ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจหาโรคไตแต่เนิ่นๆ ได้แก่
๑) คนปกติที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี เพราะการทำงานของไตจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น
๒) ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
๓) ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดอื่นๆ
๔) ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
๕) ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคไตอักเสบ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคเกาต์ โรคไตอักเสบชนิดไม่ใช่ติดเชื้อโรค
๖) ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตชนิดใดชนิดหนึ่ง
๗) ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นซ้ำๆ หลายครั้ง
๘) ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) หรือสัมผัสสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
วิธีการตรวจผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแม้การทำงานของไตจะลดลงครึ่งหนึ่งแล้วก็มักไม่มีอาการแสดงของโรคไตอย่างชัดเจน และการที่ “ไม่มีอาการแสดง” ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นประชากรกลุ่มเสี่ยง จึงควรได้รับการตรวจดังต่อไปนี้
๑) การตรวจปัสสาวะธรรมดา โดยการใช้แถบสีจุ่มปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีน หรือการที่มีเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ถ้าพบว่าน่าจะมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะควรตรวจวัดปริมาณโปรตีนภายใน ๒๔ ชั่วโมง ซ้ำอีกครั้ง หากปริมาณโปรตีนภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมงมีมากกว่า ๒๐๐ มิลลิกรัม/วัน แสดงว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ สันนิษฐานได้ว่า ไตทำงานผิดปกติแล้ว ในกรณีที่ไม่พบโปรตีนในปัสสาวะจากแถบสี แต่ผู้นั้นเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือมีความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม คือ การวัดระดับไมโครแอลบูมินในปัสสาวะ (microalbuminuria) ซึ่งเป็นการตรวจปริมาณโปรตีนในระดับน้อยๆ ที่รั่วออกมาในผู้ป่วยโรคไตระยะต้นหรือกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ ปัสสาวะของคนปกติจะมีปริมาณไมโครแอลบูมินในปัสสาวะภายใน ๒๔ ชั่วโมงไม่เกิน ๓๐ มิลลิกรัม แต่ถ้าปริมาณไมโครแอลบูมินในปัสสาวะภายใน ๒๔ ชั่วโมง อยู่ระหว่าง ๓๐-๓๐๐ มิลลิกรัม ถือว่า ไตเริ่มผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ต่อไป
แถบสีที่ใช้จุ่มปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโปรตีน
๒) การตรวจระดับการทำงานของไต โดยการเจาะเลือดวัดค่าครีอะตินิน โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีค่าครีอะตินิน ๐.๘-๑.๒ ถือว่า การทำงานของไตปกติ แต่ถ้ามีค่าครีอะตินินตั้งแต่ ๑.๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องส่งต่อ เพื่อตรวจเฉพาะทางต่อไป
วิธีตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ ด้วยน้ำยาพิเศษ ปริมาณโปรตีนรั่วในปัสสาวะที่มากขึ้นตามลำดับ แสดงว่าไตผิดปกติ
๓) การตรวจภาพรังสี เช่น การเอกซเรย์ดูไต อาจเห็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งถ้าเป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมก็จะทึบแสง เห็นเป็นรอยโรคได้ แต่ถ้าเป็นนิ่วชนิดยูริกจะไม่เห็นจากภาพรังสีธรรมดา จำเป็นต้องใช้การตรวจพิเศษ เช่น ฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำแล้วถ่ายภาพรังสี ก็สามารถเห็นรอยโรคในไตได้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันการตรวจทางรังสีนิยมใช้อัลตราซาวนด์ คือ การใช้คลื่นเสียงตรวจเนื้อไต แล้วแปลงเป็นภาพ ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคไตบางชนิดได้ แต่ถ้าเป็นเนื้องอก หรือหลอดเลือดตีบตัน ก็จะใช้การตรวจทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะบอกรายละเอียดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การแปลผลจากภาพรังสีเทคนิคต่างๆ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในการอ่าน อาจมีข้อผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือดจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำยิ่งขึ้น
๔) การตรวจพิเศษบางอย่าง เช่น ใช้รังสีไอโซโทป เพื่อบอกถึงการทำงานของไตในด้านระบบไหลเวียนเลือดไปที่ไตที่เรียกว่า เรโนแกรม (renogram) ซึ่งจะแนะนำให้ตรวจเมื่อมีข้อบ่งชี้หรือสงสัยพยาธิสภาพที่หลอดเลือดของไตง
เนื้อไตที่ขรุขระ
แสดงว่าผิดปกติ
๕) การตรวจชิ้นเนื้อไต เป็นการตรวจชิ้นเนื้อไตหลังการย้อมพิเศษ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ วิธีการย้อมสีเรืองแสง หรือย้อมกับสารต่อต้านของเซลล์นั้นๆ เพื่อให้ทราบพยาธิสภาพที่แท้จริงก็มีผู้นิยมตรวจเช่นกัน