เล่มที่ 37
ศิลปินแห่งชาติ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กิจกรรมการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติและถ่ายทอดผลงานศิลปะ

            กิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติและถ่ายทอดผลงานของศิลปินแห่งชาติ จัดขึ้น เมื่อศิลปินแห่งชาติได้เข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแล้ว โดยมีกิจกรรม เช่น จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดี จัดงานนิทรรศการเชิดชูเกียรติ และจัดการแสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ จัดทำฐานข้อมูลศิลปินแห่งชาติ และเผยแพร่ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของศิลปินแห่งชาติ โดยศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติต้องมอบผลงานของตนเองให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมไม่น้อยกว่า ๑ ผลงาน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นบุคคล วัตถุ สิ่งของ และสถานที่ ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปินแห่งชาติ ณ หออัครศิลปิน โครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้


"หอศิลป์เอมเจริญ" บ้านนายประเทือง  เอมเจริญ ตำบลสำรอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ  


เพื่อถ่ายทอดผลงานศิลปะแก่สาธารณชน เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้เปิดบ้านของศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น ๑๒ หลัง ได้แก่  

- บ้านนายฉิ้น  อรมุต  ที่จังหวัดสงขลา  

- บ้านนายอินสนธ์  วงศ์สาม  ที่จังหวัดลำพูน  

- บ้านนางแสงดา  บันสิทธิ์  ที่จังหวัดเชียงใหม่

- บ้านพลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  ที่กรุงเทพฯ  

- บ้านนายมนตรี  ตราโมท  ที่จังหวัดนนทบุรี  

- บ้านนายเปลื้อง  ฉายรัศมี  ที่จังหวัดกาฬสินธุ์  

- บ้านนายทวี  รัชนีกร  ที่จังหวัดนครราชสีมา  

- บ้านนายประเทือง  เอมเจริญ  ที่จังหวัดกาญจนบุรี  

- บ้านนายจุลทัศน์  กิติบุตร ที่จังหวัดเชียงใหม่   

- บ้านนางสุดจิตต์  อนันตกุล  ที่กรุงเทพฯ  

- บ้านนายถวัลย์  ดัชนี  ที่จังหวัดเชียงราย  

- บ้านนายสุชาติ  ทรัพย์สิน  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  


บ้านของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๑๒ หลัง เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดผลงานศิลปะ เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าไปชื่นชมความสามารถ


โครงการวิจัยองค์ความรู้ศิลปินแห่งชาติ


            งานวิจัยสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑ คือ "องค์ความรู้ศิลปินแห่งชาติ : ทวี  รัชนีกร" ผู้วิจัยคือ นายสาธิต  ทิมวัฒนบรรเทิง ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่การศึกษา การทำงาน แนวคิดในการสร้างผลงาน ผลงานที่สร้างด้วยสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีน้ำและการปะติดวัสดุ ผลงานประติมากรรมโลหะ ผลงานเซรามิก สรุปผลการวิเคราะห์เพื่อสื่อความหมายทางศิลปะต่อสังคม นับเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้อนุชนรุ่นหลังเกิดพลัง ที่จะสืบสานสร้างสรรค์งานศิลปะให้เจริญก้าวหน้า



โครงการค่ายเยาวชนนักเขียน จัดขึ้นที่ หออัครศิลปิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

โครงการค่ายเยาวชนนักเขียน  

            จัดขึ้นที่หออัครศิลปิน เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมสืบสานภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติ โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เช่น นายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ นายชาติ  กอบจิตติ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างยุวศิลปินหรือคลื่นลูกใหม่ในวงวรรณศิลป์ไทย


คณาจารย์หรือผู้ฝึกสอนศิลปะ เข้ารับการอบรม "โครงการครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ"
จัดขึ้นที่ หออัครศิลปิน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

โครงการครุศิลปะสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ  

            จัดขึ้นที่หออัครศิลปิน โดยให้ผู้สอนศิลปะในสถาบันอุดมศึกษาได้เข้ารับการอบรม ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ในการทำงานสร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบงาน ๒ มิติ ๓ มิติ และสื่อผสม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากคณะศิลปินแห่งชาติ ซึ่งผู้สอนศิลปะที่มีผลงานดีเด่นจาก ๕ ภูมิภาค จะได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนภูมิภาคละ ๒ คน รวม ๑๐ คน นำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ ไปจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ผลงานศิลปะที่สถานกงสุลไทย ณ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และในโอกาสนี้ สภาศิลปกรรมไทย สหรัฐอเมริกา ได้จัดกิจกรรมสำคัญระหว่างที่พำนักในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการส่งเสริม และสร้างประสบการณ์ ด้วยการนำชมและศึกษาดูงานด้านพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านศิลปะส่วนบุคคล ของศิลปินอาชีพที่ประสบความสำเร็จ การพบปะสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศิลปินนานาชาติ การเยี่ยมชม และศึกษาดูงาน การเรียนการสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยต่างๆ การเดินทางทัศนศึกษาสถานที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และการปฏิบัติงานศิลปะ (Art Workshop) ในเมืองต่างๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐใกล้เคียง เช่น รัฐเนวาดา รัฐแอริโซนา