กลุ่มผู้ใช้และวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่องประดับ
คน ๓ กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้และการครอบครองเครื่องประดับ คือ ผู้สวมใส่ ผู้ลงทุน และผู้สะสม ซึ่งแต่ละกลุ่ม มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน
ผู้สวมใส่
ผู้สวมใส่เครื่องประดับถือว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นการตกแต่งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการสวมสร้อย ที่คอ หรือที่ข้อมือ คาดเข็มขัดที่เอว กลัดเข็มกลัดที่เสื้อผ้า สวมแหวนที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า ใส่ต่างหูที่ใบหูก็ตาม ผู้สวมใส่ ย่อมต้องมีความผูกพันทางจิตใจต่อการใช้เครื่องประดับนั้นๆ ด้วย เช่น การสวมใส่เครื่องประดับแบบโบราณ เพื่อแสดงออกถึงรสนิยมของตน หรือแสดงสถานภาพในทางสังคม ซึ่งวัตถุประสงค์ หรือเหตุผล ในการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องประดับ ในสถานะของผู้สวมใส่ มีดังนี้
- เพื่อเป็นตัวแทนของการระลึกถึง หรือเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกอันลึกซึ้ง ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกในการเดินทางไปต่างถิ่น หรือเป็นที่ระลึกในพิธีกรรม และการเฉลิมฉลอง ในโอกาสต่างๆ
- เพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น การใช้เข็มขัดคาดผ้านุ่งไว้ที่เอว การใช้เข็มกลัดกลัดผ้าคลุมไหล่ไม่ให้เลื่อนหล่น การใช้กระดุม ที่ทำด้วยทองคำโบราณของไทย ซึ่งจำลองรูปแบบมาจากดอกบัว มีการถอดเก็บได้ เมื่อต้องนำเสื้อไปซักทำความสะอาด
- เพื่อแสดงออกถึงความพอใจในความงามเชิงศิลปะ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
- เพื่อเป็นการอนุรักษ์กรรมวิธีการผลิตแบบประเพณีนิยมดั้งเดิม เช่น ความงามของเครื่องประดับทองคำโบราณ ที่จังหวัดเพชรบุรี หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "ทองเพชรบุรี" ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ อาทิ ตัวผึ้ง ผีเสื้อ นำมาสร้างเป็นแหวน หรือจี้ ประดับด้วยเพชรซีกเหลี่ยมกุหลาบ หรืออัญมณีเนื้อแข็ง เช่น ทับทิม ไพลิน ซึ่งงานโบราณเหล่านี้ นอกจากจะมีความสวยงาม ประณีต และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมไทยรวมอยู่ด้วย
- เพื่อแสดงถึงสถานภาพในสังคม ซึ่งอาจไม่มีความเกี่ยวข้องด้านมูลค่าของวัสดุนั้น แต่รูปลักษณ์ของเครื่องประดับ ทำให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันในสังคมหนึ่งๆ ว่าผู้ใช้เครื่องประดับนั้นมีสถานภาพใด เช่น มีเชื้อสายกษัตริย์ เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เป็นพราหมณ์หรือผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในราชสำนัก
การทำทองรูปพรรณที่ จ.เพชรบุรี ต้องอาศัยฝีมือช่างที่มีความละเอียดประณีต และชำนาญ
ผู้ลงทุน
นักลงทุนก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องประดับ ซึ่งมิใช่ในแง่ของการลงทุนเพื่อการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้ที่มีความสนใจด้านการลงทุนผ่านเครื่องประดับที่ต้องการใช้สวมใส่ด้วย ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะไม่สนใจในรูปลักษณ์ ของเครื่องประดับ มากเท่ากับว่ามูลค่าของเครื่องประดับนั้น จะเพิ่มขึ้นเท่าไรในอนาคต เหตุผลที่ทำให้ผู้คนสนใจลงทุน เกี่ยวกับเครื่องประดับ มีดังนี้
- เครื่องประดับเป็นวัตถุที่มีมูลค่า เป็นสากลมากกว่าสกุลเงิน สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทั่วโลก ในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ทองคำบริสุทธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงการค้าทั่วโลก และมีราคาเดียวกัน แต่สกุลเงินต่างๆ ของแต่ละประเทศจะมีความผันผวนมากกว่า หากเกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็อาจทำให้สกุลเงินในประเทศนั้น มีค่าลดน้อยลงมาก
- เครื่องประดับมีมูลค่าเท่ากับเงินธนบัตร แต่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้สะดวกในการพกพาและเก็บรักษา ทั้งนี้ เครื่องประดับประเภททองคำยังสามารถใช้เป็นเครดิตทางธุรกิจได้ด้วย
- เครื่องประดับมักมีมูลค่าสูงขึ้น แต่เงินธนบัตรมักมีมูลค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น นักลงทุนในกลุ่มนี้ เมื่อมีเงินเหลือ ก็มักจะเก็บออมเงินในรูปแบบของเครื่องประดับแทนธนบัตร เพื่อความมั่นใจว่า มูลค่าของทรัพย์สินจะไม่ลดลง เมื่อเวลาผ่านพ้นไป
ทองคำแท่ง นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตทองรูปพรรณ
ผู้สะสม
คนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับกลุ่มสุดท้ายคือ นักสะสม คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความหลงใหลเครื่องประดับด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ทั้งนี้ การสะสมเครื่องประดับอาจคำนึงหรือไม่คำนึงถึงมูลค่าของเครื่องประดับเหล่านี้ในอนาคตเลยก็ได้ เหตุผลในการเลือกสะสมเครื่องประดับอาจกล่าวได้ดังนี้
- เครื่องประดับที่เป็นของหายาก ทำให้เป็นที่สนใจอยากได้ครอบครอง รวมทั้งอาจมีวัตถุประสงค์ในการคาดหวังมูลค่า ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
- เครื่องประดับที่เป็นของเก่าโบราณ ซึ่งเป็นตัวแทนของเวลาในอดีต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ในกลุ่มนี้ มีนักสะสมหลากหลาย และมีองค์กรหรือสถาบันต่างๆ เป็นตัวแทนในการประมูลของโบราณเหล่านี้ในหลายๆประเทศ เครื่องประดับชนิดนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มนักสะสม เพราะนอกจากจะได้ครอบครองวัตถุอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในอดีตแล้ว ยังสามารถใช้สวมใส่ประดับร่างกาย เพื่อแสดงออกต่อสังคม ถึงสถานะทางการเงิน และรสนิยมของผู้สะสมนั้นๆ ด้วย
- เครื่องประดับที่เป็นของกลุ่มชน ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากตนเอง และมีรูปลักษณ์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ หรืออาจมีความสนใจส่วนตัวที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นๆ จึงสะสมเครื่องประดับของวัฒนธรรมนั้นๆ ให้เป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมโยงความต้องการนี้