เมแทบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome)
คือ กลุ่มอาการหรือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย ดร. เจอรัลด์ เรเวน (Dr. Gerald Reaven) แพทย์ชาวอเมริกันเรียกชื่อกลุ่มอาการนี้ ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ มาก่อนแล้วว่า syndrome x ต่อมารู้จักกันในชื่อ metabolic syndrome ปัจจุบันนักวิชาการในประเทศไทยเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า "โรคอ้วน"
เกณฑ์การวินิจฉัยเมแทบอลิกซินโดรม
เกณฑ์การวินิจฉัยนี้มาจากหลายสถาบัน ล่าสุดสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) ได้ให้คำนิยามของเมแทบอลิกซินโดรมไว้ว่า ผู้ป่วยต้องมีภาวะอ้วนลงพุง (central obesity) คือ มีขนาดของเอววัดได้ตั้งแต่ ๙๐ เซนติเมตร (๓๖ นิ้ว) ขึ้นไปในผู้ชาย และตั้งแต่ ๘๐ เซนติเมตร (๓๒ นิ้ว) ขึ้นไปในผู้หญิง ขนาดของเอวมีเกณฑ์ต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ กรณีนี้ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับประชากรในทวีปเอเชีย
นอกจากภาวะอ้วนลงพุงแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมีภาวะผิดปกติเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย ๒ ใน ๔ ภาวะ ดังนี้คือ
๑. มีระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือด ตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิกรัม/ เดซิลิตรขึ้นไป
๒. มีระดับเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ในเลือดน้อยกว่า ๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า ๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง
๓. มีระดับความดันโลหิต ตั้งแต่ ๑๓๐/๘๕ มิลลิเมตรปรอท
๔. มีระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะอดอาหารตั้งแต่ ๑๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หรือมีระดับน้ำตาลในเลือด หลังอาหาร ๒ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๑๔๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
สาเหตุสำคัญของเมแทบอลิกซินโดรม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้คือ โรคอ้วน ซึ่งทำให้มีไขมันหน้าท้อง และไขมันที่เกาะอยู่ตามอวัยวะในช่องท้องมากกว่าปกติ เซลล์ไขมันเหล่านี้ ผลิตฮอร์โมนต่างๆ และกรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังจะกล่าวต่อไปในส่วนของแต่ละโรค
สถานการณ์ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรม
สหพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ไว้ว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกประมาณร้อยละ ๒๐ - ๒๕ อยู่ในกลุ่มอาการนี้ และเชื่อว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง มีมากกว่าคนปกติถึง ๓ เท่า โดยมีโอกาสเสียชีวิต จากโรคใดโรคหนึ่งดังกล่าวมากกว่าคนปกติถึง ๒ เท่า ทั้งนี้ นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์ และคณะ ได้ศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๖๒๓ รายทั่วประเทศ พบกลุ่มอาการนี้ร้อยละ ๒๔.๑ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาจากสถาบันอื่นๆ พบว่า มีความชุกระหว่างร้อยละ ๑๖.๔ - ๓๕.๘ แล้วแต่เกณฑ์การวินิจฉัย ซึ่งแตกต่างกันออกไป