เครื่องมือกะเทาะเมล็ด
เครื่องมือที่ใช้ในการกะเทาะส่วนที่เป็นเปลือกแข็งสีน้ำตาลของเมล็ดมีอยู่หลายชนิด ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และสร้างขึ้นในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ เครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคน และเครื่องกะเทาะแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใช้แรงคน
เครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคน
บางเครื่องสั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลีย หรือจากรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ดัดแปลงจากเครื่องมือที่ใช้ในงานช่าง เช่น คีมล็อก หรือสร้างขึ้นแบบง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้ทั่วไป ราคาไม่แพง และมีขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยากซับซ้อน บางเครื่องสร้างขึ้นโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใช้แรงคนจะสามารถกะเทาะได้เร็วหรือช้า และได้คุณภาพเนื้อในดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือของผู้ที่กะเทาะ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้เนื้อในที่สมบูรณ์ เครื่องกะเทาะที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี ๔ แบบ คือ
๑. เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อก
๒. เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด
๓. เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด
๔. เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก
เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อก ดัดแปลงจากคีมล็อกที่ใช้ในงานช่าง
๑. เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อก
เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อกดัดแปลงมาจากคีมล็อกที่ใช้ในงานช่าง โดยการเจียนปากจับด้านล่างให้เป็นคมมีดมีรัศมีโค้ง เพื่อรับกับความโค้งกลมของเมล็ดมะคาเดเมีย วิธีการกะเทาะให้ใช้มือข้างหนึ่งจับเมล็ดให้อยู่ระหว่างปากล่าง และปากบนของคีมล็อก พลิกรอยตะเข็บที่ผิวของกะลาให้ตรงกับส่วนคมของใบมีดปากล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งบีบที่ด้ามคีมล็อก ให้ปากคีมกดอัดลงบนกะลา เมล็ดจะติดคาที่ปากคีม การออกแรงกะเทาะเปลือกให้แตกต้องใช้แรงทั้ง ๒ มือ โดยมือข้างที่จับเมล็ดต้องช่วยบีบที่ด้ามคีมด้วย เมล็ดมะคาเดเมียจึงจะแตก เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อกมีใช้กันอยู่ทั่วไป ตามแปลงปลูกของเอกชน และแปลงปลูกพืชทดลองของสถานีทดลองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เนื่องจากมีราคาถูก และยังสามารถดัดแปลงได้จากคีมล็อกที่ใช้งานได้ไม่ดีแล้ว แต่การใช้งานก็มีความยุ่งยาก เนื่องจาก มือข้างหนึ่งต้องคอยจับเมล็ดทุกเมล็ดให้รอยตะเข็บของกะลาตรงกับแนวใบมีดด้านล่าง การบีบต้องใช้แรงมาก เพราะต้องคอยปรับระยะเกลียวเข้าออก เพื่อให้ระยะห่างของปากบีบพอดีกับเมล็ด ซึ่งแต่ละเมล็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางแตกต่างกัน ความสามารถในการทำงาน ๒ กิโลกรัม/ชั่วโมง ได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๔๐
เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด
๒. เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด
ต้นแบบเครื่องกะเทาะเมล็ดแบบนี้สั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลีย การกดอัดเมล็ด ใช้หลักของการผ่อนแรงกดด้วยคานที่มีจุดหมุน ๓ จุด ขนาดกว้าง ๓ นิ้ว ยาว ๑๖ นิ้ว คานกดอัดสามารถต่อยาวออกไปได้อีก เพื่อช่วยผ่อนแรงในการกด แต่การใช้งานจริงไม่ค่อยสะดวก และไม่คล่องตัว เนื่องจากไม่มีแนวคมกดนำผ่าร่องที่กะลา เป็นเพียงการกดอัดด้วยแผ่นล่างบนผิวกะลา ทำให้เมื่อกะลาหุ้มเมล็ดแตกออก มักกดเนื้อในให้แตกหรือฉีกไปด้วย กะลาและเศษเปลือกที่แตก ก็จะค้างอยู่ในช่องกด ซึ่งต้องเขี่ยออกให้หมดก่อนจึงจะใส่เมล็ดใหม่เข้าไป ทำให้เสียเวลา เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัดนี้ ปัจจุบันมีใช้อยู่ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ความสามารถในการทำงาน ๓ กิโลกรัม/ชั่วโมง ได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐
๓. เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด
เป็นเครื่องกะเทาะที่สั่งซื้อมาจากประเทศนิวซีแลนด์ มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ชุดกดอัดที่มีใบมีดกดอัดเป็นแบบร่องฟันก้างปลาโค้ง มีระยะเกลียว ๒.๕ มิลลิเมตร รัศมีความโค้งของคม ๒๕ มิลลิเมตร กว้าง ๑๒ มิลลิเมตร และหนา ๒ มิลลิเมตร และชุดรองรับเมล็ด ที่มีใบมีดอีกชุดยึดติดอยู่กับแขนบีบตัวล่าง ซึ่งใบมีดมีลักษณะเป็นร่องฟันตรง มีระยะเกลียว ๑.๕ มิลลิเมตร รัศมีความโค้ง ๙๑ มิลลิเมตร และมุมของคมประมาณ ๔๕ องศา นอกจากนี้ยังมีลวดสปริงช่วยดีดเปลือกเมื่อกะเทาะแล้ว วิธีการกะเทาะโดยการนำเมล็ดใส่เข้าไปในระหว่างใบมีดที่เป็นชุดกะเทาะ แล้วจัดรอยตะเข็บของเมล็ดให้อยู่ตรงกับแนวใบมีด ของชุดรองรับเมล็ด จากนั้นกดแขนบีบลงให้ใบมีดกดกะลากะเทาะเปลือก เครื่องกะเทาะแบบนี้มีแขนกดที่กว้าง ต้องใช้ทั้ง ๒ มือช่วยบีบ ความสามารถในการทำงานจึงไม่รวดเร็วนัก คือ ๓ กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๔๐
เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด
๔. เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก
เป็นเครื่องกะเทาะที่ออกแบบและพัฒนาโดยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ใบมีดกดกะลา ๒ ชุด ได้แก่ ใบมีดชุดบนที่ใช้กดอัด สำหรับกะเทาะกะลาให้แตก และใบมีดชุดล่าง เป็นใบมีดอยู่กับที่ เพื่อรองรับแรงกดอัดและกะเทาะกะลาให้แยกออกจากกัน ใบมีดทั้ง ๒ ชุดมีรัศมีความโค้ง เหมาะกับเมล็ดมะคาเดเมียที่มีขนาดแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญในการกะเทาะเพื่อให้ได้เนื้อในเต็มเมล็ดสูง คือ การเตรียมที่ดี โดยการนำเมล็ดมาอบด้วยอุณหภูมิ ๕๐-๕๕ องศาเซลเซียส จนเมล็ดในคลอน ซึ่งใช้เวลาในการอบประมาณ ๔๘ ชั่วโมง กะเทาะได้เนื้อในเต็มเมล็ดถึงร้อยละ ๙๐ เครื่องกะเทาะแบบนี้มีความสามารถในการกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมีย (กะลา) ๕ กิโลกรัม/ชั่วโมง เป็นเครื่องแบบใช้แรงคนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก
เครื่องกะเทาะแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
เครื่องกะเทาะแบบนี้มีการผลิตขึ้นในหลายประเทศที่มีการปลูกมะคาเดเมียเพื่อการค้า เช่น ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคหลายแห่งในรัฐฮาวาย ได้สร้างและพัฒนา เครื่องกะเทาะแบบนี้ขึ้นหลายแบบ
สำหรับประเทศไทยที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ เครื่องกะเทาะแบบใบมีดหมุนเหวี่ยง ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร สั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลีย มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ชุดใบมีด ๘ ใบ ซึ่งยึดติดกับแกนหมุนทรงกรวย ที่มีมุมเอียง ๕๙ องศา ความสูงของกรวย ๑๑๐ มิลลิเมตร กรวยมีเส้นผ่าศูนย์กลางด้านล่าง ๑๗๒ มิลลิเมตร และด้านบน ๒๕.๔ มิลลิเมตร ร่องใบมีดกว้าง ๖ มิลลิเมตร แกนใบมีดหมุนเหวี่ยงรับแรงขับหมุนตรงจากมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด ๑/๓ แรงม้า ภายในกรอบทรงกรวย ที่ครอบแกนหมุนใบมีด จะมีชุดใบมีดอีก ๒ ใบ ยึดติดอยู่กับตัวเสื้อชุดกะเทาะ เพื่อเป็นตัวปะทะเมล็ด ที่ถูกขับเหวี่ยงมากับใบมีดหมุนเหวี่ยง และยังมีแผ่นเหล็กโค้งอยู่ด้านใน เพื่อกันไม่ให้เมล็ดที่ถูกกะเทาะแล้ว หมุนกลับไปถูกกะเทาะซ้ำอีก เมื่อกะลาแตก ก็จะตกลงทางช่องทางออกเมล็ด ลงมาในภาชนะรองรับเมล็ด เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใบมีดหมุนเหวี่ยง สามารถกะเทาะเมล็ดได้อย่างรวดเร็ว และครั้งละจำนวนมากได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ได้เปิดสวิตช์ ให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงาน หากเปรียบเทียบความเร็วในการกะเทาะ กับเครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคนทุกชนิด เครื่องกระเทาะแบบนี้ สามารถกะเทาะได้เร็วกว่า แต่ก็มีข้อเสียคือ ถ้าเมล็ดมีขนาดที่แตกต่างกันมาก เมื่อลำเลียงใส่ในช่องใบมีดหมุนเหวี่ยง ถ้าเปลือกเมล็ดขนาดใหญ่แตก ก็มักจะกดฉีกเนื้อในให้แตกหรือแหว่งไปด้วย ส่วนเมล็ดที่เล็ก มักไม่ถูกกะเทาะ จะหลุดออกมาทางช่องทางออก ซึ่งต้องเสียเวลาในการคัดเมล็ดที่ไม่ถูกกะเทาะ นำกลับมากะเทาะใหม่ และเมล็ดบางส่วนถูกใบมีดเหวี่ยงกระแทกแตก แต่แตกเพียงบางส่วน โดยเนื้อในยังคงค้างอยู่ในเปลือก ต้องใช้แรงคนในการคัดแยกเมล็ดและเปลือก รวมทั้งคัดแยกเมล็ด ที่ยังไม่ถูกกะเทาะ นำกลับมากะเทาะใหม่ ซึ่งอาจได้เนื้อในไม่เต็มเมล็ด เพราะกดฉีกทั้งจากใบมีดหมุนเหวี่ยงในเครื่อง และจากเปลือกกะลาที่แตก เนื้อในที่ได้ค่อนข้างเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐ และความสามารถในการกะเทาะ ๕๐ กิโลกรัม/ชั่วโมง