เล่มที่ 36
โรคไต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สาเหตุของโรคไต

  • โรคไตเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • การอักเสบจากการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • นิ่วของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคต่อมลูกหมาก
  • เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ
  • การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย
  • โรคถุงน้ำในไต
  • โรคไตอักเสบกลุ่มอาการอัลพอร์ต
  • เนื้องอกที่ไต
  • โรคภูมิแพ้เซลล์ตนเองหรือโรคเอสแอลอี
  • การได้รับยาและสารเคมีซึ่งเป็นพิษต่อไต
  • การบาดเจ็บที่ไต
  • การได้รับสารพิษจากงูและแมลงมีพิษ
  • การเป็นโรคไขข้อชนิดที่เรียกว่า  เกาต์

โรคเบาหวาน


            โรคเบาหวานเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงานได้ตามปกติ สาเหตุเกิดจาก การที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลิน (insulin) ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปตับอ่อนทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน และอินซูลินจะพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพื่อสร้างพลังงาน หากตับอ่อนผลิตได้น้อย หรือผลิตไม่ได้เลย จะเกิดภาวะพร่องอินซูลิน ทำให้มีภาวะน้ำตาลคั่งในเลือด (hyperglycemia) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี น้ำตาลในเลือดที่สูง จะเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงเล็กตีบตัน ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ น้อยลง การทำงานจะเสื่อมลงและเกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะต่างๆ เช่น จอประสาทตา หัวใจ สมอง และไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานหลายสิบปี หรือผู้ที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี เนื้อไตจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ ซึ่งเห็นได้จาก การตรวจพบโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ นอกจากนี้แล้วโรคเบาหวานยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่สมบูรณ์ และเกิดภาวะติดเชื้อ เกิดการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะได้บ่อย ดังนั้น โรคเบาหวานจัดเป็นโรคสำคัญอันดับต้นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โรคเบาหวานทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ตามัว และแขนขาชา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยลดลงอย่างมาก อาการแสดงของผู้เป็นโรคเบาหวาน คือ อ่อนเพลีย ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ คันตามตัว


ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ (มีเลือดปน) และปัสสาวะมีฟองมาก คือ ลักษณะปัสสาวะที่ผิดปกติ ส่วนปัสสาวะสีเหลืองใส คือ ลักษณะปัสสาวะปกติ

โรคความดันโลหิตสูง

            โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลายเป็นโรคไตเรื้อรัง ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งใกล้เคียงกับโรคเบาหวาน การเกิดความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่ค่อยพบสาเหตุที่แท้จริง โดยเป็นไปได้ทั้งสาเหตุจากโรคไตเรื้อรังและผลของการเกิดโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงยังก่อให้เกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้ที่สูบบุหรี่ ส่วนโรคไตที่มีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง เกิดจากความดันโลหิตสูง จะไปทำให้หลอดเลือดแดงเล็กหนาขึ้นและแข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เช่น ไต หัวใจ สมอง ซึ่งอาการแสดงเป็นเฉพาะอวัยวะที่ถูกทำลายนั้นๆ เช่น เหนื่อย บวม ปวดศีรษะ อัมพาต

การอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ

            โดยทั่วไปน้ำปัสสาวะจะปราศจากเชื้อโรค และไหลผ่านท่อไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ แล้วขับออกมาทางท่อปัสสาวะ โดยไม่มีการไหลย้อน แต่เมื่อใดที่ทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตันหรือมีปัสสาวะจำนวนมากค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ดังเช่นในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากระบบประสาทที่ไปเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถบีบกระเพาะปัสสาวะให้ขับน้ำปัสสาวะออกมาได้หมด ยังคงค้างอยู่ตลอดเวลา ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีโอกาสเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์มากขึ้น จนทำให้อาการอักเสบติดเชื้อเป็นมากขึ้น ในกรณีที่รุนแรงหรือเป็นบ่อยๆ อาจลุกลามถึงเนื้อไต ทำให้ไตเสียจนเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุด อาการและอาการแสดงของผู้เป็นโรคนี้ คือ ปัสสาวะแสบขัด ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น ปวดบั้นเอว ไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน


ระบบทางเดินปัสสาวะในเพศชาย

นิ่วของระบบทางเดินปัสสาวะ

            นิ่วมีหลายชนิด เมื่อเกิดนิ่วขึ้นแล้วจะไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะและทำลายเนื้อไตไปเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไข  อาการแสดงคือ ปัสสาวะขัด ขุ่น มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ บางครั้งพบกรวดทรายปนมากับปัสสาวะ ในรายที่นิ่วไปอุดท่อไต จะทำให้มีอาการปวดท้องด้านใดด้านหนึ่งจนร้าวไปที่หน้าขา มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในประเทศไทยพบบ่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ สำหรับวิธีรักษานิ่วในไต มีทั้งการรับประทานยา การสลายนิ่ว และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค


ภาพรังสีแสดงการเกิดนิ่วที่ไต

โรคต่อมลูกหมาก

            แม้โรคนี้ไม่ค่อยเป็นสาเหตุของไตเรื้อรัง แต่ถ้าเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไตวาย อาการแสดงพบในเพศชายอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป มีอาการปัสสาวะลำบาก ลำปัสสาวะไม่พุ่งแรง เหมือนปัสสาวะไม่สุด ในเวลากลางคืนต้องตื่น เพื่อถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ

เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ
            
            ไม่ว่าจะเกิดเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก ท่อไต และเนื้อไต ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดผลกระทบต่อหน้าที่ของไตทั้งสิ้น อาการแสดงคือ ปัสสาวะมีสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ ซึ่งจะเด่นกว่าอาการอื่น นอกนั้นก็เป็นอาการเนื้องอกของอวัยวะที่เป็น ส่วนอาการทั่วไปคือ อ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด

การอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย

            โรคดังกล่าวมักพบเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ผู้ป่วยมักมีอาการบวม โดยเป็นๆ หายๆ นานหลายเดือน บางรายถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟองมาก เนื่องจากมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ มีความดันโลหิตสูง มีพยาธิสภาพในชิ้นเนื้อไตที่บอกถึงการอักเสบ บางรายรักษาได้ด้วยยา บางรายไม่ตอบสนองต่อยา สุดท้ายอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรัง


ลักษณะของไตที่เป็นโรคถุงน้ำในไต ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม (ซ้าย) โดยภาพขวาจะผ่าครึ่ง เพื่อให้เห็นชัดเจน

โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease)

            พบว่ามีถุงน้ำหรือซีสต์ (cyst) อยู่ในเนื้อไต ซีสต์จะงอกโตขึ้นเรื่อยๆ จากเนฟรอนและขยายเบียดเนื้อไตที่ดี ทำให้ไตเสื่อม และกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๓๐-๕๐ ปี อาการแสดงคือ มีอาการปวดหลัง บางครั้งคลำพบก้อนในท้อง มีการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ ปัสสาวะมีเลือดปน มีความดันโลหิตสูง โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น จึงควรให้สมาชิกในครอบครัวตรวจปัสสาวะและถ่ายภาพเอกซเรย์ไตด้วย

โรคไตอักเสบกลุ่มอาการอัลพอร์ต (Alport’s Syndrome)

            เป็นโรคไตอักเสบที่พบว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มักพบในเพศชาย โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ ๑๐-๑๕ ปี จนถึง ๔๐-๕๐ ปี อาการแสดงคือ ปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ มีความผิดปกติทางหูและทางตา โรคนี้สามารถดำเนินโรคไปจนถึงขั้นไตเรื้อรังได้ เนื่องจากไม่มียารักษาโดยเฉพาะ

เนื้องอกที่ไต
            
            เนื้องอกที่ร้ายแรงคือ มะเร็งของไต ผู้ป่วยบางรายไม่ค่อยมีอาการเด่นชัด จนเนื้องอกก้อนใหญ่มากขึ้นจึงปรากฏอาการปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียน มีไข้เรื้อรัง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้ามะเร็งแตกจากเนื้อไตจะสามารถแพร่กระจายไปยังปอด กระดูก และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย วิธีการรักษาคือ การผ่าตัด อาจมีการใช้รังสีรักษาหรือเคมีบำบัดตามมาในภายหลัง

โรคภูมิแพ้เซลล์ตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE)

            เป็นโรคที่เกิดเนื่องจากภูมิแพ้เซลล์ตนเอง โดยปกติเซลล์ต่างๆ ของร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรค หรือสารแปลกปลอมเข้ามาทำลายเซลล์ของร่างกาย แต่โรคนี้จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านเซลล์ของตนเอง ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า มีพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ นอกเหนือไปจากสารอื่นๆ เช่น ไวรัส สารเคมีบางชนิด มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตรา ๑๐ ต่อ ๑ โรคนี้ทำให้เกิดอาการไตอักเสบ จนกลายเป็นไตเรื้อรังได้ อาการแสดงของโรคเอสแอลอี ได้แก่ ปวดข้อต่างๆ หลายข้อ ผมร่วง แพ้แสงแดด เกิดผื่นบริเวณใบหน้า และส่วนที่ถูกแสงแดด มีไข้เรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโต ปัสสาวะมีเลือดและโปรตีน น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย บางรายที่มีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหลอดเลือดสมองอักเสบจนเกิดอาการชักได้


ผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรคเอสแอลอี มีผื่นแดงบริเวณใบหน้า ผม และคิ้วบางลง

การได้รับยาและสารเคมีที่เป็นพิษต่อไต

            สารเคมีและยาหลายชนิดที่มีการขับออกทางไต ถ้าใช้ในปริมาณมากและเป็นเวลานานมีผลกระทบทำลายไตได้ รวมถึงยาแก้ปวด และยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู ทองแดง ฟอสฟอรัส สารเคมีประเภทคาร์บอนเตตระคลอไรด์ เอทิลีนไกลคอล ไฮโดรคาร์บอนต่างๆ รวมทั้งพิษจากเห็ดและพิษงู ดีปลาดิบๆ ของกลุ่มปลาตะเพียน (raw carp bile) ล้วนแล้วแต่ทำลายเนื้อไตได้ทั้งสิ้น

            การใช้ยาประเภทปฏิชีวนะต้องระมัดระวังด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับ ผู้ที่มีอายุมากและไตเสื่อมอยู่แล้ว การใช้ยาดังกล่าว อาจเกิดอาการแพ้ หรือมีพิษต่อไตโดยตรง ถ้าใช้เกินขนาดหรือใช้นาน ก็มีโอกาสทำลายเนื้อไตได้

สารรังสีที่ใช้ในการตรวจภาพทางรังสี ก็มีส่วนประกอบของสารที่อาจเกิดอันตรายต่อไตได้เช่นกัน


เห็ดที่มีพิษทำให้ไตวายได้

การบาดเจ็บที่ไต

            การประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ การตกจากที่สูง และการเล่นกีฬาบางประเภท อาจเกิดการกระทบที่ไตอย่างรุนแรง สังเกตได้จาก การปวดบริเวณบั้นเอว ซึ่งมีไตอยู่ ๒ ข้าง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดหลังประสบอุบัติเหตุจนเนื้อไตฉีกขาดหรือเลือดออกมาก

การได้รับสารพิษจากสัตว์มีพิษและงู

            หากถูกสัตว์มีพิษต่อย เช่น ฝูงต่อต่อย ทำให้เกิดไตวายได้ พิษงูบางชนิด เช่น งูแมวเซา งูทะเล งูเขียวหางไหม้ ก็มีผลทำลายไตได้เช่นกัน