หลักฐาน การเห่เรือในประเทศไทย
แม้ว่าการเห่เรือจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศไว้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีลอยพระประทีปก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานว่า การเห่เรือน่าจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเท่าที่ ปรากฏหลักฐานแล้วเท่านั้น คือ
๑. สมัยอยุธยา
สมัยอยุธยาตอนต้นปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตยวนพ่ายซึ่งได้บรรยายถึงการยกกระบวนพยุหยาตราทัพของสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ ทั้งทางสถลมารค และชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะทางชลมารคได้พรรณนากระบวนทัพ ความว่า
"รายเรือแผด งคู่ถ้วน แถวคับ ค่งงแฮ
สยงสรางชิง ไชย ชื่นฝ้าย
เรือโยงแย่ง โยงตับ แต่งต่อ กนนแฮ
หลงงก่อนขวา ซ้ายซ้อง ซับกนน
เรือแห่เรือ แหนแหน แห่ห้อม
พิทยพิทน นแซ ชามาก
ทุกท่าทุกท่ง ล้อม หน่นนหนา ฯ"
นอกจากนั้น ยังมีความบางตอนที่แสดงลักษณะเสียงที่ปรากฏในกระบวนพยุหยาตราทัพเหมือน อย่างการเห่เรือ แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอยู่บ้างคือมีดนตรีจำพวกพิณพาทย์ เข้ามาประกอบด้วย ดูเหมือนกับการขับร้องประกอบดนตรี แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า เป็นลักษณะของการเห่เรือ คือ
"สยงสโพนพิณ พาทยก้อง กาหล
สยงสู่ศรีสาร จยน จ่นนแจ้ว
สยงคณคน คฤม คฤโฆษ
สยงพวก พลกล้าแกล้ว โห่ หรรษ์ ฯ"
สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารคอย่างสม่ำเสมอทุกรัชกาล ดังปรากฏหลักฐาน การบันทึกรายละเอียดไว้ชัดเจนในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่องกระบวนพยุห ยาตราเพชรพวง รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งบันทึกขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยบอกรายละเอียดว่าคัดมาจากฉบับของเก่าครั้ง พ.ศ. ๒๒๑๙ แม้จะไม่ได้บันทึกรายละเอียดปลีกย่อยแสดงการเห่เรือไว้เลยก็ตามแต่หาก เป็นกระบวนพยุหยาตราไปในการพระราชกุศล เหล่าทหารผู้แห่แหนย่อมมีความรื่นเริงเบิกบานใจในบุญกุศลที่ได้โดยเสด็จ ด้วยก็จะมีการเห่เรือ เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางเรืออย่างเอิกเกริก ไม่เพียงแต่เท่านั้น กระบวนพยุหยาตราทัพทางชลมารคครั้งไปตีเมืองเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ในกระบวนเรือ ทำหน้าที่ให้จังหวะสัญญาณในการพายเรือและเห่เรือด้วย ดังความว่า
บทเห่เรือ ตอนชมไม้ พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร จากต้นฉบับหนังสือสมุดไทยดำ
“...ยัง เกณฑ์ถือฟูกสำหรับตีเป็นสำคัญนั้นนั่งไปน่าเรือสอง ท้ายเรือสองเปนสี่คน สำหรับเป็นสัญญาณพายถวายลำ สำคัญเสียงฟูกเป็นสัญญาณเมื่อจะพายกรายก็ดี พายนกบินก็ดี จะเห่โห่ก็ดี มิว่าพายกรายพายไหว เมื่อได้ฤกษ์จะออกจากที่คนตีฟูกก็เยื้องทำท่าออกนั้นทีเป็นเพลงมา...”
นอกจากนั้นยังมีวรรณคดีสำคัญที่แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช คือ สมุทรโฆษคำฉันท์กล่าวถึงการละเล่นแข่งเรือพระที่นั่งว่า
“ถ้อยขึ้น ถ้องแขงมีมี่ ไชยเมื่อถึงที่ จะใกล้ที่แดนยอพาย”
คำประพันธ์นี้แสดงภาพชัดเจน สอดคล้องกับธรรมเนียมการเห่เรือใน ปัจจุบัน คือ เมื่อเรือเข้าถึงจุดหมาย ฝีพายจะโห่ร้องแสดงความยินดีว่า “ไชย...” ซึ่งเป็นลักษณะของการเห่เรือแบบ “สวะ เห่” ถือเป็นทำนองเห่สุดท้าย เป็นการส่งสัญญาณให้ฝีพายทราบว่า เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้จะต้องเก็บพายทันที วรรคสุดท้ายของสวะเห่มีเนื้อร้องว่า “ศรี ชัยแก้วพ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับว่า “ชัย แก้วพ่ออา”
บทเห่เรือที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาอีกบทหนึ่ง ที่นับเป็นบทเห่เรือที่ได้รับความนิยม นำมาใช้ในการเห่เรือพระราชพิธีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ บทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แต่ก็มีความที่ชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีการเห่เรือในยุคนั้นแล้ว คือ
“พลพาย กรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา”
อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมสมัยอยุธยาหลายเรื่องว่า มีการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี เสด็จประพาสต้อนรับราชทูตต่างประเทศ ตลอดจนประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นในรอบปี ได้แก่ พระราชพิธีอาศวยุธแข่งเรือ และพระราชพิธีไล่เรือ
๒. สมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีวรรณคดีที่ได้กล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารค คือ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง นิพนธ์โดยเจ้าพระยา พระคลัง (หน) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ แต่วรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ มิได้กล่าวถึงการเห่เรือเลย และแม้แต่หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ ๔ ก็มิได้กล่าวถึงเห่เรือกระบวนหลวงด้วยเช่นกัน
บทเห่ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จัดว่าเป็นยอดของบทเห่ คือ กาพย์ เห่ชมเครื่องคาวหวาน และว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทเห่เรือนี้ใช้สำหรับเห่เรือเสด็จประพาส
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทเห่เรือ ๔ บท ใช้เป็นบทเห่เรือเล่น และเห่เรือหลวง สืบทอดเป็นประเพณีต่อมา คือ นอกจากจะใช้สำหรับเห่ถวายเวลาเสด็จลอยพระประทีปแล้ว ยังนำมาใช้เห่กระบวนพยุหยาตราถวายผ้าพระกฐินด้วย จนกลายเป็นประเพณีพระราชพิธีสืบต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใช้ในพระราชพิธีด้วย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารคคราวฉลอง ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยใช้บทเห่เรือพระนิพนธ์ ในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่แต่งทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากนั้นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคก็ห่างหายไปนานถึง ๓๐ ปี เนื่องจากเป็นพระราชพิธีใหญ่และสิ้นเปลืองงบประมาณ ประกอบกับเรือพระราชพิธีหลายลำชำรุด และเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จวบจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นใหม่ ใช้บทเห่เรือของเก่าและที่แต่งขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ บทเห่เรือในปัจจุบันจึงมีหลายบท ซึ่งแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของบทเห่เรือได้เป็นอย่างดี