เล่มที่ 36
ละครชาตรี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ละครชาตรีเป็นละครรำประเภทหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโนราของภาคใต้กับละครนอกของภาคกลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้แสดงโนราจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ได้อพยพหนีความอดอยากแห้งแล้งติดตามกองทัพไทย ขึ้นมาตั้งถิ่นฐานที่ กรุงเทพฯ บริเวณถนนหลานหลวง และทำมาหากินโดยรับจ้างแสดงละคร ซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่ และได้รับความนิยม ในการแสดงมีการใช้คาถาอาคมด้วยจึงใช้ในการแก้บน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับเอาวัฒนธรรมละครนอกไปใช้ในการแสดง และเปลี่ยนผู้แสดงจากผู้ชายเป็นผู้หญิง โดยรูปแบบและวิธีการแสดงค่อยๆ แปลงไปเป็นละครนอก จนปัจจุบัน มีลักษณะของความเป็นโนราเพียงในพิธีกรรมก่อนการแสดงละคร และการร้องเพลงชาตรีในบางแห่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงได้ฟื้นฟูการแสดงละครชาตรีขึ้นมาเป็นละครโรงใหญ่ โดยมีการจัดแสดงเรื่อง “มโนราห์” จากสุธนชาดก ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ และเรื่อง “รถเสน” จากรถเสนชาดก ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จนเป็นที่เลื่องลือในเรื่องความไพเราะและความงดงามตระการตามาจนถึงในปัจจุบัน ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นแนวละครชาตรี จากการแสดงเรื่อง “ศรีธรรมาโศกราช” ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ และเรื่อง “ตามพรลิงค์” ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ ตามลำดับ บทประพันธ์ของสมภพ  จันทรประภา ส่วนละครชาตรีแก้บนทั่วไปก็ได้รับความนิยมลดลง มีเจ้าภาพจัดหาไปแสดงแก้บนน้อยลงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ละครชาตรีแบบดั้งเดิมคงมีแสดงอยู่บ้าง เช่น ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการแสดงอยู่เกือบทุกวัน ยกเว้นช่วงเข้าพรรษา การแสดงละครชาตรีในปัจจุบันเริ่มในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. แล้วพักเที่ยง จากนั้นแสดงต่อจนจบในเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ถ้าเจ้าภาพมีงบประมาณน้อยก็จะจ้างรำแก้บนเป็นชุดสั้นๆ


            การแสดงละครชาตรีส่วนใหญ่ใช้ธรรมเนียมการแสดงของละครนอก โดยมีแบบแผนของโนราผสมผสานอยู่บ้าง ในปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลง เพราะขาดการศึกษาและสืบทอด เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องฝึกฝนอย่างมาก แต่ทำรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ละครชาตรีเป็นศิลปวัฒนธรรมการแสดงของไทยที่มีคุณค่า สมควรที่จะรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้คู่กับชาติไทยสืบไป