เล่มที่ 33
อาหารกับโรคเรื้อรัง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคอ้วน (obesity)

            ปัจจุบันโรคอ้วนนับว่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกถือเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญปัญหาหนึ่ง ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคอ้วน

            วิธีที่ดีที่สุดที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คือ การชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง ในผู้ใหญ่ ซึ่งต้องการทราบความเสี่ยงต่อเมแทบอลิกซินโดรม จะวัดขนาดรอบเอวด้วย

            ตามมาตรฐานกรมอนามัย พ.ศ. ๒๕๔๒ เกณฑ์ที่ใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี ลงมา ใช้เกณฑ์น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง ถ้าหากมีน้ำหนักต่อส่วนสูงมากกว่าร้อยละ ๕๐ บวกกับ ๒ เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จะถือว่า น้ำหนักเกิน และหากมากกว่า ๕๐ บวกกับ ๓ เท่า ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ถือว่า อ้วน

            เกณฑ์ใช้วัดในผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป) ใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI) ซึ่งมีวิธีคำนวณดังนี้

                        BMI   =   น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)๒

                        ดัชนีมวลกายมีค่า ๑๘.๕ - ๒๔.๙ กิโลกรัม/เมตร๒ ถือว่า น้ำหนักปกติ
                        ดัชนีมวลกายมีค่า ๒๕.๐ - ๒๙.๙ กิโลกรัม/เมตร๒ ถือว่า น้ำหนักเกิน (overweight)
                        ดัชนีมวลกายมีค่า ๓๐ กิโลกรัม/เมตร๒ ขึ้นไป ถือว่า เป็น โรคอ้วน (obesity)

สาเหตุของโรคอ้วน

แบ่งได้เป็น ๒ สาเหตุ คือ

            ๑. โรคอ้วนที่เป็นอาการแสดงของโรคอื่น

            พบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับโรคอ้วนทั้งหมด โดยมีสาเหตุดังนี้

                        ๑.๑ โรคของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกในสมองบางส่วน การเจ็บ หรือติดเชื้อในสมอง
                        ๑.๒ โรคทางต่อมไร้ท่อ ทำให้มีความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนบางตัว
                        ๑.๓ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาโรคบางอย่าง อาจทำให้อ้วนได้
                        ๑.๔ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม

            โรคเหล่านี้มักพบในเด็ก โดยจะมีลักษณะอ้วนเตี้ย และพบลักษณะผิดปกติอย่างอื่นด้วย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

            ๒. โรคอ้วนจากการกินเกิน

            เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปมากเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงานไม่หมด ส่วนที่เกินก็จะสะสมในรูปของไขมันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น อวัยวะในช่องท้อง ใต้ผิวหนังหน้าท้อง เมื่อสะสมมากขึ้น ก็จะกลายเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะพบว่า มีเซลล์ไขมัน (adipocyte) เพิ่มจำนวนและเพิ่มขนาดขึ้นเป็นจำนวนมาก

            กลไกการเกิดโรคอ้วน ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา ดังแสดงในแผนภูมิที่ ๑


สถานการณ์ของโรคอ้วน

            ผลจากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการ และการศึกษาวิจัย ซึ่งดำเนินการ โดยหลายสถาบันพบตรงกันว่า ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความชุกของการขาดสารอาหารน้อยลงไปมาก แต่ที่น่าตกใจคือ ความชุกของโรคอ้วนและภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นอย่างมาก การสำรวจภาวะอาหาร และโภชนาการล่าสุด โดยกรมอนามัย ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่า หากใช้ดัชนีมวลกายเป็นตัวชี้วัด ในประชากรที่มีอายุระหว่าง ๑๙ - ๕๙ ปี ในเขตเมือง จะมีภาวะโภชนาการเกินถึงร้อยละ ๒๖.๗ และโรคอ้วนร้อยละ ๑๒.๑ ในขณะที่ประชากรวัยเดียวกัน ในเขตชนบท มีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ ๒๒.๘ และโรคอ้วนร้อยละ ๖.๖ นอกจากนี้หากใช้เส้นรอบเอวมาเป็นเกณฑ์ชี้วัด พบว่า ในประชากรอายุ ๑๙ - ๕๙ ปี ทั้งเขตเมือง และชนบทรวมกัน ผู้ชายมีภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า ๓๖ นิ้ว) ร้อยละ ๑๐.๗ ผู้หญิงมีภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า ๓๒ นิ้ว) ร้อยละ ๓๖.๕ สำหรับความชุกของโรคอ้วนในเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ แพทย์หญิงสุวรรณา  เรืองกาญจนเศรษฐ์ และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัย พบภาวะอ้วนลงพุงร้อยละ ๑๐.๒ ในนักเรียนชาย และร้อยละ ๑๓.๒ ในนักเรียนหญิง

โรคอ้วนนำไปสู่โรคต่างๆ อย่างไร

ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบันทำให้ทราบว่า โรคอ้วน เป็นสาเหตุตั้งต้น ของโรคกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม โดยทำให้เกิดอาการและโรคต่างๆ ดังนี้

            ๑. โรคเบาหวานประเภทที่ ๒ (type 2 diabetes)  

            โรคอ้วนทำให้มีความผิดปกติในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เชื่อว่า เกิดจากการมีเซลล์ไขมันมาก และจะมีการย่อยสลายไขมันทำให้เกิดกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ออกมาในกระแสเลือดมาก และขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งปกติ จะทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ การศึกษาเกี่ยวกับเมแทบอลิกซินโดรมในเด็ก พบว่า ภาวะนี้ มีความชุกเพิ่มขึ้น ตามความรุนแรงของโรคอ้วน ในกลุ่มเด็กที่อ้วนมาก อาจพบเมแทบอลิกซินโดรมได้มากกว่าเด็กปกติ ถึงร้อยละ ๕๐ ในประเทศไทย มีการศึกษาวิจัย ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๒ พบว่า ความชุกของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มสูงขึ้นมาก และมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มขึ้น ของโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ในเด็กอ้วน

            ๒. โรคไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia)  

            ภาวะที่พบในคนอ้วน ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) มีระดับสูง แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (low density lipoprotein cholesterol - LDL-C) มีระดับสูงกว่าปกต ส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (high density lipoprotein cholesterol - HDL-C) มีระดับต่ำกว่าปกติ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่มีมากเกินไป จะถูกนำไปเก็บสะสม หรือย่อยเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นพิษต่อบีตาเซลล์ในตับอ่อน ทำให้เกิดโรคเบาหวาน นอกจากนั้นระดับไขมันในเลือดสูง ยังทำให้หลอดเลือดอักเสบ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในเวลาต่อมา

            ๓. โรคความดันโลหิตสูง

            เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบ หรือตีบตัน ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป เป็นผลทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

            ๔. โรคหัวใจและหลอดเลือด

            จากสาเหตุของโรคในข้อ ๒ และข้อ ๓ หากมีการอักเสบหรือตีบตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ อนึ่ง หากมีการตีบตันของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่มีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ก็จะมีผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน เช่น เส้นเลือดที่สมองตีบ ทำให้เป็นอัมพาต หรืออัมพฤกษ์

ภาวะแทรกซ้อนอื่นของโรคอ้วน

            นอกจากโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนี้

            ๑. ความผิดปกติของผิวหนัง
           
            ผิวหนังมีสีคล้ำ หรือสีดำคล้ำ (acanthosis nigricans) ตามข้อพับ คอ รักแร้ ใต้ราวนม อาจมีอาการอักเสบของผิวหนังบริเวณดังกล่าว
ก้อนไขมันสีเหลือง (xanthoma) ขนาดต่างกัน พบบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า หลังเอ็นร้อยหวาย ผู้ที่มีก้อนไขมันสีเหลืองจะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก และมักพบว่า มีความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบสูงมาก

            ๒. ความผิดปกติของกระดูกและข้อ

            คนที่อ้วนมากๆ จะพบว่า การเคลื่อนไหวลำบาก และมักมีอาการปวดเข่า เนื่องจาก เข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินปกติ นอกจากนั้น ยังมีอาการปวดข้อเท้า ปวดหลัง ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีโรคอ้วนด้วย อาจพบกระดูกต้นขาโค้งงอ (bowed femur)

            ๓. ความผิดปกติของระบบการหายใจ

            คนอ้วนจะมีไขมันหนาที่ใต้ผิวหนังบริเวณทรวงอก ทำให้ช่องอกมีการขยายตัวน้อยกว่าที่ควร และมีไขมันในช่องท้องมาก ทำให้กะบังลมเคลื่อนไหวน้อยลง จึงทำให้มีการหายใจเร็วและตื้น และเกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งเป็นอันตรายมาก

            ๔. ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ

            นอกจากความผิดปกติของระดับอินซูลินแล้ว ยังอาจพบความผิดปกติของฮอร์โมนตัวอื่นๆ ทำให้มีอาการจากความผิดปกติของฮอร์โมนนั้นๆ ร่วมด้วย

            ๕. ความผิดปกติของตับ

            คนอ้วนจะมีไขมันอยู่ตามอวัยวะภายในช่องท้อง โดยเฉพาะที่ตับ ซึ่งทำให้เกิดอาการตับอักเสบ หรือตับแข็งในเวลาต่อมาได้

            ๖. สมรรถภาพในการทำงาน

            คนอ้วนมักมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ทำให้เหนื่อยง่าย สมรรถภาพในการทำงานน้อยลงอย่างชัดเจน

            ๗. บุคลิกภาพ

            เด็กอ้วนและผู้ใหญ่อ้วนมักถูกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงล้อเลียน ทำให้มีปัญหาทางด้านจิตใจ และในการพัฒนาบุคลิกภาพได้ โดยอาจเป็นคนชอบเก็บตัว ไม่สนใจสังคม ซึมเศร้า การดูแลช่วยเหลือต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ให้ถือว่า ไม่ใช่ปมด้อย แต่เป็นความไม่สมดุลกัน ระหว่างพลังงานที่ได้กับพลังงานที่ใช้ไป ต้องกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการออกกำลังกาย โดยชักชวนให้ทำเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะ ทั้งคนอ้วนและคนไม่อ้วน

แนวทางการดูแลรักษาโรคอ้วน

การดูแลรักษาโรคอ้วนที่ปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในเรื่องการบริโภคอาหาร และการทำกิจกรรมออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

            ๑. กินอาหารตามโภชนบัญญัติ ๙ ประการ หรือตามธงโภชนาการ

            ๒. ลดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาล รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารทอด หรืออาหารผัด ที่ใช้น้ำมัน แกงหรือขนม ซึ่งใส่กะทิ เปลี่ยนมาใช้วิธีอบ ต้ม นึ่ง ย่าง เพื่อลดการใช้น้ำมันปรุงอาหาร

            ๓. กินอาหารมื้อหลักให้ครบ ๓ มื้อ มีอาหารว่างที่ไม่หวานและไม่มีไขมันมาก หากเป็นผลไม้ ควรเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน เช่น มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่

            ๔. กินอาหารที่มีกากใยให้เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีตจากข้าวสาลี หรือธัญพืชชนิดอื่น ที่ไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ 

            ๕. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยประเภทและระยะเวลาในการออกกำลังกาย ต้องปรับตามสภาพ และความพร้อมของร่างกาย

            ๖. การใช้ยา ควรใช้โดยมีแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง


ตัวอย่างกิจกรรมการออกกำลังกาย

       ๑. การเดิน

            เริ่มเดินช้าๆ ก้าวเท้าให้สม่ำเสมอ แกว่งแขนสบายๆ ไปตามจังหวะ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการเดิน ควรสวมรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับการเดิน เพราะจะช่วยลดการบาดเจ็บที่ข้อและกล้ามเนื้อได้มาก ควรเพิ่มความเร็วของการเดิน และระยะเวลาที่เดินในแต่ละครั้ง ไม่น้อยกว่าครั้งละ ๓๐ นาที จำนวน ๓ - ๕ ครั้งต่อสัปดาห์

            ๒. การวิ่งเหยาะๆ

            หากออกกำลังกายด้วยการเดินแล้วเป็นไปด้วยดี อาจเปลี่ยนเป็นวิ่งเหยาะๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย

            ๓. ฝึกโยคะ หรือรำมวยจีน หรือรำไม้พลอง

            ควรเริ่มฝึกกับผู้ฝึกที่เชี่ยวชาญ จะเพิ่มความแข็งแรง และความยืดหยุ่น ให้แก่ร่างกายได้อย่างดี

            ๔. การออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดต่างๆ

            เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ เต้นแอโรบิก หากทำได้ควรทำอย่างน้อยครั้งละ ๒๐ - ๓๐ นาที จำนวน ๓ - ๕ ครั้ง ต่อสัปดาห์

            กิจกรรมการออกกำลังกายควรเลือก ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอุปนิสัยของตนเอง อาจเลือกสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวันก็ได้ หลักการคือ ควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละ ๒๐ - ๓๐ นาที จนรู้สึกว่า มีเหงื่อ เริ่มเหนื่อย และมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ประมาณร้อยละ ๖๐ - ๘๐ ของชีพจรสูงสุด ซึ่งคำนวณได้โดยใช้ค่า ๒๒๐ ลบด้วยอายุ เช่น อายุ ๕๐ ปี คำนวณค่าชีพจรสูงสุดจะเท่ากับ ๒๒๐ - ๕๐ เท่ากับ ๑๗๐ ครั้งต่อนาที เมื่อออกกำลังกาย ควรให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ ๑๐๒ - ๑๓๖ ครั้งต่อนาที ซึ่งเท่ากับร้อยละ ๖๐ - ๘๐ ของชีพจรสูงสุด