เล่มที่ 34
เครื่องประดับ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยในปัจจุบัน

            ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องประดับชนิดต่างๆ ในปัจจุบันมีการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ อาจแบ่งการผลิต และการจำหน่ายเครื่องประดับในประเทศไทยออกเป็น ๔ หัวข้อย่อย คือ การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณ การผลิตและการจำหน่ายทองรูปพรรณ การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยม  

การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณ  

            มีแหล่งผลิตอยู่หลายแห่ง ที่เป็นงานฝีมือช่างเก่าแก่เชื่อว่าสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาก็คือ การทำเครื่องทองที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี การทำเครื่องถมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และการทำเครื่องเงินแบบล้านนาที่ถนนงัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ช่างตามที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นช่างเก่าแก่ ที่พยายามอนุรักษ์การผลิต และรูปแบบดั้งเดิม ของเครื่องประดับไทยแบบโบราณไว้ นอกจากนี้ ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่ง ที่มีการผลิตเครื่องประดับทองคำแบบโบราณรูปแบบดั้งเดิม รวมทั้งยังมีการออกแบบ โดยนำภาพที่ปรากฏบนสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่หลงเหลืออยู่ตามโบราณสถานต่างๆ ภายในอำเภอ และที่อื่นๆ มาเป็นต้นแบบ


การเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตเครื่องประดับ โดยเฉพาะเครื่องประดับไทยแบบโบราณ และใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม
ที่กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลาง

            การจำหน่ายเครื่องประดับประเภทนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมกันภายในประเทศ ผู้ซื้อมักเป็นผู้ที่นิยมศิลปะไทยรูปแบบดั้งเดิม โดยอาจซื้อไว้ เพื่อสะสม หรือสำหรับใช้แต่งกายแบบไทย ในบางโอกาส เช่น ในงานพิธีและงานเทศกาลต่างๆ หรือการแต่งกายเพื่อแสดงนาฏศิลป์


การเรียนในสาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกี่ยวกับเครื่องประดับไทยที่เป็นลักษณะงานร่วมสมัย

            เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับไทยแบบโบราณนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการฝึกสอนการประดิษฐ์งานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ของไทยให้คงอยู่ต่อไป รวมทั้งมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับไทยแบบโบราณ เช่น งานเครื่องเงินและเครื่องทอง งานถม งานคร่ำ งานลงยาสี นอกจากการผลิตแล้ว ยังมีการประกวดและจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ถือเป็นการเผยแพร่งานศิลปะของไทยให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่อง

            สถานศึกษาในประเทศที่ให้ความสำคัญ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูงานเครื่องโลหะภัณฑ์และเครื่องประดับไทยโบราณเช่นเดียวกันคือ กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษา และฝึกฝนเด็กนักเรียนในทุกๆ เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งคือ สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีการศึกษาเรื่องเครื่องประดับไทย เพื่อนำมาออกแบบในลักษณะงานร่วมสมัย มีผลงานที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชมในปัจจุบันมาก เพราะมีรูปแบบประเพณีนิยมดั้งเดิม และสามารถประยุกต์ใช้ในการแต่งกายสมัยปัจจุบันได้ ทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจเรื่องเอกลักษณ์ไทยให้แก่คนไทยรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติโดยผ่านงานเครื่องประดับร่วมสมัยได้อีกทางหนึ่ง

การผลิตและการจำหน่ายทองรูปพรรณ 

            ทองรูปพรรณ คือ ทองคำที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับและของใช้ต่างๆ เครื่องประดับที่เป็นทองรูปพรรณมีความสำคัญมากในสังคมไทย และมีการผลิตมากกว่าเครื่องประดับ ที่ผลิตจากโลหะมีค่าชนิดอื่น หรือประดับด้วยอัญมณี เพราะนอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราได้โดยง่าย เนื่องจากราคาทองรูปพรรณไม่สูงกว่าราคาทองคำแท่งมากนัก ส่วนต่างราคาของทองรูปพรรณกับทองคำแท่ง เรียกว่า "ค่ากำเหน็จ" ซึ่งเป็นค่าจ้างในการทำทองคำแท่ง ให้เป็นทองรูปพรรณแบบต่างๆ

            ทองรูปพรรณซึ่งเป็นที่นิยมซื้อขายกันในประเทศไทย ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู โดยทำเป็นรูปแบบง่ายๆ ไม่วิจิตรบรรจงมากนัก และไม่มีการประดับอัญมณี ซึ่งจะทำให้มีราคาแพงมากขึ้น และมีผลต่อค่ากำเหน็จ ทั้งนี้ ตามปกติจะมีการประกาศราคามาตรฐานของทองคำแท่งและทองรูปพรรณทุกวัน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อขาย ทราบราคาในวันนั้นๆ ว่าสูงหรือต่ำเท่าใด ซึ่งราคาของทองคำแท่งและทองรูปพรรณจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามราคาของตลาดโลกด้วย

            การซื้อทองรูปพรรณไม่ใช่เพื่อประดับร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ถือว่า เป็นการสะสมทรัพย์สินด้วย หากต้องการเงินสดมาใช้จ่าย ผู้ที่มีทองรูปพรรณก็สามารถนำไปขายได้ โดยไม่ต้องต่อรองราคา เพราะมีการกำหนดราคาเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว


เยาวราชย่านค้าทองรูปพรรณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

            ตลาดค้าทองรูปพรรณในประเทศไทยกระจายอยู่อย่างกว้างขวาง ในกรุงเทพฯ ตลาดซื้อขายทองรูปพรรณมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นตลาดค้าทองรูปพรรณ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ ร้านค้าทองรูปพรรณยังกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ถือได้ว่า การผลิตและการค้าทองรูปพรรณเป็นธุรกิจ เกี่ยวกับเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศ

            การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี  

            ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก แต่เดิมอัญมณีที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับ มีแหล่งกำเนิดอยู่หลายแห่งในประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ตราด และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่มีการทำเหมืองขุดพลอย นอกจากการผลิตเครื่องประดับแล้ว การเจียระไนพลอยในประเทศไทยก็เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ปัจจุบัน การทำเหมืองขุดพลอยมีความสำคัญลดน้อยลง เนื่องจากมีการขุดมานานจนเหมืองบางแห่งไม่มีพลอยหลงเหลืออยู่ และต้องเลิกกิจการไป อย่างไรก็ดี การเจียระไนพลอย และการผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี ในประเทศไทยก็ยังคงรุ่งเรือง โดยมีการสั่งซื้ออัญมณีจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการเจียระไน และผลิตเป็นเครื่องประดับแทนวัตถุดิบภายในประเทศ

            ตลาดเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีมีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ คนไทยที่มีฐานะดียังคงนิยมซื้อเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีราคาแพง เช่น เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม ในรูปของสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู และเข็มกลัด ซึ่งมีรูปแบบและฝีมือไม่ด้อยกว่าของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า ในขณะเดียวกัน บริษัทผลิตเครื่องประดับที่เป็นอัญมณี ก็ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดโลก ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ จึงกล่าวได้ว่า ปัจจุบันเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย

            แหล่งจำหน่ายเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีที่สำคัญในประเทศคือ บริษัทและร้านค้าในย่านธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมชั้นหนึ่ง ศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียง ลูกค้าที่ซื้อเครื่องประดับประเภทนี้ มีทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

            การผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยม  

            อาจเรียกเครื่องประดับนี้ว่า เครื่องประดับแฟชั่น เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลข้อมือ เข็มกลัด หัวเข็มขัด แม้กระทั่งห่วงโลหะที่ใช้คล้องคอ หรือสวมใส่ในรูที่เจาะไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เครื่องประดับเหล่านี้มีราคาไม่แพง จึงสามารถเปลี่ยนใหม่ หรือซื้อได้บ่อยครั้ง และเหมาะสำหรับการแต่งกายตามสมัยนิยม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่วนรูปแบบ อาจลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากศิลปกรรมที่นำสมัย ของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันการผลิตและการจำหน่ายเครื่องประดับตามสมัยนิยมมีเป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตมีทั้งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อการส่งออก จนถึงโรงงานขนาดเล็กในครัวเรือน ส่วนแหล่งจำหน่ายมีอยู่ทั่วไป ทั้งที่อยู่ตามศูนย์การค้า และร้านค้าปลีกในตลาด สำหรับราคาโดยทั่วไป ไม่สูงมากนัก แต่หากมีตราสินค้าซึ่งเป็นที่นิยมก็จะมีราคาสูง และมีแหล่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าเฉพาะ เช่น ร้านเพชรแถวบ้านหม้อ