การรักษาด้วยวิธีไตเทียม
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้าย หรือการทำงานของไตเสียไปประมาณร้อยละ ๙๕ ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงมาก จนถึงกับเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการทำไตเทียมวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเท่านั้น โดยปกติแพทย์จะพิจารณาเริ่มให้การรักษาที่เร็วกว่าระยะนี้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้าสู่ระยะสุดท้าย อาการมักรุนแรงมาก จนอาจแก้ไขไม่ทัน การฟื้นตัวของผู้ป่วยจะช้ามากหรือไม่ได้เลย ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคไตเรื้อรังทั้งหมด ๓ วิธี คือ
๑. การรักษาทั่วไป
๒. การทำไตเทียม
๓. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
๑. การรักษาทั่วไป
เป็นการรักษาในกรณีของผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ยังสูญเสียหน้าที่ไตไม่มาก เพื่อชะลออัตราการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด การรักษาทั่วไป ได้แก่ การควบคุมอาหาร และการรักษาด้วยยา เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับฟอสฟอรัสหรือยารักษาความเป็นกรดในเลือด แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายจะใช้การรักษาด้วยวิธีนี้อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย คือ การทำไตเทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
๒. การทำไตเทียม
การทำไตเทียม คือ การขจัดหรือการล้างของเสียที่คั่งค้างจากภาวะไตวายออกจากร่างกายของผู้ป่วย การรักษาวิธีนี้ เป็นการล้างของเสียออกจากร่างกายให้สะอาด คล้ายกับการทำงานของไตของผู้ป่วย บางครั้งอาจเรียกว่า การล้างไต อย่างไรก็ตาม การล้างไตไม่ได้เข้าไปชำระล้างหรือเกี่ยวข้องกับไตของผู้ป่วยโดยตรง เป็นเพียงการทำงานทดแทนไตเดิม ของผู้ป่วยเท่านั้น การล้างไตมี ๒ วิธี คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (haemodialysis) และการล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis)
กระบวนการล้างไต
๑) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือบางคนเรียกสั้นๆ ว่า ไตเทียม คือ การขจัดของเสีย ที่คั่งค้างในร่างกายโดยใช้เครื่องไตเทียม เพื่อดึงน้ำและของเสียออกจากเลือด ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และนำเลือดผู้ป่วยออกทางเส้นเลือดที่แขนหรือขา จากนั้น จึงนำเลือดมาผ่านตัวกรอง เพื่อฟอกให้สะอาด แล้วส่งเลือดกลับคืนสู่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอดการฟอก ทำให้ระดับของเสียในร่างกายลดลงได้ หลังการฟอกเลือดเสร็จแล้ว น้ำหนักตัวของผู้ป่วยจะลดลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ ที่ดึงออกจากตัวผู้ป่วย ส่วนปริมาณของเสียในเลือดจะลดลง ใกล้เคียงหรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย ต่อจากนั้น ของเสียและน้ำ จะเริ่มมีการสะสมเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกเลือดเป็นระยะๆ ตลอดชีวิตของผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องมีเส้นเลือด ที่จัดเตรียมสำหรับการฟอกเลือดโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นเส้นเลือดแบบชั่วคราวหรือถาวร พยาบาลจะใช้เข็มแทงเข้าที่เส้นเลือด และนำไปต่อเข้ากับเครื่องไตเทียม โดยเครื่องไตเทียมจะมีปั๊มดึงเลือดของผู้ป่วยออกมาทางเข็มแรก เลือดจะถูกนำไปผ่านกระบวนการแพร่กระจาย และกระบวนการอัลตราฟิลเทรชัน (ultrafiltration) ภายในตัวกรอง เพื่อขจัดของเสีย และน้ำส่วนเกินออกไป เลือดที่ผ่านตัวกรองแล้วจะมีของเสียลดน้อยลง และถูกส่งกลับคืนผู้ป่วยผ่านทางเข็มที่ ๒ เครื่องไตเทียมทำการหมุนเวียนเลือดเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดการฟอกเลือด เป็นระยะเวลาประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง ปริมาณของเสียในเลือดผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลาการฟอกเลือดจนเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติ เมื่อสิ้นสุดการฟอกเลือด ในแต่ละครั้ง
กระบวนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
๒) การล้างไตทางช่องท้อง
เป็นการล้างไตวิธีหนึ่ง ซึ่งอาศัยผนังเยื่อบุช่องท้อง ทำหน้าที่คล้ายเมมเบรนของตัวกรองฟอกเลือด แยกระหว่างส่วนของเลือด กับส่วนของน้ำยาล้างไต (Peritoneal Dialysis Fluid: PDF) ส่วนของเลือด ได้แก่ เส้นเลือดต่างๆ ที่อยู่ตามผิวของเยื่อบุช่องท้อง และลำไส้ ส่วนของน้ำยาล้างไต ได้แก่ น้ำยาที่ใส่เข้าไปในช่องท้อง เมื่อใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องแล้ว ให้แช่ทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ของเสียในเลือดที่มีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำยาล้างไตจะมีการแพร่กระจายผ่านเยื่อบุช่องท้องมายังน้ำยาล้างไต ทำให้ของเสียในเลือดลดลง หลังจากนั้นจึงถ่ายน้ำยาล้างไตออกทิ้ง แล้วใส่น้ำยาล้างไตใหม่เข้าไปแทนที่ โดยทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป
กระบวนการล้างไตทางช่องท้อง
การล้างไตทางช่องท้องจำเป็นต้องใช้สายยางพิเศษ (peritoneal catheter) สำหรับใส่น้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งมีลักษณะนิ่ม และทำมาจากวัสดุที่ร่างกายไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เช่น ซิลิโคน แพทย์จะทำการผ่าตัดหรือเจาะหน้าท้อง แล้วใส่สายยางนี้ เข้าสู่ช่องท้องของผู้ป่วย ปลายสายข้างหนึ่งอยู่ในช่องท้องในตำแหน่งที่ต่ำที่สุดของช่องท้อง ปลายสายอีกข้างหนึ่งแทงผ่านผนังหน้าท้อง ออกมานอกผิวหนังของผู้ป่วยในบริเวณต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยสามารถต่อถุงน้ำยาล้างไตเข้ากับปลายด้านนอกนี้ เพื่อเป็นช่องทางถ่ายน้ำยาระหว่างถุงน้ำยาภายนอกกับช่องท้องได้ น้ำยาจะถูกถ่ายเทโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงเป็นตัวช่วยในการไหลของน้ำ คือ น้ำจะไหลจากตำแหน่งที่สูงไปสู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่า ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยยกถุงน้ำยาล้างไตให้สูงกว่าช่องท้องของผู้ป่วย น้ำยาล้างไตจะไหลจากถุงน้ำยาเข้าสู่ช่องท้อง และเมื่อวางถุงน้ำยาให้ต่ำกว่าช่องท้องของผู้ป่วย น้ำจากช่องท้องจะไหลออกมาสู่ถุงน้ำยา
เยื่อบุช่องท้องทำหน้าที่เป็นแผ่นกรองเมมเบรน กั้นระหว่างน้ำยาล้างไตในช่องท้องกับเลือดของผู้ป่วย เมื่อปล่อยให้น้ำยาล้างไตแช่ไว้ในช่องท้องนาน ๓-๔ ชั่วโมง ของเสียและสารต่างๆ ที่มีมากเกินไปในเลือด จะค่อยๆ แพร่กระจายจากเลือด ผ่านเยื่อบุช่องท้อง แล้วเข้าสู่น้ำยาล้างไต หลังจากนั้น น้ำยาล้างไตจะถูกปล่อยให้ไหลออกมาทางสายที่หน้าท้อง ซึ่งมีของเสียและน้ำ ออกจากเลือดของผู้ป่วยตามออกมาด้วย เมื่อปล่อยน้ำยาเก่าออกมาจนหมดแล้ว ผู้ป่วยจะปลดถุงน้ำยาเก่าทิ้งแล้วเปลี่ยนถุงน้ำยาใหม่ หลังจากนั้น จึงเริ่มใส่น้ำยาล้างไตใหม่ เข้าไปในช่องท้องอีก ทำเช่นนี้ ๔-๖ ครั้งต่อวัน แล้วแต่ว่าการล้างไตทำด้วยน้ำยาที่มีขนาดบรรจุเท่าใด โดยปกติ ปลายสายที่แทงออกมาภายนอกบริเวณหน้าท้องยาวประมาณ ๖-๑๐ เซนติเมตร และมีสายต่อจากสายยางไปยังถุงน้ำยา ยาวประมาณ ๑๒๐-๑๕๐ เซนติเมตร ส่วนถุงน้ำยามักเป็นถุงพลาสติกที่นิ่มสามารถม้วนพับเก็บได้ง่าย เมื่อใส่น้ำยาเข้าช่องท้องแล้ว ผู้ป่วยสามารถซ่อนสายยางไว้โดยพันสายไว้รอบเอว และม้วนเก็บถุงน้ำยาไว้ในกระเป๋าเล็กๆ ใต้เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่
๓. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต คือ การผ่าตัดไตของญาติที่ยังมีชีวิต หรือไตของผู้บริจาคที่เพิ่งเสียชีวิตหรือสมองตาย แต่ไตยังคงทำงานเป็นปกติ มาใส่ให้แก่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อใช้ทำหน้าที่ขับของเสียทดแทนไตเดิม ซึ่งสูญเสียหน้าที่ไปแล้ว ดังนั้นหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะมีไตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก ๑ ข้าง ปัจจุบันยอมรับกันว่า การปลูกถ่ายไต เป็นการบำบัดทดแทนไต ที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการบำบัดทดแทนไตในรูปแบบอื่น โดยมีอัตราการอยู่รอดของไตที่ปลูกถ่ายมากกว่าร้อยละ ๙๕ ในช่วงปีแรก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย จากการใช้ยากดระบบภูมิคุ้มกัน และยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยยับยั้งการปฏิเสธไต ที่ปลูกถ่ายใหม่ จากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะภายในครึ่งปีแรกของการปลูกถ่ายไต ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย จากโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในร่างกาย หรือเชื้อโรคที่รับเข้ามาใหม่ภายหลังการปลูกถ่ายไต จึงต้องระวังรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ และภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยทุกราย ควรได้รับการตรวจประเมินความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งได้รับความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง ในขั้นตอนของการปลูกถ่ายไต ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการปลูกถ่ายไต