เล่มที่ 32
โรคออทิซึม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การบำบัดรักษาเด็กออทิสติก

            เนื่องจากยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุที่แน่นอนได้ว่า อะไรคือ สิ่งที่ทำให้เด็กออทิสติก มีความผิดปกติในหน้าที่ของสมองบางส่วน จึงยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากเด็กออทิสติกได้รับการดูแลบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังมีอายุน้อยๆ (ระหว่าง ๓ - ๕ ปี) เด็กส่วนหนึ่งจะสามารถเรียนรู้ได้ เช่นเดียวกับเด็กปกติทั่วไป จนถึงระดับปริญญา ทำงาน มีคู่ครอง มีความรับผิดชอบ และเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่อาจจะคงยังมีปัญหาบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น การปรับตัวในสังคม ความนึกคิด ความเข้าใจ และการแสดงออกทางอารมณ์ ติดตัวไปจนตลอดชีวิต เด็กออทิสติกบางส่วนอาจจะประกอบอาชีพได้ โดยมีผู้คอยดูแลแนะนำ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบช่วยเหลือใกล้ชิดตลอดไป เด็กออทิสติกเป็นคนมีจิตใจบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่รู้ทันคน บกพร่องในเรื่องสามัญสำนึก ปกป้องตัวเองไม่เป็น ถ้าเขาโชคดี ได้อยู่ในหมู่ของคนดี ช่วยสอนให้เรียนรู้แต่ในสิ่งที่ดี เขาก็จะเป็นคนดีได้ ฉะนั้น ผู้ที่ให้การช่วยเหลือเขาควรคำนึงถึงคุณสมบัติในข้อนี้ด้วย ส่วนการรักษา และการช่วยเหลือเด็กออทิสติกนั้น ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ระหว่างพ่อแม่ รวมทั้งเครือญาติ ของเด็กออทิสติก และกลุ่มผู้รักษา ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ครูแก้ไขการพูด ครูการศึกษาพิเศษ เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ได้บ้างแล้ว จึงขอความร่วมมือจากครูอาจารย์ เพื่อร่วมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเรียนรู้ ในด้านวิชาการต่อไป การให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผลการรักษา และการช่วยเหลือ ประสบความสำเร็จ ผู้รักษาไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร จึงจะทำให้เด็กออทิสติกดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การเจ็บป่วยทางกายของเด็ก รูปแบบของการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก อายุของเด็ก ที่เริ่มได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรค รวมทั้งโครงสร้าง และความผิดปกติซ้ำซ้อน ของตัวเด็กออทิสติกเองด้วย ควรตระหนักไว้ว่า ในระหว่างรับการรักษานั้น เด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรม ที่ผิดปกติเพิ่มขึ้น เมื่อเด็กอายุมากขึ้น จนเห็นได้อย่างชัดเจน เหมือนข้อชี้บ่งในการวินิจฉัย ฉะนั้น แพทย์ผู้ที่ให้การรักษาจึงต้องเฝ้าระวัง และช่วยปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมทุกช่วงอายุของเด็ก การบำบัดรักษาเด็กออทิสติก เป็นการรักษาตามอาการ โดยการกระตุ้นพัฒนาการที่ล่าช้าไม่สมวัย การปรับพฤติกรรม และอารมณ์ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย และการฝึกสอนด้านการเรียนรู้ ซึ่งมีการทำเป็นขั้นตอน ดังนี้


การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางกาย ด้วยการเล่นปูไต่

๑. การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

            เพื่อนำเด็กออกจากโลกของตนเองสู่สังคมในบ้าน

            ก. การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ประกอบด้วย

  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางผิวกาย เพื่อให้รับรู้ถึงความใกล้ชิดระหว่างบุคคล ผู้เขียนได้เคยดูงานวิจัยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้วิจัยใช้หนูขาวมาเป็นสัตว์ทดลอง จัดแบ่งลูกหนูที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มทดลอง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ทุกเช้า ผู้วิจัยจะนำหนูในกลุ่มทดลอง มาใส่ฝ่ามือทีละตัว แล้วใช้พู่กันที่มีความนุ่มมากๆ ลูบไล้ตามตัวหนู พบว่า หนูมีปฏิกิริยา และพฤติกรรม แสดงความพอใจ และเติบโตเร็วกว่ากลุ่มควบคุม เมื่อหนูเริ่มเดินได้ ผู้วิจัยแบมือในกรง หนูจะแย่งกันขึ้นมาบนมือทันที เมื่อครบกำหนด ผู้วิจัยได้นำสมองของหนูทั้ง ๒ กลุ่ม มาตรวจวิเคราะห์ดู ด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ เพื่อตรวจดูเซลล์ของสมอง ผลปรากฏว่า หนูกลุ่มทดลองที่ได้รับการลูบไล้ มีพัฒนาการทางสมองดีกว่ากลุ่มควบคุมมาก ท่านผู้อ่านคงเคยสังเกตสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ที่มีลูก มันจะลูบไล้ตัวลูก โดยการใช้ลิ้นเลียอยู่เสมอ ลูกที่ถูกเลียมาก จะเติบโต และฉลาดกว่าตัวอื่นๆ อย่างชัดเจน สำหรับเด็กปกตินั้น ก็ชอบให้พ่อแม่กอด และลูบไล้ตามตัวเช่นเดียวกัน การเล่นที่มีการสัมผัสทางผิวกายมากๆ เช่น การนวดตัว การอุ้ม การกอดรัดฟัดเหวี่ยง การเล่นปูไต่ การเล่นจั๊กจี้ด้วยมือ หรือการใช้จมูก หรือคาง ซุกไซ้ไปตามตัวเด็ก ทั้งหมดนี้จะทำให้บังเกิดความรัก ความอบอุ่น และความมีเยื่อใยซึ่งกันและกัน ซึ่งในเด็กออทิสติกนั้น จะแยกตัวจากบุคคล โดยสิ้นเชิง จึงควรดึงเขาเข้าหาเรา เป็นการสร้างสัมพันธภาพ ระหว่างพ่อแม่กับเด็กออทิสติกก่อน โดยการกระตุ้นต้องทำซ้ำๆ กันทุกวัน
  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตา เด็กออทิสติกเกือบทุกคนมีปัญหา ในการสบตาอย่างมาก เนื่องจาก มีการสูญเสียทางด้านสังคม และการสื่อความหมาย การกระตุ้นในระยะเริ่มแรกจะเน้นเฉพาะการมองสบตากับบุคคลก่อน
  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางหู เพื่อให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าของประสาทหู จะใช้เสียงบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก โดยให้กระซิบเรียกชื่อเด็กที่ข้างหู ต่อไปอาจใช้เสียงดนตรีช่วยบ้าง เพื่อกระตุ้นด้านการเรียนรู้ และการสื่อความหมาย
  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางจมูก เพื่อให้เด็กได้รับรู้ และเรียนรู้ความแตกต่าง จากกลิ่นของอาหาร ดอกไม้ และผลไม้ เริ่มจากอาหารที่เด็กชอบรับประทาน เช่น ไข่เจียว และบอกเด็กว่า "หอม - ไข่เจียว" หมูทอด ก็บอกเด็กว่า "หอม - หมูทอด" หรือ "หอม - ดอกมะลิ" "หอม - ดอกกุหลาบ"
  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางลิ้น เพื่อให้เด็กได้รับรู้ และเรียนรู้ความแตกต่าง จากรสของอาหารต่างๆ ที่เด็กสามารถรับประทานได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าเด็กกำลังดื่มน้ำหวาน จะพูดว่า "หวาน" ถ้ากำลังรับประทานผลไม้ ที่มีรสเปรี้ยว ก็จะพูดว่า เปรี้ยว หรือผู้ฝึกอาจจัดสิ่งที่มีรสแตกต่างกันมาสอนให้เด็กรับรู้ เช่น "น้ำตาล - หวาน" "มะนาว - เปรี้ยว" "เกลือ - เค็ม" โดยให้เด็กชิมทีละอย่าง จนเด็กสามารถบอกถึงรสเองได้


กิจกรรมการนวด เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทางกาย

            ข. การจับมือเด็กให้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง

            เด็กออทิสติกส่วนมาก เมื่อต้องการอะไร จะไม่สามารถชี้บอกถึงความต้องการนั้นได้ จึงใช้วิธีจับมือบุคคลที่อยู่ใกล้ ไปทำสิ่งนั้นแทน กิจกรรมนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องฝึกสอน โดยการพยายามจับมือเด็กให้ทำกิจกรรมที่ตัวเองต้องการได้ด้วยตนเอง เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้เด็กออทิสติก และช่วยลดปัญหาทางอารมณ์ด้วย


การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตา

            ค. การหันตามเสียงเรียก

            เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักชื่อของตนเอง ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อเด็ก โดยหันตามเสียงเรียก เป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านการสื่อความหมาย และช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลได้มากขึ้น


การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางหู

            ง. การสอนให้เด็กรู้จักตนเองและบุคคลในครอบครัว

            การสอนให้เด็กได้รับรู้ว่าตัวเองชื่ออะไร คนไหนคือ พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นการสอนให้เด็กได้รับรู้ และเข้าใจว่า บุคคลในครอบครัวมีความแตกต่างกัน ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ จากเด็กออทิสติกหลายคน ที่เมื่อเริ่มเรียกผู้เขียนว่า "ป้าหมอ" ได้ จะเรียกทุกคน ในโรงพยาบาล ทั้งหญิงและชายว่า "ป้าหมอ" ทั้งหมด จึงได้ความคิดนี้ เมื่อพาเด็กไปเที่ยวฟาร์มจระเข้ เด็กรับรู้ว่า "จระเข้" ทุกตัวเหมือนกัน "เสือ" ทุกตัวเหมือนกัน "ลิง" ทุกตัวเหมือนกัน ดังนั้น เขาจึงคิดว่า "คน" ทุกคนเหมือนกัน จึงต้องสอนให้เด็กรับรู้ และเรียนรู้ในความแตกต่างของบุคคล ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางการสื่อความหมาย และสังคม ระยะแรกนั่นเอง


การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางจมูก โดยการให้เด็กดมสบู่ เพื่อรับรู้ความแตกต่างของกลิ่น และบอกเด็กว่า "หอม - สบู่"

๒. การฝึกกิจวัตรประจำวัน

  • การสอนให้เด็กรู้จักของใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะเริ่มฝึกให้เด็กสามารถเรียนรู้ ในเรื่องการช่วยเหลือตัวเองได้ ในกิจวัตรประจำวันนั้น ควรให้เด็กได้รู้จักสิ่งของเครื่องใช้ ที่ต้องใช้ในกิจกรรมนั้นๆ ก่อน จนสามารถหยิบจับ หรือชี้สิ่งของแต่ละอย่างได้ถูกต้อง จึงจะสอนสาธิตวิธีการใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป
  • การทำความสะอาดร่างกาย ควรฝึกให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเอง ตามขั้นตอนทีละน้อย ในการแปรงฟัน การล้างหน้า การอาบน้ำ เด็กออทิสติกทุกคนจะรู้สึกภูมิใจ เมื่อสามารถทำได้ด้วยตนเอง
  • การฝึกการแต่งกาย ควรใช้เสื้อและกางเกงที่เป็นผ้ายืด ซึ่งจะทำให้เด็กทำตามด้วยตนเองได้ง่าย เพื่อเสริมแรงจูงใจให้เด็ก เป็นการเตรียมเด็กให้มีความพร้อม ที่จะเข้าโรงเรียนต่อไป เด็กออทิสติกส่วนใหญ่สามารถถอดเสื้อ และกางเกงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องฝึกสอน แต่ไม่สามารถสวมใส่เสื้อและกางเกงได้เอง
  • การฝึกใช้ช้อนรับประทานอาหาร เด็กออทิสติกส่วนมากชอบใช้มือ หยิบอาหารรับประทาน จึงควรสอนให้เด็ก สามารถใช้ช้อนตักอาหารรับประทานได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง
  • การฝึกการขับถ่าย ในเด็กปกติ มีความพร้อมที่จะรับการฝึกการขับถ่ายได้ เมื่ออายุระหว่าง ๒-๓ ปี แต่บางคนอาจจะมีความพร้อมก่อนอายุ ๒ ปี สำหรับเด็กออทิสติกมีความพร้อมที่จะรับการฝึกการขับถ่ายไม่เหมือนเด็กปกติ จึงใช้อายุเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เมื่อเริ่มฝึก ควรให้เลิกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพื่อที่จะได้ทราบว่า เด็กขับถ่ายมาเมื่อไร ให้เด็กได้สัมผัสกับความเปียก แล้วรีบเปลี่ยนกางเกงให้ทุกครั้ง และสังเกตว่า เด็กมักจะขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ ในเวลาใด แล้วนำมาฝึกเด็กในเวลาใกล้เคียงกัน พร้อมทั้งใช้คำง่ายๆ สอนเด็กคือ "ฉี่" และ "อึ" เด็กจะรับรู้ และเรียนรู้ได้ไม่เร็วเหมือนเด็กปกติ การฝึกการขับถ่ายนี้ เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมก่อนส่งเด็กเข้าเรียน


การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางลิ้น

๓. การเล่นและการรับรู้ทางอารมณ์

  • การเล่นของเล่น เด็กออทิสติกจะเล่นของเล่นไม่เป็น เนื่องจากการขาดจินตนาการ ทำให้เด็กหันเข้าหา และอยู่ในโลกของตนเอง เพราะไม่รู้สึกสนุกสนาน ในการเล่นของเล่นเหมือนเด็กปกติ เมื่อเด็กได้รับการฝึกให้เล่นของเล่นจนเป็นแล้ว จะเป็นการเชื่อมโยง ในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล การสื่อความหมายได้ง่ายขึ้น และปรับอารมณ์ให้ดีได้ด้วย
  • การสื่อสารโดยใช้ท่าทาง ในเด็กออทิสติกที่ยังไม่สามารถพูดได้ มักจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ จึงควรฝึกให้เด็กสามารถสื่อสารโดยใช้ท่าทางก่อน เพื่อเป็นการสื่อความหมายบอกถึงความต้องการของเด็กได้ ก่อนที่เด็กจะสามารถสื่อความหมายด้วยการพูด ซึ่งจะเป็นการนำทาง ให้เด็กสามารถพูดได้เร็วขึ้น
  • การรับรู้การแสดงอารมณ์ทางสีหน้า เด็กออทิสติกจะไม่สามารถอ่านจิตใจ และอารมณ์ของผู้อื่น จากการแสดงออกทางสีหน้าได้ เนื่องจาก ขาดกระบวนการทางความคิด ซึ่งเป็นนามธรรม จึงเห็นได้เสมอว่า เด็กออทิสติกจะหัวเราะ เมื่อเห็นแม่กำลังร้องไห้ แม้แต่เด็กออทิสติก ที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติแล้ว ยังหัวเราะเมื่อเห็นเพื่อนถูกครูทำโทษ จึงควรฝึกสอนแบบรูปธรรมให้เด็กได้รับรู้ถึงสีหน้าที่แสดงออกทางอารมณ์ ที่แตกต่างกัน เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมนอกบ้าน ได้อย่างเหมาะสม


การฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวลิ้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอนพูด

๔. อรรถบำบัด (Speech therapy)

            คือ การฝึกสอนให้เด็กสามารถเปล่งเสียงและพูดได้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ภาษา และสามารถสื่อสารได้ ซึ่งเป็นการบำบัดที่สำคัญมาก ผู้ฝึกต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแก้ไขการพูด


การฝึกให้หันตามเสียงเรียก เพื่อให้เด็กรู้จักชื่อของตนเอง

๕. พฤติกรรมบำบัด (Behavior therapy)

            คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผิดปกติและมีปัญหา ให้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับเด็กปกติทั่วไปได้ รู้จักปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ควรเป็นไปตามวัย รู้จักควบคุมอารมณ์


การสอนให้เด็กใช้เท้าเตะลูกบอล โดยการจับเท้าให้ทำ
๖. ดนตรีบำบัด (Musical therapy)

            คือ การใช้ดนตรีร่วมในการบำบัด เพื่อให้เด็กออทิสติกผ่อนคลายความรู้สึกกลัว กังวล กระตุ้นให้เด็กตอบสนองต่อการฟังเพิ่มขึ้น จนสามารถเปล่งเสียง และเคลื่อนไหวร่างกาย ตามจังหวะดนตรีที่ครูฝึกสอนให้ได้ ทั้งยังช่วยในด้านการสร้างสัมพันธภาพ ระหว่างบุคคล การสื่อสาร และสามารถลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้


การสอนให้เด็กรู้จักตนเอง

๗. การพัฒนาทักษะการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

            คือ การฝึกสอนให้เด็กออทิสติกสามารถควบคุมตนเองในการเคลื่อนไหวร่างกายให้ถูกต้อง และเหมาะสม


การฝึกให้เด็กรู้จักทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ใช้ช้อนตักอาหาร แปรงฟัน

๘. การทำ Neurofeedback โดยใช้เครื่องมือ Hemoencephalogram (HEG) ร่วมในการบำบัด

            โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์นำทางให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า เด็กสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้นั่งนิ่ง โดยมีสมาธิ และเกิดความตั้งใจได้ โดยดูจากกระบวนการป้อนกลับ (feedback) ที่เห็นทางจอคอมพิวเตอร์ เป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ในการบำบัดด้วยตนเอง


การฝึกการแต่งกาย โดยเริ่มจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่ายๆ ก่อน เช่น เสื้อยืด กางเกงผ้ายืด

๙. การเรียน

            เด็กออทิสติกที่มีความสามารถทางสติปัญญา (IQ) ที่อยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ย (๘๐ - ๑๐๐) และไม่มีปัญหาทางพฤติกรรม และอารมณ์ จะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ ในโรงเรียนทั่วไปได้ จนถึงระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เด็กออทิสติกที่มีความสามารถทางสติปัญญา อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (ต่ำกว่า ๗๐) ซึ่งมักพบปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ร่วมด้วย ควรได้รับการช่วยเหลือ โดยการเข้าเรียนแบบการศึกษาพิเศษในโรงเรียนทั่วไป โดยจัดหลักสูตรการเรียนให้เป็นรายบุคคล และเน้นทางวิชาชีพเป็นหลัก เด็กออทิสติกที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม และอารมณ์อย่างมาก และมีอาการปัญญาอ่อนร่วมด้วย ควรได้รับการบำบัดรักษา และฝึกการช่วยเหลือตนเอง ในกิจวัตรประจำวัน ฝึกการทำงานบ้านตามความสามารถของเด็ก


การฝึกให้เล่นของเล่นอย่างถูกวิธี

๑๐. การใช้ยา

            โรคออทิซึมยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ มีผู้ศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับการใช้วิตามินบี ๖ กับแมกนีเซียม เอนไซม์ ซีครีติน เฟนฟลูรามีน ยาต้านเศร้า ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนบางชนิด ฯลฯ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่นอนว่า ยาตัวใด สามารถรักษาเกี่ยวกับการบกพร่องทางด้านสังคม และการสื่อความหมายได้เลย จึงเป็นการใช้ยาตามอาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่น อาการอยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ อารมณ์หุนหันพลันแล่น พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมทำร้ายตนเอง การกระทำซ้ำซาก เพื่อจะฝึกสอนให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสังคม การสื่อความหมาย การฝึกพูด การทำพฤติกรรมบำบัดได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก สภาพร่างกายของคนแต่ละคน มีการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกายต่างกัน การตอบสนองต่อยาในเด็กแต่ละคน จึงแตกต่างกันด้วย เมื่อให้ยาชนิดเดียวกันกับเด็กคนหนึ่ง อาจมีอาการง่วงนอน แต่กับเด็กอีกคนหนึ่ง อาจไม่มีอาการง่วงนอนเลย ซึ่งต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการบริหารยาด้วย ในปัจจุบัน ยาที่มีผลข้างเคียงน้อย และใช้ได้ผลดีสำหรับเด็กออทิสติก ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ยาต้านเศร้า กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทซีโรโทนิน และยาต้านอาการโรคจิตประสาทกลุ่มใหม่


การฝึกสอนวิ่งซิกแซก และหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เพื่อให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้

            การฝึกเด็กออทิสติกให้ได้ผลดีนั้น ต้องมีความตั้งใจจริง อดทนฝึกซ้ำๆ โดยใช้ระยะเวลาไม่นานเกินไป และฝึกในขณะที่ทั้งเด็ก และผู้ฝึกสอน มีอารมณ์ผ่อนคลาย การฝึกไม่ควรเร่งรัด และต้องทำใจยอมรับด้วยว่า การฝึกเด็กออทิสติกนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และการตอบสนองได้ช้ากว่าเด็กปกติมาก แต่เมื่อเด็กออทิสติกสามารถที่จะกระทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้แล้ว จะไม่ลืม และช่วยเป็นแรงผลักดันของทั้งตัวเด็ก และผู้สอนไปพร้อมๆ กัน ควรระวังด้วยว่า การฝึกที่ใช้การบังคับ และฝึกมากจนเกินไป กลับเป็นผลเสียทำให้เด็กหงุดหงิด มีปัญหาทางอารมณ์ ไม่ยอมปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้ผู้สอนท้อแท้ และหมดกำลังใจได้ ทำให้การฝึกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การรักษาเด็กออทิสติกนั้น จะใช้วิธีการ หรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ควรใช้หลายๆ วิธีการ และกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานกันไป ใช้การฝึกแบบเลี้ยงเด็กโดยวิธีธรรมชาติมากที่สุด ควรให้เด็กได้รับอาหารอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับฝึกสอนการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้อง เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ได้แล้ว ควรฝึกสอนเกี่ยวกับทักษะในการดำรงชีวิตให้เด็กด้วย