เล่มที่ 36
มะคาเดเมีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว

เป็นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวภายหลังจากผลร่วงและทำการเก็บผลแล้ว โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

๑) กะเทาะเปลือกเขียว (dehusking)

            เมื่อเก็บผลแก่ของมะคาเดเมียนำมากองรวมไว้แล้ว ให้กะเทาะเปลือกเขียวออก โดยการนำผลสดของมะคาเดเมียใส่ในถุงไนลอน แล้วตีด้วยท่อนไม้ให้เปลือกเขียวแตกและหลุดออก จากนั้นต้องรีบลอกเปลือกออกภายใน ๒๔ ชั่วโมง ไม่ควรนำผลทั้งเปลือกมากองรวมกันจำนวนมาก เพราะจะเกิดความร้อนทำให้เนื้อในเสื่อมคุณภาพ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการออกแบบ และสร้างเครื่องกะเทาะเปลือกมะคาเดเมียได้สำเร็จ โดยสามารถกะเทาะเปลือกออกได้ ๖๐๐ กิโลกรัม/ชั่วโมง และลอกเปลือกออกจากกะลาได้ถึงร้อยละ ๙๙


การกะเทาะเปลือกเขียว (เปลือกนอก) โดยใช้ไม้ตี

๒) คัดเมล็ด (sorting nut in shell)

            เป็นการคัดขนาดของเมล็ดเพื่อนำไปกะเทาะ เมล็ดในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

๓) ทำให้แห้ง (drying)  

            โดยการตากหรือผึ่งเมล็ดบนพื้นที่มีลมพัดผ่านสะดวกประมาณ ๓-๗ วัน ความชื้นจะลดลงเหลือประมาณ ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและฤดูกาลด้วย จากนั้นจึงนำเข้าโรงอบหรือไซโล เพื่อลดความชื้น จนเนื้อในล่อนออกไม่ติดกะลา ซึ่งความชื้นจะเหลือประมาณ ๑-๑.๕ เปอร์เซ็นต์

๔) กะเทาะเมล็ด (nut craking)

            เมื่อกะเทาะเปลือกเขียวออกแล้ว จะเห็นเปลือกของเมล็ดเป็นกะลาสีน้ำตาลซึ่งแข็งมาก ต้องใช้เครื่องมือกะเทาะกะลาออก จึงจะได้เนื้อในสีขาวที่นำมารับประทาน