ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคกลางลำน้ำเจ้าพระยา สะท้อนวัฒนธรรมที่งดงามของชาติ
วัตถุประสงค์ของการเห่เรือ
การเห่เรือในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ การให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมาก ในการพายเรือพระราชพิธี กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ให้พร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างาม และเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่เกี่ยวกับพระราชประเพณีดั้งเดิม ในการใช้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ ของพระมหากษัตริย์ไทย ให้คงอยู่สืบไป
การเห่เรือของคนไทยแต่โบราณน่าจะไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หรือศาสนาแต่ประการใด หากแต่เป็นไป เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือปลุกเร้าฝีพายให้มีกำลังฮึกเหิม ไม่เหน็ดเหนื่อยง่าย อันจะส่งผลให้เกิดพลังและกำลังใจ ในการยกกระบวนพยุหยาตรา เพื่อออกไปทำการรณรงค์สงคราม ป้องกันพระราชอาณาเขต ดังปรากฏหลักฐานในลิลิตยวนพ่าย ความว่า
"พระพุทธยามโยคล้วน ลางชย
พระพ่างพระไพกุณฐ์ เกลื่อนแกล้ว
พระเสด็จครรลยล่วง ชลมารค
ชลพ่าห์มากล้วนแล้ว แหล่หลาย ฯ "
.........................................
"สยงสโพนพิณพาทยก้อง กาหล
สยงสู่ศรีสารจยน จ่นนแจ้ว
สยงคณคนคฤม คฤโฆษ
ยงพวกพลกล้าแกล้ว โห่หรรษ์ ฯ"
นอกจากนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่า มีการเห่เรือในกระบวนทางชลมารค เพื่อความสำราญส่วนพระองค์ของเชื้อพระวงศ์ ตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป ดังบทเห่เรือที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพระนิพนธ์ขึ้น สำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์ เมื่อตามเสด็จไปยังพระพุทธบาท สระบุรี บทเห่เรือบรรยายการโดยเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาในตอนเช้า ถึงท่าเจ้าสนุก ในตอนเย็นพอดี