เล่มที่ 33
อาหารกับโรคเรื้อรัง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia)

ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรมจะมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โดยมีระดับ
  • ไตรกลีเซอไรด์ ตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป  
  • เอชดีแอลคอเลสเตอรอล น้อยกว่า ๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย และน้อยกว่า ๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง  
  • แอลดีแอลคอเลสเตอรอล ตั้งแต่ ๑๓๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
ชนิดของไขมันในเลือด

            คอเลสเตอรอล (cholesterol)

            เป็นตัวกลางสำหรับผลิตฮอร์โมนหลายตัว เช่น เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง และเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนั้น ยังเป็นตัวกลาง ในการผลิตวิตามินดี และกรดน้ำดี สำหรับย่อยไขมัน ร่างกายคนเราสามารถผลิตคอเลสเตอรอลได้ จากตับและลำไส้ ในปริมาณมากกว่าที่ได้รับจากอาหาร ๓ - ๔ เท่า


การเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับไขมันในเลือด

            คอเลสเตอรอลไม่สามารถรวมตัวกับเลือดได้ จึงต้องจับตัวกับโปรตีน เกิดเป็นสารที่เรียกว่า ไลโปโปรตีน (lipoprotein) เพื่อขนส่งคอเลสเตอรอลไปทั่วร่างกาย ไลโปโปรตีนชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำ เรียกว่า แอลดีแอล ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลถึงร้อยละ ๗๕ - ๘๐ ไปสะสมในเซลล์ ถือว่า เป็นไขมันชนิดร้าย ซึ่งเมื่อมีระดับไขมันนี้ สูงขึ้นในเลือด ก็จะไปสะสมอยู่ใต้เยื่อบุผนังหลอดเลือดด้านใน เกิดเป็นคราบไขมัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดตีบลง เป็นสาเหตุสำคัญ ของโรคหัวใจและหลอดเลือด

            โปรตีนอีกชนิดหนึ่ง คือ ไลโปโปรตีนซึ่งมีความหนาแน่นสูง เรียกว่า เอชดีแอล ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลร้อยละ ๒๐ - ๒๕ โดยขนส่งไขมัน จากเนื้อเยื่อต่างๆ ไปกำจัดทิ้งที่ตับ ดังนั้น เอชดีแอลจึงถือว่า เป็นไขมันชนิดดี ที่ทำให้คอเลสเตอรอล ที่มีระดับสูงในเลือดถูกกำจัดไป มีผู้เปรียบเทียบว่า เอชดีแอลทำหน้าที่เหมือนรถขนขยะ ยิ่งมีระดับเอชดีแอลในเลือดมาก ไขมันที่ไปทำให้หลอดเลือดอุดตันจะน้อยลง โอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็น้อยลงไปด้วย


การเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
            ไตรกลีเซอไรด์

            คือ ไขมันที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน เมื่อเรากินอาหารประเภทไขมัน ในปริมาณเกินความต้องการของร่างกาย ไตรกลีเซอไรด์สามารถจับกับไลโปโปรตีน ที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปทั่วร่างกาย ถ้ามีปริมาณมากเกินไป สามารถเปลี่ยนเป็นแอลดีแอลที่ตับได้ และอาจถูกย่อย กลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ซึ่งทั้งแอลดีแอล และกรดไขมันอิสระ เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ตามลำดับ

            ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติไม่ควรเกิน ๑๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร สาเหตุโดยทั่วไปที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ โรคอ้วน ออกกำลังกายน้อย ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ในผู้หญิงพบว่า มีไตรกลีเซอไรด์สูงได้ หากอยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน อาจพบระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต โรคตับ และโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ได้เช่นกัน

            ภาวะในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม ซึ่งประกอบด้วย การมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง และระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

สถานการณ์โรคไขมันในเลือดผิดปกติ

            จากรายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการ ของประเทศไทย ครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยกรมอนามัย พบความชุก ของภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะ HDL - C ต่ำ ดังตารางที่ ๖ และตารางที่ ๗

ตารางที่ ๖ ความชุกของภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง


การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ

            ๑. ควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และอาหารเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ (ตัวอย่างรายการอาหาร เช่นเดียวกับรายการอาหารลดน้ำหนัก ที่ได้กล่าวไว้แล้ว)

            ๒. การทำกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับวัย และสภาพร่างกาย

            ๓. การใช้ยา ปัจจุบันมีการพัฒนายาออกมาหลายชนิด เพื่อช่วยลดระดับไขมันในเลือด ไม่ว่าจะเป็นระดับคอเลสเตอรอล หรือระดับไตรกลีเซอไรด์ เช่น ยาในกลุ่มสแตติน (statin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย และยากลุ่มนี้ยังช่วยให้ร่างกายขจัดแอลดีแอล หรือไขมันชนิดร้าย ออกจากกระแสเลือด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในผู้ป่วย โรคไขมันในเลือดผิดปกติ ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน