เล่มที่ 33
อาหารกับโรคเรื้อรัง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคความดันโลหิตสูง (hypertension)

            โรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรม เนื่องจากมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เมื่อร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ มีโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จะส่งผลให้มีของเหลวในกระแสเลือดปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ การอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูง

            จากรายงานของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กล่าวถึงการสำรวจสุขภาพของประชากรไทยใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่า พบความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ ๑๖.๓ ในการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง ๑ ใน ๔ เท่านั้นที่รู้ตัวว่าเป็นโรค และเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้เท่านั้น ที่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

            ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรมซึ่งมีโรคความดันโลหิตสูง จะต้องลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ด้วยจะต้องลดความดันโลหิตลงอีก ให้เหลือน้อยกว่า ๑๓๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท หากสามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ก็จะดีอย่างยิ่ง โดยถ้าน้ำหนักลดลงร้อยละ ๑๐ ของน้ำหนักเดิม พบว่า ความดันซีสโตลิกซึ่งเป็นความดันโลหิตในขณะหัวใจบีบตัว จะลดลงประมาณ ๗ มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสโตลิก ซึ่งเป็นความดันโลหิตในขณะหัวใจคลายตัว จะลดได้ประมาณ ๓ มิลลิเมตรปรอท หากความดันโลหิตไม่ลดลง ถึงแม้ว่าน้ำหนักจะลดลงมาแล้ว ควรพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิตด้วย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ที่จะนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด การควบคุมอาหารก็มีวิธีปฏิบัติ ใกล้เคียงกับโรคอ้วน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มักจะมีโรคอ้วนอยู่ก่อนแล้วด้วย อย่างไรก็ดี อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องลดเกลือ และสารที่ให้ความเค็มทุกๆ ชนิดด้วย ควรบริโภคเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ไม่เกินวันละ ๑ ช้อนชา


            ผู้ป่วยควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตประจำบ้าน ซึ่งในปัจจุบัน หาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป ราคาไม่แพง และใช้งานง่าย สามารถวัดได้ทั้งที่ต้นแขน และข้อมือ ซึ่งหากมีการวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ก็จะทำให้สามารถเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงได้ในระยะที่ยังไม่เป็น และยังช่วยติดตามผลการรักษาได้อย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่

            การควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินกว่าปกติ ก็จะทำให้ลดอัตราการเกิดอัมพาต การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมาก