เล่มที่ 36
ละครชาตรี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์ประกอบอื่นๆ

โรงแสดง

            โรงละครชาตรีจะมีเสื่อปูกับพื้นดินขนาดประมาณ ๔x๔ เมตร ด้านหนึ่งเป็นตั่งที่นั่งแสดงได้ ๓-๔ คน หันหน้าไปในทิศทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแสดงแก้บนถวาย ด้านซ้ายมือของผู้แสดงวางตั่งไว้ บนตั่งหรือข้างตั่งเป็นที่ตั้งศีรษะฤษีภรตมุนี คือ ครูละคร ที่เรียกว่า “พ่อแก่” ส่วนด้านขวามือของผู้แสดงเป็นที่ตั้งลุ้ง คือ ภาชนะโลหะสำหรับใส่ชฎากับหัวโขน และถังคลีที่ใส่อาวุธต่างๆ อีก ๒ ด้านของโรงเป็นที่นั่งพักของผู้แสดงที่ทำหน้าที่เป็นลูกคู่ช่วยร้องรับและตีกรับ บางคณะอาจมีผ้าเขียนเป็นภาพท้องพระโรงหรือป่าเป็นฉากหลัง กั้นบังหลังโรงที่ผู้แสดงเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย

การแต่งกาย

            ตัวละครชาตรีทั้งตัวพระและตัวนางแต่งกายรัดเครื่องแบบละครนอก ตัวตลกแต่งแบบพื้นบ้าน ส่วนตัวละครที่เป็นอมนุษย์ เช่น ยักษ์ ม้า จะสวมหัวโขนบนศีรษะ แต่เปิดหน้าให้ร้องและเจรจาเองได้ เนื่องจากละครชาตรีมีรายได้น้อย จึงใช้เครื่องละครที่ทำด้วยวัสดุราคาถูก เช่น ชฎาทาทองบรอนซ์ประดับกระจกตัด เสื้อผ้าใช้แพรสีสดปักเลื่อมเป็นลวดลาย บางครั้งก็มีเครื่องแต่งกายปักเพชรอย่างลิเกปะปนบ้าง


เครื่องแต่งกาย

การแต่งหน้า

            ผู้แสดงละครชาตรีแต่งหน้าให้งดงามด้วยเครื่องสำอางเหมือนที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน คือ ทารองพื้น เขียนคิ้ว เขียนขอบตา ทาเปลือกตา ผัดแป้งที่ใบหน้าและลำคอ แล้วทาแก้มสีอมชมพูให้ดูมีเลือดฝาด ทาปากสีแดงสด ตัวนางอิจฉาจะแต่งหน้าเข้มกว่าตัวอื่นๆ ส่วนตัวตลกซึ่งเป็นผู้ชาย หรือบางครั้งก็เป็นสตรีสูงวัย ใช้แป้งประบนใบหน้า อาจเขียนคิ้วและหนวดให้ดูตลกขบขัน


การแต่งหน้าของผู้แสดงละครชาตรี จะมีวิธีแต่ง เพื่อบอกถึงบุคลิกลักษณะของตัวละครว่า แสดงเป็นตัวละครใด

ดนตรี

            วงดนตรีหรือวงปี่พาทย์สำหรับละครชาตรี ประกอบด้วย ปี่ ระนาดเอก ตะโพน กลองตุ๊ก โทนชาตรี ๑ คู่ กรับไม้ไผ่ ๓-๔ คู่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก เพลงที่ใช้ร้องเป็นเพลงสองชั้นตามธรรมเนียมของละครนอก เช่น บทโศก ใช้เพลงสร้อยสน มอญครวญ ลาวครวญ ธรณีกรรแสง บทรัก ใช้เพลงตะลุ่มโปง กล่อมนารี สาริกาแก้ว บทโกรธ ใช้เพลงสองไม้ เพลงเหล่านี้ตัวละครชาตรีอาจไม่รู้จักชื่อ แต่รู้จักทำนอง เมื่อผู้แสดงร้องวรรคแรกออกไปแล้ว นักดนตรีต้องฟังให้ออกและร้องรับให้ถูกต้อง แต่บางครั้งตัวละครอาจร้องไม่ถูกต้องตามทำนองเพลงของเดิม ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเพลงชาตรี ได้แก่ เพลงชาตรีกรับ ลิงโลดชาตรี ชาตรีสอง และชาตรีสาม ส่วนเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ออกกิริยาต่างๆ ได้แก่ เพลงเชิดสำหรับเดินทางอย่างเร็ว เพลงเสมอสำหรับเดินทางปกติ เพลงเหาะสำหรับเดินทางทางอากาศ เพลงรัวสำหรับปะทะกัน หรือแปลงกาย เพลงโอดสำหรับร้องไห้เสียใจ

ตัวละคร

            ตัวละครชาตรีแบ่งเป็น ๔ กลุ่มคือ ตัวพระ ตัวนาง ตัวอิจฉา หรือนางตะแหล่ง หรือนางกระแต แต้แว้ด และตัวตลก ส่วนตัวโกงนั้น ใช้ตัวตลกแสดง แต่ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก เพราะละครชาตรีใช้ผู้หญิงแสดง และส่วนใหญ่เรื่องราวมักดำเนินไปในแนวรักริษยา


ตัวละครนางผีหอก ซึ่งเป็นผีเรือนบุกขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
ในละครเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"
ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ

ผู้แสดง

            ผู้แสดงละครชาตรีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะต้องแสดงเป็นตัวเอก ผู้ชายแสดงเป็นตัวตลกหรืออาจใช้สตรีสูงวัยแสดงก็ได้ หรือเป็นนักดนตรีที่ผละจากวงปี่พาทย์ชั่วคราวมาเป็นตัวตลก เมื่อแสดงจบบทแล้วก็กลับไปบรรเลงดนตรีต่อ ผู้แสดงละครชาตรีมักเริ่มต้นชีวิตการแสดงตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ เพราะเป็นบุตรหลานของคณะละครชาตรีคณะนั้นเอง หรือเป็นเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ยากจน นำมาฝากให้คณะละครเลี้ยงในเวลากลางวันเมื่อพ่อแม่ออกไปรับจ้างทำงาน เด็กๆ ก็จะคุ้นเคยกับการแสดง โดยเล่นพร้อมกับเรียนรู้การร้องการรำไปด้วย เด็กเหล่านี้จะแสดงเป็นตัวประกอบ หรือรำอวดตัวสลับฉากเล็กๆ น้อยๆ เมื่อโตเป็นสาวรุ่นก็เริ่มรับบทเป็นตัวละคร


นางผีตานีบุกขึ้นเรือนหลวงต่างใจ
ในละครเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"
ตอนขึ้นเรือนหลวงต่างใจ

            ผู้แสดงละครชาตรีส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา แต่บางคนอาจเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาหรือวิทยาลัยนาฏศิลป แล้วมารับงานแสดงเป็นครั้งคราว ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน จะเปิดสอนการแสดงให้แก่เด็กที่พ่อแม่ส่งมาฝากเลี้ยง จึงเกิดเป็นคณะละครชาตรีเด็กเล็กขึ้น แต่ไม่เป็นคณะละครแบบถาวร ในปัจจุบันละครชาตรีมีการเรียนการสอนเชิงอนุรักษ์ ตามสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ได้เน้นเป็นอาชีพ


เยาวชนที่ร่วมแสดงละครชาตรี ในคณะปทุมศิลป์

            สำหรับละครชาตรีแต่ละคณะจะมีชื่อคณะชัดเจน โดยมีป้ายโฆษณา ซึ่งแสดงชื่อคณะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ ให้สามารถติดต่อได้ คณะละครชาตรีไม่ใช่คณะละครเต็มรูปแบบ แต่เป็นกลุ่มเครือญาติ ละครชาตรีคณะหนึ่งจะมีหัวหน้าคณะ หรือโต้โผ ที่เป็นต้นบท ตลอดจนเป็นเจ้าของเครื่องละคร รวมทั้งอุปกรณ์การแสดง ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการรับงานแสดง และการรวบรวมผู้แสดง ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน หากตัวผู้แสดงมีไม่ครบ ก็จะเรียกมาจากคณะอื่น หรือจัดหาผู้แสดงอิสระมาแสดงร่วม เพื่อให้มีผู้แสดงได้ครบโรง

ผู้ชม

            การแสดงละครชาตรีใช้สำหรับแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเจ้าภาพจ้างเหมาไปแสดง จึงไม่ค่อยคำนึงถึงจำนวนของผู้ชม อย่างไรก็ตาม ลักษณะผู้ชมกลุ่มหลัก ซึ่งครั้งหนึ่งมีประมาณ ๑๐-๓๐ คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นสตรีสูงวัยที่มานั่งชมชั่วขณะหนึ่ง แล้วลุกไปทำธุระอย่างอื่น และเด็กเล็กๆ ที่วิ่งเล่นสนุกสนานอยู่รอบๆ โรง โดยจะตั้งใจดูเฉพาะฉากอิจฉาและฉากตลกที่เต็มไปด้วยความขบขัน