วิธีแสดง
การแสดงละครชาตรีได้รับธรรมเนียมมาจากละครนอกและโนรา จึงมีวิธีแสดงและแบบแผนทางการแสดง ทั้งการร้อง การรำ การเจรจา ที่น่าสนใจ

ในการแสดงละครชาตรี วิธีการร้องจะมีต้นบทคอยตะโกนบอกบทให้ผู้แสดง
การร้อง
ต้นบทจะอ่านบทจากสมุดจดบทละครด้วยเสียงอันดัง แต่บางครั้งก็ตะโกนบอกได้โดยไม่ต้องอ่าน เพราะบอกบทมาหลายครั้ง จนจำบทได้ และเช่นเดียวกัน เมื่อต้นบทตะโกนบอกบทกลอนวรรคแรก ผู้แสดงที่แสดงบทนั้นบ่อยๆ ก็จะจำบทได้ ก็สามารถร้องด้นต่อไปได้โดยต้นบทแทบไม่ต้องตะโกนบอกต่อ นอกจากตอนใดที่ติดขัดก็หันมาสบตาต้นบทให้ช่วยสะกิดบทให้ ส่วนการร้องเพลง เมื่อต้นบทตะโกนบอกบทในวรรคแรก ก็จะบอกทำนองเพลงที่จะใช้ร้องตามแบบแผนของละครนอก ระนาดเอกจะขึ้นต้นเป็นทำนองหรือที่เรียกว่า ขึ้นเท่า จากนั้นผู้แสดงจะร้องตามบท และในทำนองเดียวกันหากผู้แสดงจำบทร้องได้ ก็จะร้องต่อไปโดยไม่ต้องบอกบท แต่บางครั้งผู้แสดงขึ้นเพลงเอง แล้วให้ปี่พาทย์บรรเลงตาม สำหรับการเอื้อนระหว่างท่อนเพลง บางครั้งผู้แสดงไม่เอื้อน แต่ให้ระนาดบรรเลงแทน เพื่อพักเสียง ส่วนการร้องเพลงทำนองชาตรีก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการร้องเพลง ๒ ชั้น แต่ช่วงท้ายวรรคมีการร้องรับ ๒-๓ ครั้งตามทำนองชาตรี ต้นบทและผู้แสดงที่พักอยู่ทำหน้าที่ลูกคู่ร้องรับจนจบเพลง
การเจรจา
ผู้แสดงมีวิธีการเจรจา ๒ แบบ แบบแรกเป็นการเจรจาซ้ำคำร้อง คือ การที่ตัวละครร้องเพลง ๑ รอบ แล้วปี่พาทย์บรรเลงรับ ในระหว่างนั้น ก็เจรจาเป็นร้อยแก้วซ้ำคำร้องที่เป็นบทกลอน เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกแบบหนึ่ง เป็นการเจรจาสด ด้วยคำพูดธรรมดาอย่างละครพูด ซึ่งมักใช้ในฉากอิจฉาริษยา โดยผู้แสดงจะร้องตามบท ๑ เพลงก่อน เพื่อเป็นการนำเรื่อง และนำอารมณ์ จากนั้นก็เจรจาสดด่าทอกัน ส่วนบทตลกนอกจากมีแทรกอยู่ในฉากอิจฉาริษยาแล้ว ยังมีฉากตลกโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในการแสดงภาคบ่าย ฉากตลกนี้ใช้การเจรจาสดออกมุกตลกต่างๆ หากมีการร้องเพลงก็จะมีเนื้อร้องและวิธีร้องให้ขบขัน
การรำ
การรำแบบละครชาตรีเป็นการรำทำบทอย่างละครนอก แต่อาจเรียกว่า รำเป็นที ไม่ใช่ รำเป็นท่า กล่าวคือ เมื่อผู้แสดงร้องบทด้วยตนเองแล้ว ก็จะรำพอเป็นที โดยกรายมือและแขนไปมาระหว่างร้อง และออกท่ารำทำบทเป็นบางคำ หรือบางวรรค ให้ดูมีลีลาคมคาย แต่ไม่ใช้ท่ารำทำบทมากเหมือนละครรำที่มีคนร้องแทน จุดเด่นบางประการของการรำแบบละครชาตรีที่ควรกล่าวถึงคือ การทรงตัวแบบแอ่นอกตึง ก้นงอน ยืนย่อเข่าเล็กน้อย และวงแขนเปิดกว้าง การกระทบจังหวะในเวลาย้ายน้ำหนักจากขาข้างหนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง และการก้าวเดิน จะใช้การย่ำเท้า ไม่ใช้การข่มเข่าเหมือนอย่างละครนอก สำหรับตัวนางอิจฉา หรือทางเพชรบุรีเรียกกันว่า นางตะแหล่ง นั้น มีการร่ายรำออกจริตดีดดิ้น ยักเอว ยักไหล่ และสะบัดหน้าตา อันเป็นกิริยาของนางตลาดที่จัดจ้าน นอกจากนี้ยังมีวิธีรำที่ควรกล่าวถึงคือ การจีบมือ การนั่ง และการเวียนโรง

จุดเด่นของการรำแบบละครชาตรี คือ มีการทรงตัวแบบแอ่นอกตึง ก้นงอน ยืนย่อเข่าเล็กน้อย
การจีบมือของละครชาตรีมีลักษณะพิเศษคือ เริ่มด้วยการตั้งมือ แล้วม้วนมือพร้อมจีบไปจบที่ท่าตั้งมืออีกครั้ง ในขณะที่จีบนั้น เอานิ้วโป้งแนบกับด้านข้างของนิ้วชี้ และเลื่อนนิ้วโป้งมาจรดปลายนิ้วชี้ แล้วคลายนิ้วทั้งสองออกเป็นท่าตั้งมือ สำหรับการนั่งบนตั่งของตัวละคร ๒ ตัว จะนั่งหันหน้าเข้าหากันแบบละครรำดั้งเดิม แต่ปัจจุบันหันหน้ามาทางผู้ชมทั้งคู่ การเวียนโรง คือ การเปลี่ยนฉาก หรือสถานที่ ซึ่งละครชาตรียังคงรักษาธรรมเนียมเดิมไว้คือ ตัวละครร้องบอกสถานที่ที่จะไป ส่วนปี่พาทย์ทำเพลงเชิด สำหรับการเดินทางอย่างเร่งรีบ ตัวละครก็เดินเวียนซ้ายรอบโรงมาหยุดตรงหน้าตั่ง แล้วยกมือขวาขึ้นทำท่าป้องคือ จีบขวาเสมอหน้าผากเป็นสัญญาณให้ปี่พาทย์หยุดบรรเลง จากนั้นก็ร้องบอกผู้ชมว่า ตนได้มาถึงยังที่ซึ่งได้ร้องบอกไว้ในฉากที่ผ่านมา ธรรมเนียมนี้ทำให้ดำเนินเรื่องไปได้อย่างรวดเร็ว