๖. ประกาศโรง
เป็นการร้อง เพื่อบูชาและสรรเสริญพระคุณครู บิดามารดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมแรกที่ร้องแบบชาตรี ซึ่งเป็นบทร้องที่บรรพบุรุษ ใช้ร้องสืบต่อกันมา ใช้ทำนองเพลงกรับและร้องกำพรัดเป็นสำเนียงร้องทำนองนอก เนื้อร้องคล้ายบทโนรา ผู้ทำหน้าที่ประกาศโรง คือ หัวหน้าคณะ คนบท หรือผู้แสดงเป็นพระเอก โดยต้องได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบทอดการประกาศโรงเท่านั้น ปัจจุบัน บทร้องประกาศโรงที่ยังใช้กันมีอยู่ ๓ บท คือ บทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บทครูสอนกับบทสอนรำ และบทสรรเสริญคุณบิดามารดา บทแรกเป็นบทหลักที่ต้องใช้ประกาศโรงทุกครั้ง ส่วนบทที่ ๒ และบทที่ ๓ อาจยกเว้นไม่ต้องใช้ก็ได้
๑. บทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การแสดงบทนี้ ผู้แสดงจะนั่งอยู่บนตั่ง แล้วทำท่ารำไปตามบทร้อง ดังตัวอย่างบทประกาศพระคุณครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของคณะพรหมสุวรรณ์ จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังนี้
คุณเอยคุณครู เหมือนดั่งแม่น้ำพระคงคา
คิ่นคิ่นแล้วจะแห้งแต่ก็ยังไหลมา ยังไม่รู้สิ้นไม่รู้สุด
สิบนิ้วลูกหนอลูกจะยอดำเนิน สรรเสริไหว้คุณพระพุทธ
ลูกจำศีลเอาไว้ให้บริสุทธิ์ ไหว้พระเสียแล้วจึงสวดมนต์
ลูกไหว้พระพุทธพระธรรมทั้งพระสงฆ์เจ้า ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม
เล่นไหนให้ดีมีคนรัก หยุดพักให้ดีมีคนชม
ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม ถวายบังคมทุกราตรี
กลางคืนจะไหว้พระจันทร์เจ้า คุณนายมหาตโยคี
ขอศัพท์ขอเสียงให้เกลี้ยงดี จะร้องกล่าวธรรมกล่อมจิต
กลางคืนจะไหว้พระจันทร์เจ้า เช้าเช้าจะไหว้พระอาทิตย์
บทบาทพลาดพลั้งอย่าร้องผิด ผิดน้อยจะขอความสมา
จะขอไปด้วยทั้งปัญญา สะสมไปด้วยทั้งปัญญา
ขอศัพท์ขอเสียงลูกบ้างรา ปัญญาลูกมาเหมือนน้ำไหล
ขอศัพท์ขอเสียงลูกดังก้อง เหมือนฆ้องชวาเขาหล่อใหม่
ขอศัพท์ขอเสียงลูกเกลี้ยงใจ ไหลไปเหมือนท่อธารา
*ลอยเสียแล้วล่องเอย ยูงทองมันล่องตามน้ำมา
* บทนี้จะร้อง เมื่อมีการรำซัดต่อ
๒. บทครูสอนและบทสอนรำ
การแสดงบทนี้ ผู้แสดงจะนั่งรำอยู่บนตั่ง โดยมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับจนจบบทครูสอนและบทสอนรำ บทสอนรำมีท่ารำ ๑๒ ท่า คล้ายกับท่ารำ ๑๒ ท่าของโนรา ดังตัวอย่างบทครูสอนและบทสอนรำของละครชาตรีคณะบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้
บทครูสอน
กระสวยสอนงา อย่างเรากระสวยสอนงา
ครูสอนให้ผูกผ้า สอนให้ข้าทรงกำไล
ครูสอนให้ทรงเทริดน้อย อีกทั้งแขนซ้ายแขนขวา
เรากระเดื่องเยื้องแขนซ้าย ตีค่าได้ห้าตำลึงทอง
เรากระเดื่องเยื้องแขนขวา ตีค่าได้ห้าพระพารา
ตีนเราก็ถีบเอาพนัก ส่วนมือก็ชักเอาสายทอง
จะหาไหนได้เหมือนน้อง ลำยองเหมือนเทวดา
บทสอนรำ
ครูข้าเจ้าเอย ให้รำเพียงพก
มาวาดไว้ที่ปลายอก กนกเป็นแผ่นผาลา
ชูขึ้นเสมอหน้า เรียกว่าระย้าดอกไม้
ปลดปลงลงมาได้ ครูให้ข้ารำเป็นโคมเวียน
ฉันมีรูปภาพ วาดไว้ให้เหมือนดังรูปเขียน
กนกเป็นโคมเวียน ย่างเท้าตะเคียนมาพาดตาล
ฉันนี้เหวย พระพุทธเจ้าท่านห้ามมาร
ฉันนี้นงคราญ นารายณ์จะข้ามพระสมุทร
รำเล่นสูงสุด พระยาครุฑร่อนมา
ครุฑแลเห็นนาค ครุฑก็ลากถลา
กลับเป็นรูปครุฑ ฉุดนาคนาคา
ฉวยฉุดนาคได้ พาไปเวหา
เป็นรูปหนุมาน ทะยานไปเผาเมืองลงกา
เป็นรูปเทวา ขึ้นขี่อาชาชักรถ
ฤาษีดาบส ลีลาจะเข้าพระอาศรม
สี่มุมปราสาทวาดไว้ ให้เป็นเหมือนหน้าพรหม
มานั่งจงกรม คือองค์นารายณ์จะน้าวศร
ฉันนี่บวร นารายณ์จะวางพระศรชัย
๓. บทสรรเสริญคุณบิดามารดา
เป็นการร้องกำพรัด ซึ่งเป็นทำนองนอกที่พรรณนารำลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ปัจจุบันผู้ที่สามารถร้องได้มีน้อยลง และไม่ค่อยนิยมแสดง เนื่องจากอาจต้องการความรวดเร็วจึงต้องตัดทอนบทร้องนี้ให้สั้นลง ดังตัวอย่างบทสรรเสริญพระคุณบิดามารดาของละครชาตรี คณะนายสมพงษ์ จันทร์สุข จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๓๘
ร้องกำพรัด
ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา
คุณพระแม่เอยเลี้ยงข้ามา ได้พิทักษ์รักษาจนรอดตัว
เลี้ยงลูกน้อยจนโตให่ น้ำใจมิให้ลูกได้ชั่ว
กว่าลูกจะรอดมาเป็นตัว คุณพระแม่อยู่หัวก็ผ่ายผอม
อุตส่าห์หาวนอนจนค่อนรุ่ง กลัวริ้นกลัวยุงจะไต่ตอม
ฟักฟูมแม่ก็อุ้มมาถนอม ค่ำเช้าแม่กล่อมให้ลูกหลับ
(เปลี่ยนทำนอง)
ผูกเปลเวช้าเอาผ้ามาวง กลัวละอองผองผงจะลงทับ
ยามรุ่งแม่นอนบ่ห่อนหลับ ตรับหูคอยฟังเสียงลูกร้อง
เมื่อยามพระแม่จะกินข้าว แม่เจ้ามิทันจะอิ่มท้อง
ได้ยินเสียงลูกตื่นสะอื้นร้อง แม่ละไว้ค่อยย่องมองเข้ามา
ครั้นถึงจึงจับเอาสายเปล แม่ก็ร้องโอ้ละเห่โอละชา
ครั้นลูกร้องนักแม่ก็สอดมือยก กลัวลูกจะตกจากเปลผ้า
ฟักฟูมแม่ก็อุ้มเจ้าเดินมา กินนมชมหน้าสำราใจ
ลูกคิดคิดถึงพระคุณมารดา รำลึกขึ้นมาน้ำตาไหล
ลูกน้อยจะได้สิ่งอันใด เอาไปแทนคุณพระมารดา
(เปลี่ยนทำนอง)
โกยเอยโกยทราย ในสินสมุทรผุดขึ้นมา
เอามาชั่งกับคุณพระมารดา ทรายนั้นเบากว่าหาเท่าไม่
คุณเอยคุณของพี่ หนักแล้วยิ่งกว่าภูเขาใหญ่
ครั้นว่าหาเท่าพระแม่ไม่ ที่ได้พิทักษ์รักษา
คุณเอยคุณของพ่อ หนักแล้วยิ่งกว่าแผ่นฟ้า
อีกทั้งคุณพระราชมารดา หนักแล้วยิ่งกว่าแผ่นดิน
อีกทั้งน้ำนมข้าวแม่ป้อน แม่เคี้ยวแม่คายให้ลูกกิน
ลูกไม่ลืมฟ้าไม่ลืมดิน ไม่ลืมคุณพระราชมารดา
วิธีการร้องกำพรัด ผู้เป็นต้นเสียงจะร้องนำแล้วลูกคู่ร้องตาม ดังนี้
ต้นเสียงร้อง : ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา
ลูกคู่ร้องรับ : ไหว้บุญคุณครูแล้วเสร็จสรรพ จะกลายกลับไหว้คุณพระมารดา
จะร้องรับเช่นนี้ไปจนถึงบท "ค่ำเช้าแม่กล่อมให้ลูกหลับ" จึงเปลี่ยนทำนองใหม่ ดังนี้
ต้นเสียงร้อง : ผูกเปลเวช้า (เอย) เอาผ้ามาวง กลัวละออง (ขวัญเอย) ผองผง (ซ้ำ) จะลงทับ
ลูกคู่ร้องรับ : กลัวละออง (ขวัญเอย) ผองผง (ซ้ำ) จะลงทับ
ต้นเสียงและลูกคู่ร้องพร้อมกัน : ข้าเจ้าเอย หน่องเอ๋ย (น้องเอย)
จะร้องรับเช่นนี้ไปจนถึงบท "เอาไปแทนคุณพระมารดา" แล้วจึงเปลี่ยนทำนองเป็นเพลงกรับชาตรีไปจนจบเพลง
เมื่อจบบทร้องประกาศโรงแล้ว ผู้แสดงจะลงจากตั่ง และคุกเข่าที่พื้นเวทีหน้าตั่ง แล้วรำซัดชาตรีต่อไป วงดนตรีทำเพลงบรรเลงโทนชาตรี แต่บางคณะอาจร้องประกาศโรงแบบย่อ และไม่มีรำซัดชาตรีต่อ