วิทยาการระบาดของโรคไตในกลุ่มประชากรไทย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมนึก ดำรงกิจชัยพร และคณะ ได้ทำการสำรวจ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน ๓,๔๙๙ ราย ว่าเกิดไตเสื่อมหรือผิดปกติขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด โดยได้ติดตามผลในอีก ๑๒ ปีต่อมา ปรากฏว่า สามารถติดตามผลได้ ๒,๙๖๗ ราย อายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับการตรวจระหว่าง ๓๓-๕๕ ปี เป็นเพศชายร้อยละ ๗๕.๙ ผลปรากฏว่าพบการเกิดไตเรื้อรังระยะที่ ๓ เพิ่มจากร้อยละ ๑.๖ เป็นร้อยละ ๖.๔ ระยะที่ ๔ เพิ่มจากร้อยละ ๐.๑ เป็นร้อยละ ๐.๒ และระยะที่ ๕ เพิ่มจากร้อยละ ๐ เป็นร้อยละ ๐.๒ รวมทั้ง ๓ ระยะเพิ่มจากร้อยละ ๑.๗ เป็นร้อยละ ๖.๘ การตรวจเลือดค่าซีรัมครีอะตินินเพิ่มจากร้อยละ ๖.๑ เป็นร้อยละ ๑๖.๙ พบโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มจากร้อยละ ๒.๖๔ เป็นร้อยละ ๖.๑๐ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหน้าที่ไตเสื่อม ได้แก่ ความดันโลหิตสูงชนิดซีสโตลิกมากกว่า ๑๕๙ มิลลิเมตรปรอท การมีกรดยูริกสูงในเลือดเกิน ๖.๒๙ มิลลิกรัม/เดซิลิตร มีดัชนีมวลกายเกิน ๒๔.๙ กิโลกรัม/ตารางเมตร
ผลของการศึกษาดังกล่าวได้จุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาพประชากร ประกอบกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้เริ่มให้มีการลงทะเบียนทดแทนไตเกิดขึ้น ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ทำให้ทราบถึงอัตราการขอรับบริการทำไตเทียมและปลูกถ่ายไตสูงมากขึ้นทุกปี จนใน พ.ศ. ๒๕๔๘ พบว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีจำนวนถึง ๑๗๕.๒ ราย/ประชากร ๑ ล้านคน หรือเท่ากับ ๑๑,๒๐๘ ราย/ปี มีผู้ป่วยใหม่ประมาณ ปีละ ๓,๙๙๘ ราย หรือ ๖๒.๕ ราย/ประชากร ๑ ล้านคน ถ้ารวมผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ ๓๐๐ ราย/ประชากร ๑ ล้านคน ถ้าประชากรไทยมี ๖๔ ล้านคน ก็จะมีผู้ป่วยประมาณ ๒๐,๐๐๐ ราย การรักษาโดยการทำไตเทียมมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ๒๐๐,๐๐๐ บาท/คน/ปี รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้ป่วยและประเทศชาติโดยรวม
พ.ศ. ๒๕๔๖ นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ได้รายงานการเกิดโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ระยะที่ ๑ เป็นครั้งแรก โดยเป็นผลจากการสำรวจบุคลากรของกองทัพอากาศไทยที่มารับการตรวจร่างกายประจำปี ณ กองเวชศาสตร์ป้องกัน กรมแพทย์ทหารอากาศ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๖-พ.ศ. ๒๕๔๗ จำนวน ๑๕,๖๑๒ คน เป็นเพศชายร้อยละ ๘๖ อายุเฉลี่ย ๔๕.๗ ± ๘ ปี พบอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังรวม ๕ ระยะ ได้ร้อยละ ๙.๑ โดยใช้สูตร Cockcroft-Gault และร้อยละ ๔.๖ เมื่อใช้สูตร MDRD ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ อายุมาก น้ำหนักตัวมาก ดัชนีมวลกายสูง ความดันโลหิตสูง และค่าน้ำตาลในเลือดสูง
ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ มีรายงานการศึกษาจากผลสำรวจสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ (The Third National Health Examination Survey: NHES III) ของสถาบันวิจัยประชากร ซึ่งสำรวจประชากรทั่วประเทศไทยจำนวน ๓๙,๒๙๐ ราย อายุเฉลี่ย ๔๕ ± ๑๗ ปี เป็นเพศชายร้อยละ ๔๙ คำนวณโดยใช้สูตร MDRD แต่ปรับปรุงตามเชื้อชาติในเอเชีย พบอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรัง เมื่อใช้สูตร ซึ่งเสนอโดยประเทศจีน พบโรคไตเรื้อรังระยะที่ ๓ ถึงระยะที่ ๕ ได้ร้อยละ ๘.๔๕ ปัจจัยเสี่ยงคือ อายุที่มากขึ้นทุก ๑๐ ปี โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายสูง คอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น และการสูบบุหรี่ โดยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจะเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๕๐ รายงานจากกลุ่ม InterASIA สำรวจประชากรทั่วไปซึ่งมีอายุเฉลี่ย ๓๕ ปีขึ้นไป โดยใช้สูตร Cockcroft-Gault ในการบอกหน้าที่ไต พบโรคไตเรื้อรังระยะที่ ๓ ร้อยละ ๒๐.๑ และระยะที่ ๔ ร้อยละ ๐.๙๔ ซึ่งหากคำนวณจะพบว่า มีผู้เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ ๓ จำนวนมากถึง ๕ ล้านคน และถ้าใช้สูตร MDRD จะพบผู้เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ ๓ ร้อยละ ๑๓.๒ และระยะที่ ๔ ร้อยละ ๐.๖๑ เทียบเท่าประชากรจำนวน ๓.๓ ล้านคน ซึ่งมากกว่าในสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย หากเปรียบเทียบกับคนในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ก็มีอุบัติการณ์มากกว่า
ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ จาก Screening and Early Evaluation of Kidney Disease (SEEK-Study) ซึ่งศึกษาประชากรไทยทั่วทุกภาคจำนวน ๒,๘๔๔ คน อายุเฉลี่ย ๔๕ ปี เป็นเพศชายร้อยละ ๔๕.๗ พบโรคไตเรื้อรังระยะที่ ๑ ร้อยละ ๓.๓ ระยะที่ ๒ ร้อยละ ๕.๖ ระยะที่ ๓ ร้อยละ ๗.๕ ระยะที่ ๔ ร้อยละ ๐.๘ และระยะที่ ๕ ร้อยละ ๐.๓ รวมทั้งหมดเป็นร้อยละ ๑๗.๕ อุบัติการณ์มีมากในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมากกว่าในภาคกลางและภาคใต้ ปัจจัยเสี่ยงคือ มีอายุมาก เป็นเพศหญิง เป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง มีกรดยูริกในเลือดสูง การใช้ยาหม้อ และประวัตินิ่วในไต