ประวัติความเป็นมาของโรคออทิซึม
ตำนานเก่าแก่ได้เล่าต่อๆ กันมาว่า มีนางฟ้าลักลอบเอาลูกของมนุษย์ไป แล้วแอบเปลี่ยนเอาลูกของนางฟ้ามาไว้แทน ซึ่งเด็กเหล่านี้ มีหน้าตาน่ารัก สวยเหมือนนางฟ้า แต่มีพฤติกรรมแปลกๆ แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปอย่างชัดเจน อูทา ฟริท (Uta Frith) ได้เขียนในหนังสือ ออทิซึม โดยกล่าวถึงบุคคลลึกลับที่มีลักษณะ และมีพฤติกรรมแปลกประหลาด จากตำนานกล่าวว่า บาทหลวงจูนิเปอร์ ได้ติดตามเซนต์ฟรานซิสไปแสวงบุญที่กรุงโรม มีประชาชนจำนวนมากมาต้อนรับ แต่บาทหลวงจูนิเปอร์ไม่สนใจเลย ได้แต่เล่นไม้กระดานหก โยกขึ้นลงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งประชาชนกลับไปหมด พฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่า ท่านไม่สามารถเข้าใจสภาวะทางสังคม และรับรู้ถึงความรู้สึกทางอารมณ์ และการกระทำ ที่จะทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ

นางฟ้าลักลอบเอาลูกของมนุษย์ไป แล้วแอบเปลี่ยนลูกของนางฟ้ามาไว้แทน เป็นตำนานเกี่ยวกับที่มาของโรคออทิซึม
ค.ศ. ๑๘๐๑ แพทย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ ชอง - มาร์ก กาสปาร์ อีตาร์ (Jean - Marc Gas-pard Itard) ได้รายงานถึงเด็กชายคนหนึ่ง อายุ ๑๒ ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดอะเวรอง (Aveyron) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส มีคนไปนำตัวออกมาจากป่า ตั้งชื่อให้ว่า วิกเตอร์ และให้การเลี้ยงดูอยู่ ๑ ปี พบว่าเด็กมีพฤติกรรมแปลกๆ และพูดภาษามนุษย์ไม่ได้ นายแพทย์อีตาร์คิดว่า มีสาเหตุมาจาก การที่เด็กถูกแยกจากมนุษย์ตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่นายแพทย์ฟิลิป ปีแนล (Philippe Pinel) ไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่า เด็กคนนี้น่าจะมีปัญหามาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว เพราะเด็กได้รับการฝึกนานถึง ๑ ปี แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดีขึ้น ฮาร์เลน เลน (Harlen Lane) นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญในด้านการพูด ได้รวบรวมบทความของนายแพทย์อีตาร์ มาจัดพิมพ์ ในหนังสือเรื่อง The Wild Boy of Aveyron โดยได้บรรยายถึงพฤติกรรมของเด็กชายวิกเตอร์ เหมือนกับเด็กที่ได้รับการวินิจฉัย ว่าเป็นออทิซึมในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ระยะเวลาต่างกันถึงสองศตวรรษ เด็กชายวิกเตอร์ไม่สามารถเรียนรู้จากการฝึกพูด เมื่อต้องการอะไร เขาจะดึงแขนบุคคลที่อยู่ใกล้ๆ ไปทำให้ เช่น เมื่อต้องการขี่รถ เขาจะดึงแขนบุคคลที่อยู่ใกล้ที่สุดไปจับรถ แล้วปีนไต่ขึ้นไปนั่งบนรถ คอยให้คนอื่นเข็นรถให้เคลื่อนที่ไปได้ นายแพทย์อีตาร์พยายามใช้เวลานานมาก เพื่อพร่ำสอนให้วิกเตอร์เล่นของเล่นหลากหลายชนิด แต่เขาไม่สนใจ ที่จะเล่นตามที่สอนเลย และจะทำลายของเล่นทันที เมื่อเขาอยู่ตามลำพัง เขาจะไม่มีความสุขเลย ถ้าพบว่า สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในกิจวัตรประจำวัน ถูกเคลื่อนย้ายไปจากที่เดิม แพทย์และนักจิตวิทยาหลายคนกล่าวว่า พฤติกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจาก เขาได้ถูกพรากไปจากมนุษย์ ตั้งแต่ยังเป็นทารก จากการบันทึกพบว่า มีคนพบเด็กชายวิกเตอร์ครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๗๙๗ เมื่อเขามีอายุประมาณ ๙ ปี เขาไม่ได้ใส่เสื้อผ้า และเลี้ยงชีพด้วยผลไม้ที่หาได้ในป่า หรือได้รับบางส่วนจากชาวนา ชาวไร่ในละแวกนั้นเป็นครั้งคราว เขามีรอยแผลเป็นที่บริเวณลำคอ เหมือนถูกทำร้าย น่าเชื่อถือได้ว่า เขาคงพลัดพรากจากพ่อแม่ ระหว่างการปฏิวัติในฝรั่งเศส เมื่อมีคนต้องการให้ความช่วยเหลือเขา ก็พบกับความยุ่งยาก เนื่องจาก พฤติกรรมที่ผิดปกติของเขา เขาจึงถูกปล่อยปละละเลย นายแพทย์อีตาร์พยายามหาทางช่วยเหลือ โดยมอบหมายให้นักเรียนแพทย์ ๒ คน ฝึกสอนเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดวิธีการสอนแบบการศึกษาพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรก

ชอง - มาร์ก กาสปาร์ อีตาร์ แพทย์ชาวฝรั่งเศส
ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ นายแพทย์จอห์น ฮัสแลม (John Haslam) ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานถึงเด็กชายอายุ ๑ ปี พบว่า เด็กมีพฤติกรรมเหมือนเด็กออทิสติก หลังจากป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรง เช่น มีการพูดที่ซ้ำๆ มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น และพฤติกรรมก้าวร้าว ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่ออายุ ๕ ปี
ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ไลท์เนอร์ วิตเมอร์ (Lightner Witmer) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ เด็กชายดอน อายุ ๒ ปี ๗ เดือน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นออทิซึม เข้าเรียนที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษวิตเมอร์ โดยจัดการฝึกสอนแบบตัวต่อตัว เป็นระยะเวลานาน และช่วยเหลือจนเด็กคนนี้มีทักษะในการเรียน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี
ค.ศ. ๑๙๓๘ นายแพทย์ลีโอ แคนเนอร์ (Leo Kanner) จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ได้พบเด็กชายอายุ ๕ ปี ชื่อ โดแนลด์ มีพฤติกรรมผิดจากเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน คือ เดินยิ้มไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ส่ายศีรษะไปมา และกระดิกนิ้วมือซ้ำๆ โบกมือไปมาในอากาศ ทำเสียงกระซิบพึมพำ เหมือนฮัมเพลงซ้ำๆ เห็นวัตถุสิ่งของใด ที่พอจะจับมาหมุนได้ ก็จะทำทันที ด้วยความพึงพอใจ เมื่อพาเด็กเข้ามาในห้องแพทย์ เด็กไม่สนใจบุคคล แต่กลับไปสนใจวัตถุในห้องนั้น และนำเอามาหมุนเล่นทันที เมื่อให้ของเล่นเป็นแท่งไม้เล็กๆ เด็กจะใช้มือปัดทิ้ง และเอาเท้าเหยียบไม้ทันที หลังจากนั้น แคนเนอร์ได้รับเด็กจำนวนหนึ่งที่ส่งมาปรึกษาที่คลินิกของเขา เด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นแบบอย่างเดียวกัน เขาเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า "เออร์ลี อินแฟนไทล์ ออทิซึม" (Early Infantile Autism) และได้จัดพิมพ์หนังสือในชื่อเดียวกันนี้ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๓ บรรยายอย่างละเอียด เกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กเหล่านั้น โดยเลือกเอาลักษณะพฤติกรรมที่สำคัญๆ มาใช้ในการวินิจฉัย ดังนี้
- การขาดความรู้สึกทางอารมณ์กับบุคคลอื่นอย่างรุนแรง
- กระทำซ้ำๆ ในสิ่งที่ตนเองชอบ
- ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำ ถ้าถูกเปลี่ยนแปลงจะแสดงความไม่พอใจอย่างมาก
- ไม่พูดเลย หรือมีการพูดที่ผิดปกติ
- มีความผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก
- มีความสามารถสูงเกี่ยวกับความจำ และทักษะในการใช้สายตา
- มีความยากลำบากในการเรียนรู้ทุกด้าน เนื่องจาก ขาดความเข้าใจ และความสนใจ
- อยู่ไม่นิ่ง

นายแพทย์ลีโอ แคนเนอร์ จิตแพทย์ชาวเยอรมัน
แคนเนอร์ย้ำว่า ภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือในช่วงอายุ ๓๐ เดือนแรก และกลุ่มอาการนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโรค ที่สามารถแยกออกจากภาวะ หรือโรคอื่นๆ ในเด็ก ในระยะแรก ผลงานของแคนเนอร์ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ต่อมาอีก ๑๐ ปี เริ่มมีผู้สนใจทำการศึกษาวิจัยในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ฮันส์ อัสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) จิตแพทย์ชาวออสเตรียได้พิมพ์บทความที่กล่าวถึงเด็กและวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมผิดปกติเป็นแบบเดียวกัน ให้ชื่อว่า "กลุ่มอาการอัสเพอร์เกอร์" โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ ความไร้เดียงสา แสดงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม แสดงความสนใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากจนเกินไป เช่น สนใจเรื่องตารางรถไฟจนจำได้ และพูดซ้ำๆ มีการพูดที่ชัดเจน ใช้ไวยากรณ์ถูกต้อง แต่ลักษณะการพูดเป็นแบบเสียงเดียวไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเสียงสูงเสียงต่ำ และพูดอย่างยืดยาว ในเรื่องที่ตนเองสนใจ จะพูดโดยไม่รับรู้ว่า มีใครฟังอยู่หรือไม่ ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้ การประสมประสานของกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวไม่ดี ระดับความสามารถทางสติปัญญาจัดอยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ย หรือระดับสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่มักมีความยุ่งยากลำบาก ในการเรียนรู้เป็นบางวิชา เนื่องจากมีความเข้าใจยาก ขาดสามัญสำนึก พ่อแม่และคนเลี้ยงจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ จนเด็กอายุ ๓ ปีแล้ว หรือจนกว่าเด็กเริ่มไปโรงเรียน อัสเพอร์เกอร์เชื่อว่า กลุ่มอาการนี้ แตกต่างจากออทิซึมของแคนเนอร์ ถึงแม้จะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน ผลงานของอัสเพอร์เกอร์เพิ่งเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายในระยะ ๑๐ - ๑๕ ปี มานี้เท่านั้น เนื่องจากเขาจัดพิมพ์บทความนี้ เป็นภาษาเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง จึงใช้เวลานานมาก กว่าจะเผยแพร่ออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้

พฤติกรรมการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำ
ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ สมาคมออทิสติกแห่งชาติ (National Autistic Society) ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรก ผลจากการทำงานของสมาคมนี้ ประกอบกับการช่วยเหลือของสื่อมวลชน ทำให้โรคออทิซึมเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่ง วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เรนแมน" ยิ่งทำให้บรรดาพ่อแม่ ครู และบุคลากรทางการแพทย์ เฝ้าระวังความผิดปกติของเด็ก เกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ มากขึ้น ทำให้เด็กได้รับการวินิจฉัยและความช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จิตแพทย์ เฮนรี มอดส์เลย์ (Henry Maudsley) พบเด็กที่มีพฤติกรรมผิดปกติและแปลกประหลาด ได้ให้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคจิตในวัยเด็ก ซึ่งก็ได้จัดโรคออทิซึมไว้ในกลุ่มนี้ด้วย จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ หลังจากแคนเนอร์ได้พิมพ์หนังสือชื่อว่า เออร์ลี อินแฟนไทล์ ออทิซึม แล้ว จิตแพทย์ให้ความสนใจเกี่ยวกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์มากขึ้น จิตแพทย์ในขณะนั้นมีความเชื่อว่า ออทิซึมเป็นปัญหาทางอารมณ์ มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จึงสร้างความไม่สบายใจให้แก่พ่อแม่ พ่อแม่รู้สึกว่า ไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และไม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ พ่อแม่จะรู้สึกสำนึกผิด ขาดความเชื่อมั่น ทำให้ไม่มีศักยภาพในการช่วยเหลือลูกต่อไป

วงการภาพยนตร์ของฮอลลีวูด นำเนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้ที่เป็นออทิสติก มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "เรนแมน"
ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ จิตแพทย์ไมเคิล รัตเทอร์ (Michael Rutter) และคณะ ได้ร่วมกันทำวิจัยจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่ได้ผลว่า พฤติกรรมที่ผิดปกติต่างๆ ที่เด็กออทิสติกแสดงออกมานั้น เป็นความผิดปกติของพัฒนาการ ที่สามารถเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงระยะแรกของวัยเด็ก สาเหตุมาจากความผิดปกติของหน้าที่ของสมองบางส่วน ไม่ใช่มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่สบายใจขึ้น ในปีเดียวกันนี้ จิตแพทย์บางท่านมีความเห็นว่า โรคออทิซึมนี้เป็นแบบหนึ่งของโรคจิตเภทในวัยเด็ก จนกระทั่งถึง ค.ศ. ๑๙๗๐ จิตแพทย์โคลวิน ชาวอิสราเอล และคณะ ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรคออทิซึม กับโรคจิตเภทในวัยเด็กอย่างชัดเจน