องค์ต้นแบบของศิลปินแห่งชาติ
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นวาระฉลองวันพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะทั้ง ๓ สาขา คือ
๑) สาขาทัศนศิลป์ ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ทรงแกะหน้าหุ่นใหญ่ไว้คู่หนึ่ง ชื่อ "พระยารักใหญ่ พระยารักน้อย" และร่วมแกะสลักบานประตูพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
๒) สาขาศิลปะการแสดง ทรงซอสามสายคู่พระหัตถ์ชื่อ "สายฟ้าฟาด" บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ บุหลันลอยเลื่อน ให้เป็นเพลงชั้นเยี่ยม
๓) สาขาวรรณศิลป์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ๗ เรื่อง โดยเฉพาะบทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็นยอดของบทละครรำ เนื่องจากเป็นเรื่องที่แต่งดีทั้งบทกลอนและกระบวนที่จะเล่นละคร

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับความสำคัญของงานด้านวิทยาศาสตร์กับงานศิลปะ
พร้อมแบบจำลองโล่อัครศิลปิน และความหมายของคำว่า "อัครศิลปิน" จัดแสดงอยู่ภายในห้องอัครศิลปิน ณ หออัครศิลปิน
ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรีสากล วรรณกรรม รวมทั้งการถ่ายภาพ ทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการศิลปะ เช่น ทรงส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนทรงอุปถัมภ์ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน งานศิลปะของพระองค์เป็นสื่อเชื่อมความเข้าใจเสริมสร้างความสัมพันธ์ และนำพาความสุขมาสู่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ ในวาระนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศิลปิน ที่ได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาท โดยสรุปดังนี้
"คนที่ทำงานศิลปะก็ต้องรู้เรื่องวิชาการและหลักทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นแบบแผนต่างๆ ต่อไป งานวิชาการก็ทำนองเดียวกันจะต้องรู้หลักทางวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีใจทางศิลปะ จึงจะสามารถพัฒนางานนั้นให้ดีไปได้ และในทางวิทยาศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน ต้องมีความรู้ทางวิชาการและต้องมีใจรัก ตั้งใจทำอะไรให้ดีขึ้น สรุปว่าทั้งสามส่วนเป็นความสำคัญซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องกัน งานศิลปะมีความสำคัญต่องานทั้งปวง ศิลปินเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ สมควรจะยกย่องเชิดชูเกียรติต่อไป"
ต่อมาในวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน" แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นเลิศทางศิลปะ ประเสริฐกว่าศิลปินทั้งปวง ทรงเป็นเมธีวัฒนธรรม และผู้มีพระมหากรุณาธิคุณต่องานศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง ดังปรากฏในการทรงระนาดและซอด้วง ทรงพระราชนิพนธ์บทกวี บทเพลง เรื่องสั้น สารคดี ภาพถ่ายและภาพวาดฝีพระหัตถ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับพระราชสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน"
โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงยกย่องและทรงเห็นความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ดังจะเห็นได้จาก การเสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพระราชดำรัสว่า
"ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมายแสดงอารยธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ผลงานของท่านเหล่านี้นับวันจะสูญหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องศึกษาผลงานของทุกท่านเหล่านี้ แล้วจัดทำเนียบขึ้นบัญชีอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและรักษาไว้ เป็นสมบัติของชาติ โดยส่วนรวมต่อไป"
พระผู้เป็นพระปฐมบรมศิลปิน อัครศิลปิน และวิศิษฏศิลปิน ทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเป็นองค์ต้นแบบของศิลปินแห่งชาติ