เล่มที่ 36
โรคไต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)

            เป็นภาวะที่การทำลายเนื้อไตเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการทำลายไตอย่างถาวร ไตไม่สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ปกติแบบไตวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งไตเสียไปมากกว่าร้อยละ ๕๐ ผู้ป่วยจึงจะเริ่มแสดงอาการของไตเรื้อรังทีละน้อยๆ จนเมื่อการทำงานของไตเสียเกือบทั้งหมด จะมีอาการรุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามตัว บวม เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม โดยการซักประวัติ เพื่อหาสาเหตุของอาการข้างต้น ควบคู่ไปกับการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ดูหน้าที่ไตและภาพรังสี ซึ่งแสดงถึงไตที่ฝ่อ และมีขนาดเล็กลงจากเดิมมาก การรักษาไตเรื้อรังจึงทำได้แต่เพียงประคับประคองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจวาย อาการชัก หมดสติ หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องใช้วิธีฟอกเลือดเอาของเสียออกจากร่างกาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพ พอช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไตยังคงเป็นพังผืด เป็นรอยของการอักเสบเรื้อรังระยะเวลานาน ซึ่งไม่สามารถแก้ไข หรือรักษาให้ฟื้นกลับมาทำงานเป็นปกติเช่นเดิมได้ ผู้ป่วยประเภทนี้จะต้องรักษาด้วยวิธีฟอกเลือด หรือล้างช่องท้องชนิดถาวร เพื่อนำเอาของเสียออกไปตลอดเวลา จนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ซึ่งอาจเป็นไตที่ได้รับบริจาคหรือไตจากพ่อแม่ คู่สมรส ลูก หลานที่มีกลุ่มเลือดและเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้ ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้วก็จะฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงไตปกติเช่นเดิม โดยต้องรับประทานยารักษาไตใหม่ตลอดไป และอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน


ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ เท้า และลำตัว

การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ข้อต่อไปนี้

            ๑. ผู้ป่วยที่มีภาวะไตผิดปกตินานติดต่อกันเกิน ๓ เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอัตรากรองของไต (Glomerular Filtration Rate: GFR) ผิดปกติหรือไม่ก็ได้ ซึ่งภาวะไตผิดปกติหมายถึง การมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้


ไตปกติ (ซ้าย) จะมีขนาดใหญ่ สีแดง ขอบเรียบ ส่วนไตเรื้อรัง (ขวา) จะฝ่อ มีขนาดเล็กลง สีซีด และขอบขรุขระ

๑.๑ ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจปัสสาวะอย่างน้อย ๒ ครั้ง ระยะเวลา ๓ เดือน ดังนี้

ก) ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ (proteinuria)

  • ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และตรวจพบไมโครแอลบูมินในปัสสาวะ
  • ถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า ๕๐๐ มิลลิกรัม/วัน หรือมากกว่า ๕๐๐ มิลลิกรัม/กรัมครีอะตินิน
ข) ตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ

๑.๒ ตรวจพบความผิดปกติทางรังสีวิทยา

๑.๓ ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างหรือพยาธิสภาพ

            ๒. ผู้ป่วยที่มีอัตรากรองของไตน้อยกว่า ๖๐ มิลลิลิตร/นาที/๑.๗๓ ตารางเมตรของพื้นที่ผิวกาย เป็นเวลาติดต่อกันเกิน ๓ เดือน โดยอาจตรวจพบหรือไม่พบว่ามีร่องรอยของไตผิดปกติก็ได้ การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อาจแบ่งระยะความรุนแรงของโรคได้เป็น ๕ ระยะ ดังนี้