เป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน แต่มีน้ำหนักเบามาก และหลอมละลายได้ที่อุณหภูมิ ๖๖๐ องศาเซลเซียส
ค. โลหะผสม
เป็นโลหะที่เกิดจากการนำโลหะตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไปมาผสมกัน เพื่อให้มีราคาถูกลง หรือมีสมบัติบางอย่างที่ต้องการ โลหะผสมมีหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่
เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก ในสัดส่วนที่แตกต่างกันเพื่อให้มีสมบัติตามที่ต้องการ มีสีตั้งแต่สีเหลืองเข้มไปจนถึงสีน้ำตาลไหม้
เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี มีสีเหลืองคล้ายทองคำแต่มีราคาต่ำกว่ามาก หากมีส่วนผสมของทองแดงมาก จะมีสีค่อนข้างแดง แต่ถ้ามีส่วนผสมของสังกะสีมากจะมีสีค่อนข้างเหลือง
เป็นโลหะผสมระหว่างทองคำ เงิน และทองแดง มีสีทองสุกปลั่งคล้ายทองคำ แต่มีราคาถูกกว่ามาก
เดิมเป็นโลหะผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว แต่ปัจจุบันใช้ทองแดง พลวง (antimony) และดีบุก เป็นส่วนผสมแทน เนื่องจากตะกั่วเป็นโลหะ ที่มีอันตรายต่อมนุษย์ จึงมีการออกกฎหมาย ห้ามนำตะกั่วมาเป็นส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องประดับ ที่จำหน่ายในประเทศแถบทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ พิวเตอร์เป็นโลหะผสมที่มีความแข็งไม่มาก และมีจุดหลอมละลายต่ำ จึงนิยมนำมาใช้ผลิตเครื่องประดับที่ราคาไม่แพง และมีระยะเวลาการใช้งานสั้นๆ ตามความนิยมในแต่ละสมัย
เหล็กเป็นโลหะที่มีอยู่เป็นจำนวนมากบนเปลือกโลก จึงมีราคาถูก แต่ในการนำเหล็กมาใช้ผลิตเครื่องประดับมีข้อเสีย คือ เป็นสนิมได้ง่ายและเปราะ ดังนั้น จึงมีการทำเหล็กกล้าชนิดที่ไม่เป็นสนิม โดยการนำเหล็กที่มีธาตุคาร์บอนเจือปนอยู่มาผสมกับโครเมียมหรือนิกเกิล เพื่อให้เหล็กมีความแข็งแกร่งและเงางาม ไม่เป็นสนิม ปัจจุบันมีการนำเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมมาผลิตเป็นเครื่องประดับต่างๆ ได้มากมายหลายชนิด เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มกลัด และที่นิยมมากคือ การนำมาทำเป็นตัวเรือนของนาฬิกาข้อมือ โดยอาจฝังอัญมณีไว้ที่กรอบ หรือเสริมด้วยโลหะมีค่า เช่น ทองคำ แพลทินัม เพื่อให้ดูสวยงาม และมีราคาแพงมากยิ่งขึ้น
อัญมณี คือ เพชร และพลอยชนิดต่างๆ ที่มีการเจียระไนตกแต่งแล้ว มีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเช่นเดียวกับอัญมณี คือ รัตนชาติ ซึ่งหมายถึง แก้วที่มีค่า คนไทยรู้จักใช้อัญมณีเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้วมีค่ารวม ๙ ชนิด ที่เรียกว่า "นพรัตน์" ถือเป็นวัสดุ สำหรับใช้ทำเครื่องประดับที่สวยงามมาก เพราะมีหลากสี ประกอบด้วยเพชรและพลอยสีต่างๆ ซึ่งตามตำรานพรัตน์ให้ชื่อที่คล้องจองกัน เพื่อง่ายต่อการจดจำ ดังนี้
ชื่อนพรัตน์ดังกล่าวข้างต้น ประกอบด้วยแก้วมีค่า ๙ อย่าง คือ
เพชร (diamond)
เป็นธาตุคาร์บอนที่มีความแข็งมากที่สุดและหาได้ยาก จึงมีราคาแพง มีสีขาวใสหรือสีชมพู เมื่อนำมาเจียระไนจะเกิดประกายแวววาว ปัจจุบัน นอกจากเพชรที่เกิดเองตามธรรมชาติแล้ว ยังมีเพชรที่ได้จากการสังเคราะห์ เรียกว่า "เพชรรัสเซีย" ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพชรตามธรรมชาติมาก
มณี หรือทับทิม (ruby)
มีสีแดงอ่อนเหมือนสีของเมล็ดทับทิมสุก
มรกต (emerald)
มีสีเขียวเข้มเหมือนสีของปีกแมลงทับ
บุษราคัม (yellow sapphire)
มีสีเหลือง
โกเมน (garnet)
มีสีแดงแก่หรือสีแดงเจือดำ
นิล (spinet)
ถ้ามีสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแก่เหมือนสีของดอกอัญชัน เรียกว่า "นิลสีดอกผักตบ" ถ้ามีสีดำ เรียกว่า "นิลดำ" หรือ "นิลตะโก"
มุกดาหาร หรือมุกดา (moonstone)
มีสีขุ่นเหมือนสีไข่มุก
เพทาย (zircon)
มีสีแดงคล้ำๆ สีขาวปนเหลือง หรือสีฟ้าน้ำทะเล
ไพฑูรย์ หรือแก้วตาแมว (catžs eye)
มีสีเหลืองแกมเขียวหรือสีน้ำตาลเทา มีน้ำเป็นสายรุ้งกลอกไปมา
ในสมัยโบราณ คนไทยนิยมใช้เครื่องประดับอัญมณีสีต่างๆ ให้เหมาะกับวัน โดยเชื่อว่า หากสวมใส่เครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม ให้ถูกโฉลกกับสีประจำวันแล้ว จะทำให้เกิดสิริมงคลต่อตนเอง อัญมณีและเครื่องนุ่งห่มมีสีต่างๆ ตามวัน ดังนี้
- วันอาทิตย์ ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย โกเมน เพทาย นุ่งห่มด้วยสีแสดหรือสีแดง
- วันจันทร์ ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย มุกดา เพชร นุ่งห่มด้วยสีนวลหรือสีเหลือง
- วันอังคาร ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย บุษราคัม นุ่งห่มด้วยสีชมพู
- วันพุธ ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย มรกต นุ่งห่มด้วยสีเขียว
- วันพฤหัสบดี ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย ไพฑูรย์ นุ่งห่มด้วยสีแสดหรือสีส้ม
- วันศุกร์ ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย มุกดา เพชร นุ่งห่มด้วยสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน
- วันเสาร์ ใส่เครื่องประดับที่ทำด้วย นิล นุ่งห่มด้วยสีดำหรือสีม่วง
นอกจากนพรัตน์หรือแก้วมีค่า ๙ อย่างดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้แก้วอย่างอื่นๆ มาผลิตเป็นเครื่องประดับด้วย ที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากมีราคาไม่แพงและงดงาม คือ แร่เขี้ยวหนุมานหรือแร่ในตระกูลควอตซ์ (quartz) ซึ่งเป็นหินแก้วผลึก มีหลายสี ที่สำคัญ ได้แก่ โอปอ หรือโอพอล (opal) มีลักษณะโปร่งใส แต่ที่เป็นสีต่างๆ ก็มีอยู่บ้าง เนื้อมีรอยแตกแบบก้นหอย โอนิกซ์ (onyx) มีสีขาว สีเหลือง สีดำ หรือสีแดง เนื้อแตกแบบก้นหอย โมรา (agate) มีความวาวแบบขี้ผึ้ง มีหลายสี โดยสีเหล่านั้น มักมีลักษณะเป็นชั้นหรือเป็นแถบ หรือมีหลายสีปะปนกัน
นอกจากนี้ยังมีอัญมณีบางอย่างซึ่งเป็นที่รู้จักกันในตลาดค้าอัญมณี ได้แก่ ไพลิน (blue sapphire) มีสีน้ำเงินเข้ม เขียวส่อง (green sapphire) มีสีเขียวสด และแอเมทิสต์ (amethyst) มีสีม่วง ไทยเรียกอัญมณีชนิดนี้ว่า "พลอยสีม่วง" หรือ "พลอยสีดอกตะแบก"
ในประเทศไทยเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว เคยนิยมนำโป่งข่าม ซึ่งเป็นแร่ในตระกูลควอตซ์ มาทำเป็นพลอยหัวแหวน ถือเป็นสิ่งนำโชคลาภมาให้ ทำนองเดียวกับการนำ อุลกมณี (tektite) ซึ่งเป็นหินสีดำ ที่เกิดจากอุกกาบาตตกลงมาบนพื้นโลก มาทำเป็นเครื่องประดับ โดยถือว่า นำโชคลาภมาให้เช่นเดียวกัน
ในบางประเทศมีอัญมณีที่นิยมนำมาทำเครื่องประดับ เช่น ในตุรกีมี เทอร์คอยส์ (turquoise) เป็นพลอยสีน้ำเงินแกมเขียว หรือสีฟ้า ในพม่าและจีนมี หยก (jade) ซึ่งเป็นหินแก้วสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีขาว สีเหลือง สีดำ แต่สีที่นิยมกันมากและมีราคาแพง คือ สีเขียวเข้มสดและโปร่งแสง ที่เรียกกันว่า "หยกจักรพรรดิ" (imperial jade)
วัสดุประเภทอื่นๆ
นอกจากโลหะและอัญมณีแล้ว ยังมีวัสดุประเภทอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้ผลิตเครื่องประดับ เช่น
ไข่มุก (pearl)
เกิดจากการพอกพูนของสารที่ขับออกมาจากตัวหอยมุก เพื่อห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปแทรกอยู่ภายในเปลือกของหอยมุกนั้น จนเกิดเป็นเม็ดกลมๆ สีขาว หรือสีเทาแกมน้ำเงิน โดยนิยมนำมาเจาะรูร้อยเข้าด้วยกัน ใช้สวมใส่เป็นสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ หรือนำไปประดับบนโลหะเป็นเข็มกลัด ต่างหู และแหวน ไข่มุกมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในทะเลหรือในแหล่งน้ำจืด เรียกว่า ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl) หรือจากฟาร์มเลี้ยงหอยมุก เรียกว่า ไข่มุกเลี้ยง (culture pearl) ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ผลิตไข่มุกเลี้ยง ปัจจุบันมีการทำฟาร์มหอยมุกกันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันด้วย
แก้วเจียระไน (crystal)
เป็นแก้วที่หลอมขึ้นและนำมาเจียระไนให้มีเหลี่ยมมุมดูสวยงาม นิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับโดยใช้ร่วมกับโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน หรือเงินชุบทองคำ ทำเป็นเข็มกลัดรูปช่อดอกไม้ หรือทำเป็นต่างหู และกำไลข้อมือ ซึ่งนิยมทำกันหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย เดนมาร์ก
เครื่องประดับแก้วเจียระไน
เซรามิก (ceramic)
เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทที่มีน้ำยาเคลือบ มีสีสันต่างๆ และมักเขียนเป็นภาพหรือลวดลายประกอบ เหมาะสำหรับการทำเป็นเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหู เข็มกลัด จี้ห้อยสร้อยคอ และสร้อยข้อมือ
พลาสติก
เริ่มนำมาเป็นวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องประดับในทวีปยุโรปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยใช้กรรมวิธีทางเคมีผลิตวัสดุชนิดนี้ขึ้น มีความแข็งไม่มากเท่ากับโลหะ แต่ก็ตกแต่งให้เป็นรูปแบบต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ และยังผสมสีหรือวาดลวดลายให้สวยงามได้ด้วย การนำพลาสติกมาผลิตเป็นเครื่องประดับทำได้ง่าย เพราะมีราคาถูก จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เหมาะสำหรับการผลิตเครื่องประดับตามสมัยนิยม ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พลาสติกแทนวัสดุธรรมชาติ ที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งขึ้น เช่น งาช้าง กระดองเต่า กระดองกระ
งาช้าง
การใช้งาช้างเป็นวัสดุทำเครื่องประดับได้รับความนิยมมากในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันความนิยมลดน้อยลง เนื่องจากมีการรณรงค์ต่อต้านการนำงาช้างมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เพราะต้องมีการฆ่าช้างป่าในทวีปแอฟริก าและทวีปเอเชียเป็นจำนวนมาก ทำให้สัตว์ที่ควรอนุรักษ์ชนิดนี้ มีจำนวนลดน้อยลง หลายๆ ประเทศจึงมีการออกกฎหมาย ห้ามจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง