พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเครื่องประดับไทย
เครื่องประดับไทยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแบ่งออกเป็น ๓ สมัย คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์
สมัยสุโขทัย
สมัยนี้มีช่วงเวลาประมาณเกือบ ๒๐๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๙๒ เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ที่กรุงสุโขทัย จนถึงสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) ใน พ.ศ. ๑๙๘๑
สมัยสุโขทัยมีหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องประดับไทยไม่มากนัก ส่วนใหญ่ศึกษาจากศิลปวัตถุและภาพจิตรกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ ในโบราณสถานบางแห่ง ซึ่งพออนุมานได้ว่า เครื่องประดับในสมัยสุโขทัยมีที่มาจากศิลปะของชนพื้นเมืองที่เป็นคนไทย ผสมผสานกับศิลปะขอมสมัยอาณาจักรลวปุระหรือละโว้ และศิลปะมอญสมัยอาณาจักรทวารวดี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง เช่นเดียวกับอาณาจักรโบราณที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ อาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรศรีวิชัย ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ ของคาบสมุทรอินโดจีน ตามลำดับ ดังนั้น อาจสรุปลักษณะของเครื่องประดับไทย ในสมัยสุโขทัยได้อย่างคร่าวๆ เป็น ๓ รูปแบบ ดังนี้
ก. เครื่องประดับของเทวรูป
ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลอยู่มากในราชสำนักพอๆ กับพระพุทธศาสนา ดังนั้น การสร้างเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ จึงมีการประดับตกแต่งอย่างเต็มที่ อาทิ มงกุฎ เทริด กรองศอหรือสร้อยคอ ที่ทำเป็นรูปแบบเรียบง่ายในระยะแรก ต่อมา มีการตกแต่งลวดลายให้วิจิตรงดงามมากขึ้น นอกจากนี้ก็มีพาหุรัด หรือกำไลต้นแขนที่เลียนแบบมาจากกรองศอ และมีกุณฑล หรือตุ้มหู ที่ทำเป็นแบบลูกตุ้ม ถ่วงไว้ที่ปลายใบหู
เทวรูปสำริด พระอิศวร สมัยสุโขทัย ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ที่วัดป่ามะม่วง มีเครื่องทรง ได้แก่ มงกุฏ กรองศอ สังวาล และพาหุรัด
ข. เครื่องประดับของเทวดา กษัตริย์ และบุคคลชั้นสูง
มีมงกุฎ ชฎา และเทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะ โดยมีกะบังหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่บริเวณกรอบหน้า และมีกรรเจียกจอน ที่อยู่ติดส่วนล่างของกะบังหน้า ตรงบริเวณด้านหลังใบหู หากเป็นสตรีจะมีรัดเกล้า ซึ่งเป็นเครื่องประดับส่วนบนของศีรษะ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ รัดเกล้ายอด มีปลายยอดทรงกรวยแหลม และรัดเกล้าเปลว มียอดปักช่อกระหนกเปลว นอกจากนี้ก็มีเครื่องประดับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ กรองศอ พาหุรัด กุณฑล ทองกร ธำมรงค์ โดยทองกรนั้นทำเป็นแหวนเกลี้ยง ๓ - ๔ วง สวมใส่ไว้ที่ต้นแขน หรือข้อมือ
จิตรกรรมบนบานประตู พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แสดงให้เห็นการแต่งกายของเทวดา ที่มีการใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างเต็มที่
ค. เครื่องประดับของสามัญชน
บุคคลที่เป็นสามัญชน ได้แก่ พ่อค้า ชาวบ้าน หลักฐานการใช้เครื่องประดับที่พบมีเพียงแค่ต่างหู เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดศรีชุม จ.สุโขทัย แสดงให้เห็นเครื่องประดับของชนชั้นสูงในสมัยสุโขทัย
สมัยอยุธยา
เป็นสมัยที่มีช่วงเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี เริ่มตั้งแต่เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ จนถึงเสียกรุงครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐
หลักฐานที่เกี่ยวกับพัฒนาการของเครื่องประดับในสมัยอยุธยาปรากฏอยู่มากทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น กฎหมายตราสามดวง กฎมณเฑียรบาล จดหมายเหตุและบันทึกของชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขาย หรือเจริญสัมพันธไมตรี ตลอดจนโบราณวัตถุ จิตรกรรม และประติมากรรมในสมัยนั้น จึงทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องประดับไทยในสมัยอยุธยาได้ค่อนข้างมาก
เครื่องประดับสมัยอยุธยาอาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนาง ในราชสำนัก ประเภทหนึ่ง และอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องประดับสำหรับบุคคลทั่วไป
ก. เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนางในราชสำนัก
ในสมัยอยุธยาฐานะของกษัตริย์ได้รับการยกย่องเสมือนสมมติเทพ ดังนั้น กษัตริย์ มเหสี และพระราชวงศ์ จึงมีเครื่องประดับ ที่ดูสง่างาม โดยเฉพาะในเวลามีพระราชพิธี หรือเสด็จออกขุนนาง เครื่องประดับต่างๆ มักสร้างขึ้น โดยเลียนแบบเครื่องประดับ ที่มีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย มีการติดต่อค้าขายกับชาวเปอร์เซีย และชาวตะวันตกมากขึ้น จึงมีการนำวัสดุและวิธีการทำเครื่องประดับของชาวต่างชาติ เข้ามาผสมผสานกับการทำเครื่องประดับของไทย ให้แปลกใหม่ออกไปกว่าเดิม
เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ และขุนนางในราชสำนัก ระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาล มีดังนี้
- มงกุฎ และชฎา ราชาศัพท์เรียกว่า "พระมงกุฎ" และ "พระชฎา" เป็นเครื่องประดับประเภทศิราภรณ์ ใช้สำหรับกษัตริย์และมเหสี หากมียอดแหลมตรงขึ้นไป เรียกว่า "มงกุฎ" หากมียอดหลายยอดปัดไปทางด้านหลัง โดยแยกเป็นหาง ไหลออกไปหลายหาง เรียกว่า "ชฎา"
- เทริด (อ่านว่า เซิด) เป็นศิราภรณ์สำหรับกษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ และเทวรูป มีรูปเป็นมงกุฎทรงเตี้ย
- เกี้ยว ราชาศัพท์เรียกว่า "พระเกี้ยว" มีลักษณะเป็นวงคล้ายกับพวงมาลัย ใช้สำหรับรัดผมหรือรัดจุก
- กุณฑล ราชาศัพท์เรียกว่า "พระกุณฑล" คือ ตุ้มหู หรือต่างหู
- สังวาล ราชาศัพท์เรียกว่า "พระสังวาล" หรือ "สร้อยเฉวียงพระองค์" เป็นสร้อยที่คล้องลงมาจากบ่าทั้ง ๒ ข้าง
- สร้อยคอ ราชาศัพท์เรียกว่า "สร้อยพระศอ" เป็นสร้อยสวมไว้ที่คอ
- กำไลต้นแขน ราชาศัพท์เรียกว่า "พระพาหุรัด" หรือ "พาหุรัด" เป็นกำไลรัดที่ต้นแขน
- กำไลข้อมือ ราชาศัพท์เรียกว่า "ทองพระกร" หรือ "ทองกร" เป็นกำไลสวมที่ข้อมือ
- กำไลข้อเท้า ราชาศัพท์เรียกว่า "ทองพระบาท" เป็นกำไลสวมที่ข้อเท้า นิยมใส่เฉพาะสตรี
- แหวน ราชาศัพท์เรียกว่า "พระธำมรงค์" หรือ "ธำมรงค์" เป็นแหวนสวมที่นิ้วมือ
พระมงกุฎ เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ ในสมัยอยุธยา ได้จากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ทำด้วยเส้นทองคำบริสุทธิ์ ถักเป็นลวดลาย
ข. เครื่องประดับสำหรับบุคคลทั่วไป
นิยมใส่แหวนไว้ที่นิ้วกลาง นิ้วนาง หรือนิ้วก้อย โดยอนุญาตให้ใส่ได้มากเท่าที่จะใส่ได้ ผู้หญิงนิยมใส่ต่างหู แต่ผู้ชายไม่นิยม ต่างหูมักทำด้วยทองคำ เงิน หรือเงินกะไหล่ทอง ลูกของคนมีฐานะดีนิยมสวมกำไลข้อมือจนมีอายุ ๖ - ๗ ขวบ โดยอาจสวมกำไลต้นแขนและกำไลข้อเท้าด้วย ลูกสาวของขุนนางนิยมสวมรัดเกล้าทองคำในพิธีแต่งงานของตน