กรรมวิธีในการผลิตเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ
กรรมวิธีในการผลิตเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญ คือ การขึ้นรูป การตกแต่งผิว การทำสีและลวดลาย และการฝังอัญมณี
การขึ้นรูป
หมายถึง การนำโลหะที่เป็นก้อนหรือแผ่นมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับตามที่ต้องการ การขึ้นรูปทำได้หลายวิธี ทั้งการตัด การเลื่อย การฉลุ การเคาะ การบิด การหล่อ และการเชื่อมชิ้นงานต่างๆ ให้ต่อกัน แล้วแต่ลักษณะรูปร่างของเครื่องประดับที่ต้องการผลิต
การใช้ตะไบตกแต่งขอบชิ้นงานให้เรียบร้อย
การตกแต่งผิว
เมื่อขึ้นรูปเสร็จแล้วก็จะต้องตกแต่งผิวให้เรียบโดยการขัดด้วยตะไบ หรือกระดาษทราย จากนั้นจึงขัดเงาด้วยน้ำยาขัดเงา โดยใช้เครื่องขัดเงา ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าหมุนผ้าขัดเงา บางกรณีอาจต้องใช้สารละลายกรด ล้างเครื่องประดับนั้นให้สะอาด
การทำสีและลวดลาย
เป็นกรรมวิธีที่ต้องการให้เครื่องประดับมีสีสัน หรือลวดลายงดงามตามต้องการ มีกรรมวิธีต่างๆ ดังนี้
การชุบ
เป็นการนำโลหะชนิดหนึ่งไปเคลือบอย่างบางๆ ลงบนผิวของโลหะ ที่ผลิตเป็นชิ้นงานเครื่องประดับนั้นๆ โดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวนำ มักใช้โลหะมีค่า เช่น ทองคำ แพลทินัม เคลือบลงบนผิวของเงิน ทองแดง หรือทองเหลือง เพื่อให้ดูมีมูลค่ามากขึ้น หรือไม่หมอง เมื่อถูกอากาศนานๆ ในสมัยก่อนยังไม่มีการเคลือบโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวนำ คนไทยมีวิธีการเคลือบที่เรียกว่า "การกะไหล่" โดยใช้ปรอทละลายเงินหรือทองคำให้เป็นของเหลว แล้วทาลงบนโลหะ ที่ต้องการเคลือบ จากนั้นไล่ปรอทออกโดยใช้ความร้อน
การชุบ หรือเคลือบโลหะ ลงบนผิวชิ้นงาน โดยใช้กระแสไฟฟ้า
การถม
เป็นการใช้สารเคมีซึ่งมีสีดำเรียกว่า "ผงยาถม" ผสมน้ำประสานทอง ใส่ลงไปในลวดลาย ที่แกะสลักไว้บนเครื่องประดับ ที่ทำด้วยเงินหรือทองคำ แล้วขัดผิวให้เป็นเงางาม โดยส่วนที่เป็นผงยาถม จะเห็นเป็นลวดลายสีดำอยู่บนพื้นสีเงิน หรือสีทอง ซึ่งหากเป็นการถมลงบนเงิน เรียกว่า "ถมเงิน" แต่ถ้าถมลงบนทองคำ ก็เรียกว่า "ถมทอง" หรือ "ถมตะทอง"
การลงยาหรือการลงยาถมสี
เป็นการใช้สารเคมีที่มีสีต่างๆ ใส่ลงไปในพื้นซึ่งเป็นร่องระหว่างลวดลายของเครื่องเงิน แล้วใช้ความร้อนอบให้น้ำยาติด และให้พื้นเป็นสีต่างๆ หากการลงยานี้ทำกับเครื่องทอง ก็เรียกว่า "การลงยาราชาวดี"
การลงยา
การคร่ำ
เป็นการเอาเส้นเงินหรือเส้นทอง กดและตอกให้ติดบนผิวเหล็กเป็นลวดลายต่างๆ เป็นกรรมวิธีจากเปอร์เซีย (ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ที่แพร่หลายมาก
การคร่ำ
การฝังอัญมณี
เป็นการนำอัญมณีมาประดับรวมกับโลหะ เพื่อให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น เครื่องประดับบางชิ้นอาจนำอัญมณี ที่มีราคาสูง มาเป็นจุดเด่น ของเครื่องประดับชิ้นนั้นก็ได้
การฝังอัญมณีลงไปบนโลหะนั้นทำได้หลายวิธีแล้วแต่ความเหมาะสม ที่นิยมทำกันมาก คือ
การฝังแบบหนามเตย
เป็นการฝังอัญมณีลงบนตัวเรือนที่มีการตั้งก้านโลหะเป็นมุมรับก้นอัญมณี และกดปลายก้านมาปิดงับตรงมุมอัญมณี เพื่อให้ยึดติดกับตัวเรือน
การฝังแบบหนามเตย
การฝังแบบล็อก
เป็นการใช้อัญมณีเรียงเข้าไปในร่องบนตัวเรือน แล้วใช้เครื่องมือ ตีเนื้อโลหะปิดขอบทับบนอัญมณี เพื่อไม่ให้หลุดออกมา