การวินิจฉัยโรคออทิซึม
การวินิจฉัยกลุ่มอาการออทิซึม คือ การสังเกตถึงความผิดปกติทางพฤติกรรมต่างๆ และรวบรวมไว้เป็นข้อชี้บ่ง ดังต่อไปนี้
๑) มีความผิดปกติด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (ต้องพบอย่างน้อย ๒ ข้อ)
๑. แสดงพฤติกรรมไม่สนใจใคร มีการกระทำต่อบุคคลหรือสิ่งมีชีวิตอื่นคล้ายสิ่งของ ไม่สามารถมีสัมพันธภาพต่อบุคคล เหมือนเด็กปกติในวัยเดียวกัน
๒. แสดงพฤติกรรมไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเองจากอันตรายต่างๆ
๓. ไม่สามารถลอกเลียนแบบการกระทำของคนอื่น
๔. เล่นกับใครไม่เป็น
๕. ไม่สนใจที่จะมีเพื่อน ไม่สามารถผูกมิตรกับใคร
๒) มีความผิดปกติทางด้านการสื่อความหมาย ทั้งด้านการพูด และการสื่อโดยการแสดงท่าทาง (ต้องพบอย่างน้อย ๑ ข้อ)
๑. ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมสื่อความหมายได้เลย
๒. การสื่อความหมายโดยการแสดงท่าทางมีความผิดปกติอย่างชัดเจน
๓. ขาดจินตนาการในการเล่น
๔. มีความผิดปกติอย่างชัดเจนในการเปล่งเสียงพูด
๕. มีความผิดปกติอย่างชัดเจนในรูปแบบ และเนื้อหาของการพูด
๖. ไม่มีความสามารถที่จะสนทนากับใครได้นาน มักจะพูดแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจ
๓) มีการกระทำและความสนใจซ้ำซากอย่างเด่นชัด (ต้องพบอย่างน้อย ๑ ข้อ)
๑. เคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆ
๒. คิดหมกมุ่นหรือสนใจส่วนหนึ่งส่วนใดของสิ่งของ
๓. แสดงความคับข้องใจอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา หรือที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน
๔. ต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำเป็นประจำ โดยมีรายละเอียดเหมือนเดิม
๕. มีความสนใจในขอบเขตที่จำกัด

การทดสอบความผิดปกติทางพฤติกรรมของเด็ก เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์
๔) เริ่มพบอาการได้ในช่วงอายุ ๓๐ - ๓๖ เดือน
เมื่อรวมข้อปลีกย่อยทั้งหมดจากทุกหัวข้อแล้ว ต้องพบทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘ ข้อ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเสมอ คือ จะต้องพิจารณาว่า ความผิดปกติทางพฤติกรรม ที่พบนั้น เป็นความผิดปกติจากระดับพัฒนาการของเด็กปกติในวัยเดียวกันเท่านั้น ข้อ ๑ - ๕ ใน ๑) และข้อ ๑ - ๖ ใน ๒) สามารถบอกได้ว่า พฤติกรรมในข้อแรกๆ นั้น พบในเด็กออทิสติกที่มีอายุน้อย (ต่ำกว่า ๑ ปี ๖ เดือน) หรือเด็กออทิสติก ที่มีอาการมาก ส่วนในหัวข้อหลังๆ จะพบในเด็กออทิสติกที่มีอายุมากขึ้น หรือเด็กออทิสติกที่มีอาการน้อย เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างประกอบทุกข้อ ดังต่อไปนี้

การทดสอบความผิดปกติทางพฤติกรรมของเด็ก เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์
ก. มีความผิดปกติต่อต้านสังคม และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
๑. แสดงพฤติกรรมไม่สนใจใครเลย
ตัวอย่างเช่น ขณะผู้ปกครองนำเด็กเข้ามาในห้องแพทย์ เด็กจะแสดงอาการเฉยเมย ไม่สนใจใคร และทำเสมือนว่า มีเขาอยู่เพียงคนเดียวในห้องนั้น ไม่สามารถสังเกต หรือรับรู้ถึงความพอใจหรือไม่พอใจของคนอื่น เมื่อมารดาร้องไห้ ขณะที่เล่าถึงปัญหาทางพฤติกรรมของเด็กให้แพทย์ฟัง เด็กจะไม่มีปฏิกิริยารับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น บางรายอาจจะเดินผ่านไปมา ระหว่างแพทย์กับมารดาของเขา และไม่สนใจว่า ใครกำลังต้องการความเป็นส่วนตัวหรือไม่ บางรายจะเดินชนคนอื่นโดยไม่สนใจ
- มีการกระทำต่อบุคคลหรือสิ่งมีชีวิตอื่นคล้ายสิ่งของ ไม่รู้ความแตกต่าง ระหว่างสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กกำลังนั่งเล่นรองเท้าของเขาอยู่คนเดียว โดยการยกขึ้นดม กัด และหมุนเล่นไปมา เมื่อผู้เขียนนำลูกบอลเล็กๆ เข้าไปให้เขาเล่น เพื่อทดแทนการเล่นรองเท้า นอกจากเขาจะไม่สนใจลูกบอลแล้ว เขายังทำหน้าตาเฉยเมย และลุกขึ้น มือหนึ่งถือลูกบอล อีกมือหนึ่งดึงผู้เขียน ฉุดให้เดินไปห่างจากที่เขานั่งเล่น แล้วทิ้งลูกบอล และปล่อยมือผู้เขียนอย่างแรง เสมือนกับขว้างของทิ้ง พร้อมทั้งวิ่งกลับไปเล่นรองเท้าในลักษณะเดิม ทำเช่นนี้ทุกครั้ง ที่ผู้เขียนเข้าไปใกล้ พฤติกรรมที่เด็กแสดงนั้น เสมือนกับเขารู้สึกว่า บุคคลเป็นสิ่งของ หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิต ถ้าเขาไม่ต้องการ ก็จะเอาไปไว้ห่างๆ จากตัวเขา หรือโยนทิ้งเสีย ผู้ช่วยเหลือเด็ก หรือผู้ปกครอง จะต้องได้รับการบอกเล่าให้ระวัง ขณะเด็กเล่นกับสัตว์เลี้ยงต่างๆ เนื่องจาก ผู้เขียนพบเสมอว่า เด็กจะถูกสุนัขหรือแมวกัดมาจนเป็นแผลมากมาย เพราะเด็กเล่นกับสุนัขหรือแมวที่มีชีวิต โดยการพยายามฉีกปากหรือดึงหู ดึงหาง ดึงขา บางรายเด็กไปกัดจมูก หรือหูสุนัข จนกระทั่งเมื่อสุนัขพบเด็ก สุนัขจะกลัว และวิ่งหนีทันที
- ไม่สามารถมีปฏิกิริยาต่อสัมพันธภาพของบุคคล ตัวอย่างเช่น ถ้ากอดเด็ก เด็กจะกอดตอบไม่เป็น หรืออุ้มเด็ก เด็กจะทำตัวแอ่นไปมา ทำให้รู้สึกว่า ตัวเด็กหนักมากกว่าที่ควร คล้ายอุ้มคนเป็นลม เนื่องจาก เด็กไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง เด็กจะทำหน้าตาเฉยเมย และไม่รู้จักเอามือโอบกอดคอผู้อุ้มได้เหมือนเด็กปกติ ที่จะป้องกัน ไม่ให้ตัวเองตกลงมา

เด็กออทิสติกจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เช่น เด็กออทิสติกคนหนึ่ง เมื่อถูกเด็กคนอื่นขึ้นไปขี่หลังขณะกำลังคลานอยู่บนพื้น จะไม่มีปฏิกิริยาหลีกเลี่ยง หรือโต้ตอบ
๒. แสดงพฤติกรรมไม่รู้ร้อนรู้หนาว และไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเองจากอันตรายต่างๆ
เช่น เมื่อเด็กออทิสติกถูกเด็กคนอื่นตี กัดหรือจิกผม เด็กจะไม่สามารถปกป้อง หลีกเลี่ยง หรือโต้ตอบได้ บางคนจะเฉยเมย บางคนจะร้อง และส่งเสียงไม่เป็นภาษาเท่านั้น เด็กบางคนถูกมดแดงกัดอยู่เต็มเท้า ก็ทำเหมือนไม่รู้สึกเจ็บปวด จะยืนเฉย และไม่สามารถปัดมดออกไปจากเท้าได้ เด็กบางคนเมื่อเปิดลิ้นชักและถูกหนีบนิ้วไว้ ก็ไม่สามารถดึงนิ้วออกเองได้ จะร้องแต่ "ซี๊ดๆ" จนกว่าจะมีคนไปช่วยดึงออกให้ ผู้ดูแลเด็กจึงควรระวังอันตราย และต้องอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา ที่แผนกผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ แม้ว่าพยาบาลและผู้ดูแลเด็กจะดูแล โดยไม่ให้คลาดสายตาเลย ก็ยังปรากฏเสมอว่า เด็กบางคนชอบกัดเด็กคนอื่น ซึ่งก็ยอมให้ถูกกัดอยู่อย่างนั้น จนกว่าผู้ดูแลจะไปช่วยเหลือ ต้องระวังแม้กระทั่ง เรื่องอาหาร ถ้าอาหารร้อนจัดไม่ควรวางให้เด็กรับประทาน เพราะเด็กจะตักรับประทานได้แม้จะร้อน จนทำให้ปากพอง

การใช้กิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกเด็กให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
๓. ไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบการกระทำของคนอื่นได้
ตัวอย่างเช่น การโบกมือ "บ๋าย บาย" ถ้าสอนซ้ำๆ เด็กอาจจะลอกเลียนแบบได้ โดยที่กระทำผิดแปลกไปกว่าปกติ คือ ในเด็กปกติ จะทำท่า "บ๋าย บาย" โดยหันฝ่ามือออกนอกตัว และโบกไปมา แต่สำหรับเด็กออทิสติก ส่วนใหญ่จะทำท่าหันฝ่ามือเข้าหาตัว โดยที่นิ้วมือ อาจจะชี้ขึ้นบนหรือชี้ลงล่าง บางรายจะหันฝ่ามือออกด้านนอก โดยเอานิ้วมือชี้ลงล่าง ส่วนเรื่องการส่งจูบ เด็กออทิสติกมักชอบเอาหลังมือแตะปาก แล้วมองดูมือคล้ายจะค้นหาว่า เสียงออกมาได้อย่างไร เมื่อสอนให้เขายิ้มหรือหัวเราะ เด็กจะยิงฟัน แล้วต้องเอามือแตะฟันของเขาเองทุกครั้ง เพื่อให้รู้ว่าทำตามได้แล้ว
๔. เด็กออทิสติกจะเล่นกับใครไม่เป็น แม้จะเป็นการเล่นอย่างง่ายๆ
ตัวอย่างเช่น การเล่นโยน และรับลูกบอลกับเพื่อน การเตะลูกบอล แม้แต่เด็กออทิสติกที่ดีขึ้น จนไปเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้ เมื่อเล่นเตะลูกบอลกับเพื่อน เด็กขาดทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงทำให้เด็กไม่เคยได้เตะลูกบอลเลย จึงรู้สึกไม่พอใจ จะวิ่งไปแย่งลูกบอลมากอดไว้คนเดียว โดยไม่ยอมให้ใครได้เตะลูกบอลอีกเลย เด็กออทิสติกที่เคยได้รับการบำบัดรักษา จากโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จนดีขึ้น และได้เข้าโครงการการศึกษาพิเศษของโรงเรียนสาธิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว บางคนยังเล่นกับเพื่อนไม่ค่อยเป็น เช่น อยากจะเล่นกับเพื่อน เมื่อเห็นเพื่อนนั่งเล่นโดมิโนกันอยู่ เด็กจะตรงเข้าไปแย่งตัวโดมิโนมาแล้ววิ่งหนี เพื่อให้เพื่อนวิ่งตาม จนเพื่อนโมโหก็รุมตีเด็ก เด็กจะหัวเราะนึกว่าเพื่อนเล่นด้วย สำหรับรายนี้ ได้ประวัติจากมารดาว่า ขณะอยู่บ้าน เด็กจะเล่นกับน้องที่ปกติ อายุ ๓ ปี โดยน้องแย่งของเล่นแล้ววิ่งหนี เด็กก็วิ่งตามอย่างสนุกสนาน จึงนำเอามาเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนบ้าง แต่เพื่อนอายุ ๗ ปี แล้ว จึงไม่ชอบการเล่นแบบเด็กอายุ ๓ ปี เช่นนั้น
๕. ไม่สนใจที่จะมีเพื่อน ไม่สามารถผูกมิตรกับใคร และขาดความสนใจ ในการมีปฏิสัมพันธ์ในด้านสังคมกับเด็กอื่น
ตัวอย่างเช่น การนำเด็กออทิสติกในวัยเดียวกัน ๕ คน มาร่วมทำกิจกรรมเป็นกลุ่มอย่างง่ายๆ ด้วยการให้โยนลูกบอลให้แก่กันเป็นวงกลม ถ้าผู้ดูแลไม่ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ แล้ว ภายใน ๑ นาที เด็กจะผละออกจากกันไปคนละทิศละทาง เสมือนเป็นแม่เหล็กขั้วเดียวกัน แต่ละคนจะไปแสดงพฤติกรรม ที่แตกต่างกันไป ในการเคลื่อนไหว ที่ชอบทำเป็นประจำ เมื่ออยู่ในโลกของตนเอง โดยไม่สนใจใครเลย
ข. มีการสูญเสียทางด้านการสื่อความหมาย ทั้งด้านการพูด และการไม่ใช้คำพูด รวมทั้งไม่สามารถมีจินตนาการ ในการเล่นได้
๑. ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมสื่อความหมายได้เลย
เช่น ไม่มีการส่งเสียง "อือ - ออ" ไม่มีการแสดงออกทางใบหน้า เช่น แสดงถึงการโกรธ การพอใจ ด้วยการยิ้ม หรือหัวเราะ ไม่สามารถสื่อความหมายด้วยท่าทางได้เหมือนเด็กหูหนวก หรือเป็นใบ้ ถ้าเด็กออทิสติกต้องการอะไร มักจะดึงมือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงไปทำให้ เช่น ถ้าเด็กต้องการเปิดประตู ก็จะดึงมือผู้ที่อยู่ใกล้ไปที่ลูกบิดประตูเท่านั้น ไม่สามารถแสดงออกอาการเลียนแบบในการพูด และไม่สามารถสื่อภาษาในการพูดได้

ถ้าเด็กออทิสติกต้องการอะไร ก็มักจะดึงมือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงไปทำให้ เช่น เปิดประตู หรือหยิบสิ่งของ
๒. การสื่อความหมายที่ไม่ใช้คำพูด มีความผิดปกติอย่างชัดเจน
เช่น เด็กไม่มีการสบตากับบุคคลทั่วไป เด็กจะใช้การมองผ่านไปมา จนดูเหมือนตาแกว่งไปมา หรือเด็กบางคนจะจ้องตาตอบ แต่ลักษณะเป็นแบบมองทะลุทะลวง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ม่านตาของเด็กหด และขยายไปมา คล้ายกับการปรับเลนส์ ของกล้องถ่ายรูป หรือเด็กบางคนต้องการจะสบตากับบุคคล โดยการมองไปด้วยตาที่เอียงไปด้านข้าง ไม่หันหน้าตรงกับหน้าของบุคคล ที่เด็กต้องการจะสบตา ลักษณะคล้ายการชำเลือง จนเด็กออทิสติกบางรายมาพบแพทย์ เพราะมีตาเหล่ไปข้างใดข้างหนึ่ง

เด็กจะไม่สบตากับบุคคลทั่วไป และไม่หันตามเสียงเรียก ทั้งๆ ที่การได้ยินเป็นปกติ
๓. เด็กออทิสติกจะขาดจินตนาการในการเล่น ซึ่งเด็กปกติวัย ๓ ขวบขึ้นไป สามารถเลียนแบบผู้ใหญ่ได้
เช่น การทำกับข้าว การเล่นขายของ การเล่นเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูก แต่เด็กออทิสติกจะเล่นโดยการสมมติไม่เป็น เช่น การเล่นละครสมมติให้เป็นสัตว์ต่างๆ การสร้างมโนภาพในการฟังนิทาน หรือการเล่านิทาน เด็กจึงไม่สนใจในการฟังนิทาน ที่เกี่ยวกับการสร้างจินตนาการ ฉะนั้น การสอนหรือการเล่านิทานให้เด็กออทิสติกฟัง ควรจะใช้แบบรูปธรรม เช่น การเชิดหุ่น หรือการเล่นละครโดยใช้ตัวแสดงจริง ผู้เขียนเคยพยายามเล่นสมมติกับเด็กออทิสติก ที่มีอาการดีขึ้นจำนวนมาก โดยใช้ท่อนไม้เล็กๆ มาต่อกัน และสมมติว่าเป็นรถไฟกำลังวิ่งโดยทำให้เคลื่อนที่ เด็กออทิสติกจะแสดงท่าทางงุนงง และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ใช่รถไฟหรอก นี่มันเป็นไม้ เขาคงจะคิดว่าผู้เขียนผิดปกติและไม่รู้เรื่องเสียเลย
๔. มีความผิดปกติอย่างชัดเจนในการเปล่งเสียงพูด
เกี่ยวกับความดังของเสียง ระดับเสียง เสียงเน้น ความเร็วช้า จังหวะ และเสียงสูงต่ำ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เด็กออทิสติกหลายคนมีเสียงในระดับเดียวกัน บางคนจะทำเสียงสูงต่ำคล้ายเสียงดนตรี หรือในบางคน จะมีการพูดที่มีเสียงระดับสูงมากอย่างเดียว
๕. มีความผิดปกติอย่างชัดเจนในรูปแบบและเนื้อหาของการพูด พูดซ้ำซาก วกวนไปมาอย่างเดิม พูดเลียนแบบทันที
เช่น หากถามว่า "หนูชื่ออะไร" เด็กจะพูดตอบว่า "หนูชื่ออะไร" พูดเลียนแบบโดยการจดจำคำพูดจากโทรทัศน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการโฆษณาที่เด็กชอบดู หรือเลียนแบบจากภาพยนตร์การ์ตูนต่างๆ จนคุณพ่อของเด็กออทิสติกคนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นกัปตันเครื่องบินคิดไปว่า ลูกชายของตนเองเป็นมนุษย์ต่างดาวมาเกิด เนื่องจากเด็กพูดได้ต่อเนื่องกันยาวมาก แต่เป็นภาษาของตัวเอง ที่ลอกเลียนแบบมาจากมนุษย์ต่างดาวที่เด็กชอบดู และจำมาจากโทรทัศน์นั่นเอง เด็กบางคนพูดคล้ายภาษาญวน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส แต่ความจริงแล้ว เป็นภาษา ที่ไม่มีความหมายใดๆ เด็กบางคนจะพูดความหมายของประธานผิดไป เช่น ถ้าเขาต้องการเปิดตู้ เพื่อหยิบของเล่น เขาจะพูดว่า "ป้าหมอจะเปิดตู้ใช่ไหมฮะ" ความจริงเขาต้องการพูดว่า "ผมจะเปิดตู้" เด็กออทิสติกบางคนมักจะใช้คำพูดไม่ตรงประเด็น ฉะนั้นจึงเห็นได้บ่อยว่า เด็กออทิสติกคุยกัน ทะเลาะกัน หรือเถียงกันคนละเรื่อง เช่น คนหนึ่งพูดถึงสวนจตุจักร อีกคนหนึ่งพูดถึงสวนลุมพินี
๖. ไม่มีความสามารถที่จะสนทนากับใครได้นาน มักพูดถึงแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ
เช่น ท่องหนังสือที่เรียนมาให้ฟังได้ทั้งเล่ม โดยไม่สนใจเลยว่า ใครจะฟังหรือไม่ บางรายจะพร่ำพูดแต่เรื่องของจรวดชนิดต่างๆ ไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ หรือเรื่องต่างๆ ที่ตัวเขาเองสามารถอ่าน และจดจำ มาจากสารานุกรมของเด็ก ความสามารถเช่นนี้ ทำให้คนที่พบเห็นมักเข้าใจผิดได้ว่า เขาเป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น
ค. มีการกระทำและความสนใจซ้ำซากอย่างเด่นชัด
๑. มีการเคลื่อนไหวของร่างกายซ้ำๆ
เช่น การเคาะนิ้วมือบนโต๊ะ โบกมือไปมา หมุนตัว กระโดดขึ้น กระโดดลง โดยถือสิ่งของเล็กๆ ในมือ เช่น เศษกระดาษ ใบไม้ หลอดดูดน้ำ ดินสอ โดยเอาสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งหนีบอยู่ระหว่าง ๒ นิ้ว อาจจะเป็นระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ หรือระหว่างนิ้วชี้ และนิ้วกลาง พร้อมทั้งโบกมือไปมา บางรายจะชอบโขกศีรษะ พบว่า มีอยู่ ๒ ราย ที่ชอบนอนคว่ำ และเลื้อยไปมาฃตามขาเก้าอี้ เหมือนงู

เด็กออทิสติกจะสนใจส่วนหนึ่งส่วนใดของสิ่งของ เช่น ถือรถเด็กเล่นไว้ในมือ อีกมือหนึ่งจะหมุนแต่ล้อรถเล่น
๒. คิดหมกมุ่น หรือสนใจส่วนหนึ่งส่วนใดของสิ่งของ
เช่น ถือรถยนต์ของเล่นไว้ในมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งจะหมุนแต่ล้อรถเล่น หรือชอบดมสิ่งของ มีเด็กชายออทิสติกคนหนึ่งชอบดมกระดาษสีฟ้ามากกว่าสีอื่น เด็กออทิสติกจะชอบลูบไล้สิ่งของ เช่น เดินเอามือลูบไปตามราวบันได ขึ้นและลงซ้ำๆ ชอบเอามือลูบกระโปรงที่อัดกลีบ หรือผ้าแพรลื่นๆ ชอบถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ในมือ เช่น เชือก
หลอดดูดน้ำ บางคนชอบถือหนังสือชนิดใดก็ได้ เปิดดูไปเรื่อยๆ จนหมดเล่ม และทำอย่างเดิมอีก

การเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ โดยการเอาสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง หนีบอยู่ระหว่าง ๒ นิ้ว เช่น กิ่งไม้ ถือโบกไปมา
๓. แสดงความคับข้องใจอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว หรือที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน
เช่น กินอาหารที่ซ้ำซาก ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก จนเด็กออทิสติกหลายๆ คน ต้องได้อาหารเช่นเดียวกับเด็กอ่อนคือ อาหารเหลว เพราะไม่ยอมเคี้ยวอาหาร เด็กออทิสติกหลายๆ คนชอบจัดของให้อยู่อย่างเดิม เช่น การเรียงหนังสือ ของเล่น หรือแม้แต่ดินสอสี เมื่อเปิดกล่องดูแล้ว สีวางไว้อย่างไร เด็กก็จะต้องเรียงไว้อย่างนั้น ทุกครั้งที่ระบายสีเสร็จ ถ้าสิ่งของใดไม่อยู่ในที่เดิม เด็กจะแสดงอาการฮึดฮัด หรือร้องไห้ไม่ยอมหยุด จนกว่าจะหยิบของสิ่งนั้นมาไว้ที่เดิม
๔. ต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำเป็นประจำ โดยมีรายละเอียดเหมือนเดิม
เช่น เด็กออทิสติกที่พ่อหรือแม่ พาไปเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งต่อๆ ไปถ้าพาเด็กไปอีก เด็กจะต้องให้พาเดินไปซ้ำทางเก่าเสมอ เช่นเดียวกับเส้นทางมาโรงพยาบาล หรือไปโรงเรียน เด็กจะต้องใช้ทางเดินเดิมทุกๆ วัน แม้จะมีฝนตก น้ำท่วมอย่างไร ก็ไม่ยอมเปลี่ยนทางเดินใหม่

ในการวาดรูป เด็กออทิสติกจะสนใจรายละเอียดเฉพาะอย่าง เช่น ในการวาดรูปคน เด็กจะไม่สนใจวาดรายละเอียดของใบหน้า
๕. มีความสนใจในขอบเขตที่จำกัด และหมกมุ่นสนใจแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ
เช่น การลากเส้นตามขอบของวัตถุ หรือในการวาดรูป เด็กจะสนใจรายละเอียดเฉพาะอย่าง เช่น ในการวาดรูปคน เด็กจะไม่สนใจในการวาดรายละเอียดของใบหน้า แต่จะเน้นรายละเอียดสร้อยคอ หรือแบบของเสื้อผ้ามากกว่า เด็กบางคนจะชอบดูรายละเอียดในแผนที่ บางคนจะชอบรวบรวมรายละเอียด เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา
สรุปได้ว่า "เด็กออทิสติก" มีความล่าช้า และความผิดปกติในด้านต่างๆ คือ
- ทางด้านสังคม ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคล
- ทางด้านสื่อความหมาย การพูด และการใช้ภาษา
- ทางด้านจินตนาการ เด็กออทิสติกจึงมีพฤติกรรมซ้ำซาก
ทั้งด้านความคิดและการกระทำ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงยาก มีปัญหาทางอารมณ์ แต่จะมีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นอย่างชัดเจน ในเด็กอายุ ๑๘ เดือน (๑ ปี ๖ เดือน) หากพบพฤติกรรมที่ผิดปกติมากกว่า ๒ อย่าง ให้นึกถึงภาวะออทิซึม และควรให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสมทันที พฤติกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว คือ
- ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม และบุคคล เล่นกับเด็กอื่นไม่เป็น
- ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้
- เล่นสมมติไม่เป็น
- ไม่สามารถมีพฤติกรรมแสดงความสนใจร่วมกับบุคคลอื่นได้