เล่มที่ 32
โรคออทิซึม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคออทิซึมในประเทศไทย

            โรคออทิซึมได้เริ่มพบตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่ในตอนนั้นยังไม่ทราบว่า เป็นโรคนี้ ทราบกันเพียงว่า เด็กที่มีความผิดปกติทางจิต ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ชาวอังกฤษว่า "อัจฉริยะปัญญาอ่อน" (idiot savant) เนื่องจากเด็กมีอัจฉริยะในด้านความจำ การคำนวนตัวเลข ดนตรี และศิลปะ  แต่ด้อยทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์อย่างมาก เด็กได้รับการดูแลบำบัดรักษา โดยแพทย์ทางระบบประสาทร่วมกับจิตแพทย์ ที่ประเทศอังกฤษ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑ แพทย์หญิงวาสนา ศรมณี จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้ตรวจรักษาเด็กชาย อายุ ๕ ปี หน้าตาน่ารัก มีสีหน้าเฉยเมย ไม่สนใจใคร เด็กอยู่ไม่นิ่ง วิ่งขึ้นลงบันได โดยใช้มือลูบไปตามราวบันไดซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ส่งเสียงร้องไม่เป็นภาษา ที่น่าแปลกใจก็คือ เด็กสามารถเล่นเครื่องเล่นเทปได้อย่างถูกต้อง เด็กจะกดปุ่มให้เทปกรอกลับไปกลับมาซ้ำๆ ไม่ยอมเลิก ซึ่งในสมัยนั้น เครื่องเล่นเทปยังมีความยุ่งยาก เพราะเทปไม่ได้เป็นตลับเทป เหมือนในปัจจุบัน แต่จะเป็นม้วนเทปกลมๆ แพทย์หญิงวาสนา ศรมณี ได้ให้การวินิจฉัยว่า เป็น "infantile psychosis" คือ โรคจิตในวัยเด็ก ซึ่งเรียกในปัจจุบันว่า โรคออทิซึม ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๒๐ แพทย์หญิงเพ็ญแข (ศิริจรรยา) ลิ่มศิลา จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชเด็ก ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเด็กออทิสติก ที่ส่งมาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ที่มีอาการรุนแรงและอายุมากกว่า ๗ ปี ซึ่งมีปัญหายุ่งยาก ในการดูแลรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมาก โดยขอยกตัวอย่างเด็กออทิสติก ๔ คน ที่มีอาการรุนแรง แสดงพฤติกรรมแตกต่างกัน  ดังต่อไปนี้



โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ


  • เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ สถานแรกรับเด็กชายบ้านปากเกร็ด กรมประชาสงเคราะห์ ได้ส่งเด็กชายไม่ทราบชื่อ มีอายุประมาณ ๖ - ๗ ปี เป็นเด็กน่ารัก แก้มยุ้ย มาขอรับการรักษาด้วยปัญหาว่า เด็กไม่สามารถเข้าใจ หรือสื่อสารกับใครได้เลย พูดแต่คำที่ไม่มีความหมายว่า "กึ๊กๆ กึ๊กๆ" ทั้งวัน ไม่รู้จักบอกว่า หิวหรืออิ่ม แยกตัวอยู่คนเดียว หน้าตาเฉยเมย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ไม่รู้จักแม้แต่ชื่อตัวเอง เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับฯ ก็ไม่ทราบชื่อ เนื่องจาก เด็กพลัดหลงจากผู้ปกครอง ที่บริเวณสนามหลวง เด็กจึงได้รับการตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "เด็กชายกึ๊ก" ชื่อจริงว่า ประสพโชค เด็กได้รับการดูแลรักษา ในโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ๒ ปี ได้รับการฝึกพูดจาก อาจารย์รจนา (ทรรทรานนท์) เทพหัสดิน ณ อยุธยา และฟื้นฟูสมรรถภาพอื่นๆ จากพยาบาล จนเด็กสามารถพูดสื่อความหมาย และเรียนรู้ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ จนเป็นที่น่าพอใจ


การฝึกให้เด็กออกเสียง "วาวา" เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเบื้องต้นทางการเปล่งเสียง

  • ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับเด็กหญิงอายุ ๗ ปี จากมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ เด็กมีรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กกว่าวัย ทำปากยื่นแหลม ส่งเสียงร้องเหมือนนก ไม่สามารถสื่อภาษากับคนได้ เดินและวิ่งไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย มีปัญหาในเรื่องการรับประทานอาหาร เนื่องจากเคี้ยวอาหารไม่เป็น จึงต้องให้อาหารเหลวทุกมื้อ ขณะที่ให้อาหารเด็ก พ่อและแม่ต้องช่วยกัน โดยแม่จะนั่งเหยียดขาไปตรงๆ บนพื้น จับเด็กนอนหงายบนขาของแม่ หันศีรษะเด็กไปทางเท้าของแม่ เพื่อจะใช้เท้าทั้งสองข้างของแม่หนีบศีรษะเด็กไว้ มือจับแขนทั้งสองข้างของเด็กมากดไว้ที่ขาของเด็ก พ่อจะใช้มือหนึ่งจับคางของเด็ก อีกมือหนึ่งใช้ช้อนตักอาหารเหลวจากหม้อหูหิ้ว ป้อนเข้าปาก เด็กก็อ้าปากค้างไว้ รับอาหารเหมือนลูกนก ขยอกกลืนไปเรื่อยๆ โดยไม่หุบปากเคี้ยวเลย ในรายนี้ ต้องเริ่มสอนพ่อแม่ถึงวิธีการให้อาหารเด็ก การฝึกให้เด็กกลืนอาหาร และนั่งรับประทานอาหาร แล้วค่อยๆ เปลี่ยนจากอาหารเหลว เป็นอาหารที่มีกากมากขึ้น


ภาพวาดเด็กหญิงอายุ ๗ ปี จากมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ที่ทำปากยื่นแหลม และส่งเสียงร้องเหมือนนก

  • ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับเด็กชายอายุ ๖ ปี จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เด็กไม่สนใจใคร แยกตัว เรียกชื่อไม่หันตามเสียงเรียก ไม่สบตา ยืนกางขา ก้มตัวไปข้างหน้า ส่ายศีรษะพร้อมโยกตัวห้อยแขนแกว่งไปมา ส่งเสียงร้อง "มอ มอ มอ" คล้ายวัวควาย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ถ้าต้องการอะไร จะจับมือคนที่อยู่ใกล้ที่สุดไปทำให้
  • ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ กุมารแพทย์จากจังหวัดสมุทรสาคร ส่งเด็กชายอายุ ๗ ปี มาขอใบรับรองแพทย์ เพื่อขอยกเว้นการศึกษา เป็นเด็กรูปร่างเล็ก ผอมเกร็ง นั่งหมอบเก็บแขนขา เงยหน้ามองอย่างตื่นกลัว ส่งเสียงเห่าหอน เลียข้าว และน้ำ เหมือนสุนัข เพราะเด็กอยู่ในครอบครัวที่ยากจน จึงต้องทิ้งเด็กไว้กับสุนัขไทยตัวหนึ่ง ที่ใต้ถุนบ้าน ขณะที่พ่อแม่ออกไปทำนาทำไร่ เด็กจึงเลียนแบบพฤติกรรมของสุนัข


ภาพวาดเด็กชายอายุ ๗ ปี จากจังหวัดสมุทรสาคร โดยนั่งหมอบ เก็บแขนขา ส่งเสียงเห่าหอน และเลียข้าวและน้ำเหมือนสุนัข

            สำหรับวิธีการรักษาคือ นำเด็กปกติ ซึ่งเป็นลูกหลาน ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์มาเป็นเพื่อน และแบบอย่าง ให้เด็กออทิสติกในโรงพยาบาล ปรากฏว่า เด็กที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นทุกคน ได้รับการช่วยเหลือ จนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อย่างคนปกติ โดยแต่ละคนใช้เวลารักษาประมาณ ๒ - ๓ ปี ปลาย พ.ศ. ๒๕๒๐ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสงค์  ตู้จินดา ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และอาจารย์ แพทย์หญิงวัณเพ็ญ  บุญประกอบ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นว่า กุมารแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กมาตั้งแต่แรกเกิด ควรมีความรู้ เพื่อการวินิจฉัย และสามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เด็ก ที่มีปัญหาทางจิตเวชได้ จึงส่งแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ หมุนเวียนกันมาศึกษาดูงานในโรงพยาบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน ทำให้สถาบันการแพทย์ทุกแห่ง ในประเทศไทย เห็นความสำคัญ จึงนำไปปฏิบัติตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ก็ได้รับเด็กออทิสติก ที่มีอายุน้อยลงกว่าเดิมมาก คือ อายุ ๓ - ๕ ปี เด็กจึงได้รับการช่วยเหลือเร็วขึ้น ทำให้ผลการรักษาดีกว่าเดิม มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ในวัยอันควร