ไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
เป็นภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างรวดเร็วภายในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง หรือ ๒-๓ วัน เกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่
๑) การสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น ท้องเดินจนความดันโลหิตต่ำ อาจช็อกได้ หากไม่ได้รับการรักษา โดยการให้สารน้ำทดแทนอย่างรวดเร็วทันเวลา มีผลทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะน้อยกว่า ๔๐๐ ซีซีต่อวัน จนถึงปัสสาวะไม่ออกเลยก็ได้
๒) การเสียเลือดในปริมาณมาก เช่น เสียเลือดจากการคลอดบุตรที่ผิดปกติ เสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหาร ที่ไม่ได้รับการรักษา มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือร่วมกับการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ้าไม่ได้รับเลือดทดแทนทันเวลา ทำให้เกิดภาวะช็อกได้ และมีผลทำให้ไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน เนื่องจากไตขาดเลือดที่มาเลี้ยงอย่างเพียงพอ
๓) การได้รับสารที่มีพิษต่อไต อาจเป็นยาแก้ปวดบางชนิด ยาแก้อักเสบที่ใช้ฉีดในปริมาณมากติดต่อกันนานเกิน ๑ สัปดาห์ขึ้นไป หรือสารพาราควอต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า การติดเชื้อมาลาเรีย และการถูกสัตว์มีพิษต่อย เช่น ฝูงต่อต่อย
๔) การติดเชื้อที่รุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งถ้าไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อได้ หรือรักษาช้าเกินไป จะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน
ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการบวม
บริเวณใบหน้า มือ เท้า และลำตัว
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถทำได้จากการซักประวัติ การสูญเสียสารน้ำปริมาณมากและรุนแรง การเสียเลือดมาก ได้รับสารพิษ และมีการติดเชื้อในร่างกายรุนแรง การตรวจหาสาเหตุเพื่อแก้ไขและรักษาเป็นสิ่งจำเป็น และต้องทำควบคู่ไปกับการตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด และการตรวจภาพรังสีตามความเหมาะสม
การที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีของเสียคั่งค้างในร่างกาย มีเกลือแร่บางอย่างมากเกินกว่าที่ร่างกายสามารถขับออกได้ตามปกติ เช่น มีโพแทสเซียมสูงมากเกินระดับความปลอดภัย จนมีผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือด การทำไตเทียม (haemodialysis) หรือการล้างของเสียออกทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) เป็นการชั่วคราว จนกว่าอาการไตวายเฉียบพลันจะได้รับการรักษาให้ดีขึ้น และไตเริ่มฟื้นตัวกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒-๔ สัปดาห์