เล่มที่ 22
สัตว์ทะเลหน้าดิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การปรับตัวต่ออุณหภูมิและสภาวะการสูญเสียน้ำจากตัวสัตว์ทะเลหน้าดิน


หอยกลีบมะเฟือง
ภาพโดย MARK STRICKLAND


ปลาไหลมอเรย์ตัวแบน ภาพโดย นัท สุมนเตมีย์

            อุณหภูมิเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก ประการหนึ่ง และมีการศึกษาการตอบสนองของ สัตว์ทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากที่สุด อิทธิพลของอุณหภูมิจะเห็นได้ชัดเจนจากขอบเขต การกระจายของสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ การกระจายตามภูมิศาสตร์หรือแม้แต่การกระจาย ตามหาดหิน หาดทราย และหาดเลน จะขึ้นกับ ความทนทานของสัตว์ทะเลต่อการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิและสภาวะการสูญเสียน้ำจากตัว สัตว์ ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมและนกจัดเป็นสัตว์เลือดอุ่น พวกนี้สามารถรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายให้ คงที่ ซึ่งจะต่างจากพวกปลาและสัตว์ทะเลที่ไม่มี กระดูกสันหลัง สัตว์กลุ่มหลังจัดเป็นพวกสัตว์ เลือดเย็น พวกนี้โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิของร่างกาย เท่ากับอุณหภูมิของน้ำทะเลภายนอก การเปลี่ยน- แปลงอุณหภูมิจะส่งผลต่ออัตราเมแทบอลิซึมของร่างกาย ตามปกติถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ประมาณ ๑๐ องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราเมแทบอลิซึม หรือเราอาจวัดจากอัตราการหายใจของสัตว์ จะเพิ่มขึ้น ๒-๓ เท่า ดังนั้นถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้ร่างกายของสัตว์ทะเลต้องการพลังงานมากขึ้น เพื่อให้เป็นสัดส่วนกับอัตราการหายใจที่เพิ่มขึ้น มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น กุ้ง หอย ปู และปลา สามารถเคลื่อนที่หนีสภาพอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในช่วงน้ำลง ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง หอยแมลงภู่ที่เกาะอยู่ตามหาดหินจ ะปิดฝาของมันแน่น เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากตัว สัตว์บางชนิด เช่น ปูตัวเล็กๆ หอยฝาเดียว และไส้เดือนทะเล อาจเคลื่อนตัวไปอยู่ในกอสาหร่าย หรืออาศัยแทรกตัวอยู่ในกลุ่มหอยแมลงภู่ หรืออยู่ตามซอกหิน ดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อช่วยลดสภาวะการสูญเสียน้ำจากตัว หอยฝาเดียว ที่อยู่บริเวณหาดหินที่รับแสงแดดโดยตรง มักมีเปลือกหนา และรวมกลุ่มกัน โดยมีการปล่อยเมือกออกมา นอกจากนี้สีของตัวสัตว์เอง อาจช่วยในการลดอิทธิพลของความร้อน พื้นผิวที่เป็นสีเข้ม  เช่น หินภูเขาไฟ จะดูดซึมความร้อนได้มากกว่า และเร็วกว่า พื้นผิวสีอ่อน เช่น บริเวณหินทราย ดังนั้นสัตว์อาจเลือกที่จะมีสีอ่อน เพื่อช่วยในการกระจายความร้อน มิใช่เพียงแต่สัตว์ทะเลหน้าดินที่อยู่บริเวณหาดหินเท่านั้น ที่ประสบปัญหาเรื่องอุณหภูมิสูง และสภาวะการสูญเสียน้ำออกจากตัว สัตว์ทะเลหน้าดินที่อยู่ตามหาดทราย และหาดเลน ก็เช่นกัน สัตว์กลุ่มนี้ เช่น ไส้เดือนทะเล หอยสองฝา ปลิงทะเล หรือพวกหนอนถั่ว จะฝังตัวลึกลงไปในดินทรายที่อ่อนนุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงที่ผิวทราย พวกปูลม และปูก้ามดาบ จะขึ้นมาจากรู เพื่อหาอาหารเป็นครั้งคราว เมื่ออากาศร้อนมาก มันจะวิ่งลงรู เพื่อจุ่มตัวเองกับแอ่งน้ำใต้ดินในรูของมัน เพื่อช่วยลดความร้อนในตัวมัน และป้องกันการสูญเสียน้ำจากตัว นอกจากนี้ที่กระดองของพวกปู ยังมีกลุ่มเม็ดสี ที่มีการกระจายตัว และรวมตัว เพื่อปรับสีของกระดองให้เข้มขึ้น หรือจางลง เพื่อตอบสนองต่อปริมาณแสงแดด และความร้อน

            อุณหภูมิยังมีความสำคัญต่อการเติบโต และการสืบพันธุ์ในสัตว์ทะเลหน้าดิน สัตว์ทะเลหน้าดินมักเติบโต และสืบพันธุ์ในช่วงอุณหภูมิที่แคบกว่าช่วงอุณหภูมิ ที่มันดำรงชีพอยู่ได้ อุณหภูมิจะเป็นตัวกำหนดช่วงเวลาสืบพันธุ์ และการวางไข่ของสัตว์ทะเล ตลอดจนวิธีการสืบพันธุ์ สัตว์ทะเลหน้าดินจะปล่อยไข่และสเปิร์มออกมา ในแหล่งน้ำ เมื่อถึงอุณหภูมิที่พอเหมาะเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการ กระตุ้นให้หอยสองฝา เช่น หอยนางรม ปล่อยไข่ และสเปิร์มออกมาเพื่อผสมเทียมโดยการเปลี่ยน อุณหภูมิของน้ำอย่างฉับพลัน อุณหภูมิยังมีผลต่อ ระยะเวลาในการพัฒนาของไข่และตัวอ่อนอีกด้วย