันตัวจากศัตรูโดยเฉพาะ เช่น ลักษณะก้ามใหญ่ ที่พบในปูหลายชนิด แมงดาทะเล นอกจากจะมีกระดอง ที่แข็งแรงปกคลุมตัวทั้งหมดแล้ว มันยังมีส่วนหางที่เรียวแหลม แข็งแรง สำหรับป้องกันตัว และใช้ในการเคลื่อนที่ พวกครัสเตเชียนส่วนใหญ่ จะมีกระดองที่แข็งแรงสำหรับป้องกันตัวมันเอง จากศัตรู จากสภาวะการสูญเสียน้ำหรือการเสียดสี กับพื้นดิน ปูเสฉวนนั้นพบว่าจะอาศัยอยู่ภายใน เปลือกหอยชนิดต่างๆ หรือแม้แต่ในลูกมะพร้าว ปูเสฉวน ต้องมีการเปลี่ยนขนาดของเปลือกหอยตลอดเวลา เพื่อให้รับกับขนาดของตัวมันเอง ที่โตขึ้น การที่ปูเสฉวนจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอย ก็เนื่องจากส่วนอกของมันไม่แข็งมาก มีสารพวกหินปูนสะสมประปราย และสองปล้องสุดท้าย เป็นอิสระจากส่วนอื่น ส่วนท้องอ่อนนุ่มมีลักษณะ เป็นถุงบางๆ และโค้งงอ ผนังส่วนท้องบางมากจน มองเห็นอวัยวะภายใน รยางค์ส่วนท้องหดหายไป ดังนั้นเปลือกหอยจะช่วยป้องกันตัวมันจากศัตรู และการเสียดสีของเม็ดทราย ในขณะที่มันเคลื่อนที่หาอาหาร เปลือกหอย ก็เช่นเดียวกับกระดองในครัสเตเชียน ที่ทำหน้าที่ช่วยป้องกันตัวหอยจากศัตรู และสภาวะการสูญเสียน้ำ ตลอดจนความเค็ม ที่ไม่เหมาะสม หอยเต้าปูน ที่มีสีสันลวดลายสวยงาม มักเป็นที่นิยม สำหรับพวกที่สะสมเปลือกหอยนั้น มันจะมีต่อมพิษในส่วนฟันของมันด้วย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจับมันขึ้นมา ปลิงทะเล ที่เห็นมีลำตัวอ่อนนุ่มนั้น มันจะมีกลยุทธ์ ในการป้องกันตัวได้สองลักษณะ คือ ปลิงทะเลบางชนิด เมื่อเราไม่จับตัวมัน มันจะปล่อยทางเดินอาหารบางส่วนออกมา อาการดังกล่าวเราเรียกว่า สำรอก การสำรอกของปลิงทะเล จะทำให้ศัตรูตกใจ และหยุดศัตรูได้ระยะหนึ่ง โดยปลิงทะเลจะใช้ช่วงเวลานั้น หนีไปได้ หรือทำให้ศัตรูไม่อยากจับมันกินเป็นอาหาร การป้องกันตัวอีกแบบหนึ่งของปลิงทะเล ก็คล้ายคลึงกัน โดยที่มันพ่นสายใยเหนียวออกมาพันมือเรา เมื่อเราไปจับตัวมัน หรือพันตัวปลาที่เป็นศัตรูของมันในขณะที่ถูกไล่ล่า สายใยเหนียวนี้ เกิดจากการที่ปลิงทะเล ปล่อยอวัยวะที่ใช้ป้องกันตัวมัน ที่เรียกว่า อวัยวะคูเวอเรียน (cuverian organ) ออกมา อวัยวะนี้อยู่บริเวณช่องทวารหนักของปลิงทะเล เมื่อสัมผัสกับน้ำทะเล มันจะมีลักษณะเป็นเส้นใยเหนียว ทั้งอวัยวะคูเวอเรียน และทางเดินอาหารบางส่วน เมื่อขาดหลุดจากตัวปลิงแล้ว มันสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนได้ ในเวลาที่ปลาหมึกหลบหนีศัตรู มันจะพ่นหมึกออกมา ทำให้ศัตรูมองไม่เห็นตัวมันชัดเจน เพื่อให้มันสามารถหลบหนีไปได้ทัน เป็นกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับปลิงทะเล


ปลานกแก้วมีจงอยปากที่แข็งแรง
ภาพโดย ASHLEY BOYD

            การพรางตัว ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่นิยมใช้มากในกลุ่มสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น พวกทากทะเล มักจะมีสีตัวกลืนไปกับบริเวณพื้นดิน ที่มันอาศัยอยู่ ทากทะเลที่อยู่ในป่าชายเลน จะมีลักษณะผนังลำตัวหนา และสีเหมือนโคลนกลืนไปกับพื้นดิน พวกสัตว์ทะเลกลุ่มนี้ มักพรางตัว โดยให้มีสีตัวกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ที่มันอาศัยอยู่ หรือมีสีสันบนเปลือก ให้กลมกลืน ปูแมงมุมเป็นปูชนิดหนึ่ง ที่มีการพรางตัวได้ดี โดยการที่มันสะสมฟองน้ำ และสาหร่ายไว้บนกระดองของมัน บนกระดองของปู จะมีหนามแหลมเล็กเรียงตัวกัน ช่วยยึดฟองน้ำ และสาหร่ายไว้แน่น นอกจากนี้ฟองน้ำ และสาหร่าย สามารถเจริญบนกระดองปูได้ด้วย กลายเป็นพุ่มที่หนาแน่น ช่วยพรางตัวให้แก่ปูได้เป็นอย่างดี


ทากทะเล