ประวัติของมะคาเดเมีย
มะคาเดเมีย (macadamia) ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Friedrich Wilhelm Ludwig Leichhardt ชาวเยอรมัน ใน พ.ศ. ๒๓๘๖ ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่เก็บตัวอย่างพืชไว้โดยไม่ดำเนินการใดๆ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๐ มีผู้ที่ค้นพบพืชชนิดนี้อีกครั้ง คือ Baron Sir Ferdinand Jacob Heinrich von Mueller ชาวเยอรมัน ซึ่งได้ไปสำรวจและเก็บตัวอย่างพืชชนิดนี้ แล้วนำมาทดลองปลูก และขอจดทะเบียนเป็นพืชสกุลใหม่ว่า Macadamia เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่เขานิยมชมชอบและให้ความเคารพอย่างมาก คือ นายจอห์น แมคาแดม (John Macadam) ชาวอังกฤษ เชื้อสายสก็อต อาจารย์สอนวิชาเคมี ที่สก็อตช์คอลเลจ (Scotch College) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย คำว่า “มะคาเดเมีย” หรือ macadamia ถ้าจะอ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ควรเน้นหนักที่พยางค์แรกคือ อ่านว่า แม-คา-เด-เมีย เพราะชื่อของพืชชนิดนี้ตั้งขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายจอห์น แมคาแดม หลายคนพยายามเขียนแยกเป็น ๒ พยางค์ โดยสะกดเป็น Mac Adam (อ่านว่า แมก-อาดัม) แต่ไม่ว่าจะสะกดแบบใด ก็ต้องเน้นเสียงคำว่า Mac หรือ แมก อย่างไรก็ดี เรื่องการเรียกชื่อนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ทรงเสนอแนะให้เขียนว่า “มะคาเดเมีย” แบบไทย เพราะคนไทยมักเรียกชื่อผลไม้นำหน้าด้วยคำว่า “มะ” เช่น มะม่วง มะพร้าว มะก่อ มะ... นอกจากนี้บุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ก็ให้การยอมรับ และมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ต้นมะคา” หรือ “ลูกมะคา” ดังนั้นแม้ว่าการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องจะต้องใช้ว่า “แมคาเดเมีย” ก็ตาม แต่เพื่อให้คุ้นกับคนไทย จึงควรใช้คำว่า “มะคาเดเมีย
นายจอห์น แมคาแดม
จากประวัติดั้งเดิมพบว่า มะคาเดเมียมีทั้งหมดประมาณ ๑๐ ชนิด (species) โดยปลูกอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ๖ ชนิด ที่เกาะเซเลเบส (Celebes) แถบเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ๑ ชนิด และที่เหลืออีก ๓ ชนิด ปลูกอยู่ในแถบหมู่เกาะนิวคาเลโดเนีย (New Caledonia) ใกล้กับประเทศปาปัวนิวกินี มะคาเดเมียทั้ง ๑๐ ชนิด มีอยู่เพียง ๒ ชนิดเท่านั้น ที่มีรสชาติอร่อยและนำมารับประทานได้ โดยเป็นไม้ป่าหรือพืชพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย คือ ชนิด M.integrifolia ซึ่งผลมีกะลา ผิวเรียบ และชนิด M.tetraphylla ซึ่งผลมีกะลา แต่ผิวหยาบหรือขรุขระ ทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง ๑.๘-๒.๘ เซนติเมตร โดยพบอยู่ในบริเวณป่าชื้นที่มีฝนตกชายทะเล ทางใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และทางเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในระหว่างเส้นละติจูดที่ ๒๕-๓๒ องศาใต้ นอกจากนี้ ยังมีมะคาเดเมียอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า Gympie nut เป็นชนิด M.ternifolia ซึ่งเป็นไม้ป่าของเมืองยิมปี (Gympie) ในประเทศออสเตรเลีย แต่ผลมีขนาดเล็กกว่าคือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๔ เซนติเมตร รูปทรงของผลค่อนข้างยาวรีแบบลูกรักบี้ ซึ่งต่างไปจาก ๒ ชนิดแรกที่มีผลกลมเป็นส่วนใหญ่