ประวัติมะคาเดเมียในประเทศไทย
ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ องค์การยูซอม (USOM: United state Operation Mission) ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์มะคาเดเมียชนิดผลเปลือกเรียบ (Macadamia integrifolia) ให้แก่ประเทศไทย ผ่านทางกรมกสิกรรม (ต่อมา กรมนี้ได้รวมกับกรมการข้าวเป็นกรมวิชาการเกษตร) ซึ่งได้ส่งไปทดลองปลูก ที่สถานีกสิกรรมหลายแห่ง โดยเฉพาะที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ติดผล มีสถานีกสิกรรมฝางเพียงแห่งเดียวที่เริ่มติดผล แต่ผลก็ไม่ได้ขนาดมาตรฐานสากล และไม่มีการจดสถิติผลิตผล คงปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นมะคาเดเมียที่ทดลองปลูกชุดแรก ที่ยังมีเหลืออยู่ในขณะนี้ ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม เพราะขาดการดูแลรักษา
ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เจ้าของสวนชาระมิงค์ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ปลัดกระทรวงเกษตรขณะนั้น ได้ขอกิ่งพันธุ์มะคาเดเมีย จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้น ห้ามนำพืชชนิดนี้ ออกนอกประเทศ และในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ประเทศไทยได้รับมอบกิ่งพันธุ์ ๓ พันธุ์ คือ พันธุ์ # ๒๔๖ พันธุ์ # ๓๓๓ และพันธุ์ # ๕๐๘ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมกสิกรรมเข้าร่วมศึกษาวิธีการขยายพันธุ์แบบเสียบยอด และเสียบข้างกับต้นตอมะคาเดเมีย ที่มีอยู่แล้ว ที่สวนชาระมิงค์ และฟาร์มแม่มาลัย ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง ที่สถานีกสิกรรมฝาง และสถานีกสิกรรมดอยมูเซอ หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน จึงได้ส่งกิ่งพันธุ์มาให้กระทรวงเกษตร โดยกรมกสิกรรมนำพันธุ์ไปเสียบกิ่งไว้ที่สถานีกสิกรรมฝาง และสวนของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี
กิ่งพันธุ์มะคาเดเมียที่ใช้ขยายพันธุ์ทั้ง ๒ ครั้ง ส่วนใหญ่นำไปไว้ที่สวนของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี หลังจากที่นายประสิทธิ์เสียชีวิต ต้นมะคาเดเมียที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้มีการดูแลรักษาที่ดีหรือจดประวัติไว้ จนไม่สามารถสืบค้นต้นพันธุ์ได้ ส่วนที่สถานีกสิกรรมฝาง และดอยมูเซอ ก็เกิดปัญหาในกรณีเดียวกัน
ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ นายไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ แห่งกองค้นคว้าและทดลองกสิกรรม ได้ขอพันธุ์ชนิดที่เสียบกิ่งแล้วอีก ๔ พันธุ์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย นำมาทดลองปลูกที่สถานีกสิกรรมฝาง และเริ่มเก็บผลได้ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่มีสถิติไม่แน่นอน
ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นายอวยชัย วีรวรรณ แห่งบริษัท เจ.เอฟ.บี. จำกัด ได้สั่งซื้อกิ่งพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ จากประเทศออสเตรเลีย มอบให้กรมวิชาการเกษตร และนายประพัตร สิทธิสังข์ เจ้าของสวนมะม่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ นำไปทดลองปลูก สำหรับกรมวิชาการเกษตรได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ขนาดเล็กที่ทาบกิ่งสำเร็จแล้วด้วย ต้นพันธุ์เหล่านี้เติบโตช้า เพราะส่งมาโดยล้างดินออกหมดเหลือแต่รากเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงมีอัตราตายร้อยละ ๑๐-๑๕ สำหรับต้นที่เหลือนำไปปลูกที่สวนวังน้ำค้าง ของอาจารย์พันธุ์เลิศ บูรณะศิลปิน และสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นพันธุ์มะคาเดเมีย ที่สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ [ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จังหวัดเชียงใหม่]
บุคคลที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มะคาเดเมีย คือ นายดำเกิง ชาลีจันทร์ หัวหน้าสำนักงานการเกษตรที่สูง กรมวิชาการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และพัฒนาพืชมะคาเดเมีย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ในระยะแรกมีอุปสรรคนานัปการ แต่ด้วยวิริยอุตสาหะ และความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ จนกระทั่งการพัฒนาพันธุ์ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ เกี่ยวกับมะคาเดเมียจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากประเทศออสเตรเลีย และรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา จนทำให้เกษตรกรได้มีความรู้ ในการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตมะคาเดเมีย มาจนถึงทุกวันนี้ และจากการค้นคว้าและวิจัยดังกล่าวทำให้ได้พันธุ์ทดลองอีก ๘ พันธุ์ คือ พันธุ์ # ๒๔๖, พันธุ์ # ๓๓๓, พันธุ์ # ๓๔๔, พันธุ์ # ๕๐๘, พันธุ์ # ๖๖๐, พันธุ์ # ๗๔๑, พันธุ์ # ๘๐๐, พันธุ์ Hinde (H2)
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปลูกมะคาเดเมียที่ไร่นวุติ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒
ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมีย ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย
การพัฒนาพันธุ์ทั้ง ๘ พันธุ์นี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้จัดซื้อต้นพันธุ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นความสำคัญของพืชชนิดนี้ ต่อมาในวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงได้รับต้นพันธุ์ ที่สั่งซื้อทั้ง ๘ พันธุ์ และใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ทางกรมวิชาการเกษตรได้สั่งซื้อพันธุ์จากประเทศออสเตรเลียเพิ่มเติมอีก ๒ พันธุ์ คือ โอซี (OC: Own Choice) และพันธุ์เอชวาย (HY: Rankine) นับว่า เป็นการรวบรวมพันธุ์มะคาเดเมียที่ใช้ปลูกเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการค้า ที่มีอยู่ในรัฐฮาวาย และออสเตรเลียทั้งหมด
นายดำเกิง ชาลีจันทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพืชมะคาเดเมีย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะเป็นต้นตอ และท่อนพันธุ์ สำหรับเสียบขยายพันธุ์ เมื่อต้นตอที่เพาะ มีอายุได้ ๑๒-๑๘ เดือน ซึ่งในปัจจุบันมีแปลงต้นพันธุ์ที่สามารถขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ในระดับ ๑๐๐-๒๐๐ ไร่ อยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (วาวี) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเลย แหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ทั้ง ๓ แห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่
ในการส่งเสริมการปลูกมะคาเดเมีย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีบทบาทสำคัญ โดยทรงนำไปปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นตัวอย่างการปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกมะคาเดเมียพันธุ์ดี ๓ พันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นการค้า คือ
๑. พันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ (HAES 660)
เป็นพันธุ์เบาและออกดอกดก ใช้ปลูกรวมกับพันธุ์อื่น เพื่อช่วยผสมเกสรให้พันธุ์อื่น โดยมีอัตราส่วนพันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ จำนวน ๑ แถวต่อพันธุ์อื่น จำนวน ๓ แถว พันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐ เมตรขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐-๖๐๐ เมตร ต้องอยู่ในแนวเส้นละติจูด ๑๙.๘ องศาเหนือขึ้นไป ได้แก่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ข้อเสียคือ ผลมีขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ด ๑๗๕-๑๙๐ เมล็ด/กิโลกรัม ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลา จำนวน ๑๓-๒๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี) ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่
๒. พันธุ์เชียงใหม่ ๗๐๐ (HAES 741)
ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักเนื้อในมากกว่าพันธุ์เชียงใหม่ ๔๐๐ และพันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ เมล็ดเนื้อในมีสีขาวสวยเป็นที่ดึงดูดตา เจริญเติบโตดี ให้ผลิตผลสูง และมีคุณภาพดี ในพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐ เมตรขึ้นไป ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลาจำนวน ๑๕-๓๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี)
๓. พันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ (HAES 508)
ผลมีขนาดปานกลาง เนื้อในมีคุณภาพยอดเยี่ยมคือ มีรูปทรงและสีสวย พันธุ์เชียงใหม่ ๑๐๐๐ เจริญเติบโตดี และให้ผลิตผลสูง ในสภาพอากาศหนาวเย็นที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป เป็นพันธุ์ทนแล้งแต่ไม่ทนร้อน ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า ๗๐๐ เมตรลงมาจะเกิดอาการแพ้ความร้อนคือ ใบเหลืองซีด ขอบใบไหม้ ผลิตผลเมล็ดทั้งกะลาจำนวน ๒๕-๔๐ กิโลกรัม/ต้น (อายุ ๑๔ ปี) ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสภาพพื้นที่