อาหารเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล และเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ คนเราต้องการอาหารทุกวัน เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกายในวัยเด็ก และใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ในวัยผู้ใหญ่ สิ่งที่เราต้องการจากอาหารคือ สารอาหาร (nutrient) ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่ม หรือหมู่ได้ ๕ หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน นอกจากนี้ ยังต้องการน้ำ และใยอาหารด้วย ซึ่งทั้งน้ำและใยอาหารไม่ถือว่าเป็นสารอาหาร เมื่อกินอาหารชนิดต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ แป้ง น้ำมัน ผัก ผลไม้ สารอาหารซึ่งมีอยู่ในอาหารดังกล่าว ก็จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ โปรตีนทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ต่างๆ คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ให้พลังงานและความอบอุ่นกับร่างกาย แร่ธาตุและวิตามิน ช่วยให้กลไกการทำงานของเซลล์ต่างๆ เป็นไปอย่างปกติ สารอาหารต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน ความอบอุ่น เสริมสร้างการเจริญเติบโต และช่วยรักษาสมดุลต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติ สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้
อาหารมีความสำคัญต่อมนุษย์ในหลายๆ มิติ นอกจากมิติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว ยังมีมิติของวัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อ อีกด้วย การปรุงอาหาร และการกินอาหาร ต้องคำนึงถึงสุนทรีย์ของรสชาติ การปรุงแต่ง สถานที่ บรรยากาศ และกาลเวลา นอกเหนือไปจาก เพื่อขจัดความหิว และเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้กำหนดพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้แตกต่างกันออกไป ในแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละชุมชน
ในยุคโลกไร้พรมแดนอย่างปัจจุบัน วัฒนธรรมถ่ายทอดจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้โดยง่าย วัฒนธรรมตะวันตกอันทรงอิทธิพล หลั่งไหลเข้ามาสู่ซีกโลกตะวันออก ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ไม่แตกต่างกัน อาหารจานด่วนแบบตะวันตก ซึ่งอุดมด้วยแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ระบบการค้าเสรีทำให้มีการผลิตสินค้าและการโฆษณา เพื่อจูงใจผู้บริโภคกันมากมาย จึงเกิดการบริโภคเกินปริมาณ ทำให้ได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกินไป และในทางกลับกัน ก็ได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ประกอบกับวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบ และแข่งขันกัน เพื่อสามารถผลิตผลผลิตตามความต้องการ ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด มีความเครียดจากภารกิจการงานเป็นกิจวัตร มีเวลาดูแลตนเอง และครอบครัวน้อยลง รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ประชาคมในสังคมโลกาภิวัตน์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งขณะนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ปัจจุบัน มีการจัดกลุ่มความผิดปกติ ที่เกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ เรียกว่า เมแทบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาหารอย่างใกล้ชิด